19 มีนาคม 2568 จากอุบัติเหตุ คานถล่มพระราม 2 โดยจุดเกิดเหตุอยู่ บริเวณโครงการก่อสร้างสะพานทางยกระดับ โครงการทางพิเศษสาย พระราม 3 - ดาวคะนอง เชื่อมต่อมาจากสะพานพระราม 10 ทางลง ถนนพระราม 2 ถนนจอมทอง - ราษฎร์บูรณะ เขตจอมทอง กทม. เส้นทางลัดไปประชาอุทิศ โดยเหตุคานถล่มครั้งนี้ มีผู้เสียชีวิต 6 ราย บาดเจ็บ 27 ราย เหตุเกิดเมื่อเวลา 01.30 น. วันที่ 15 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา นั้น
ล่าสุด วันนี้ ความคืบหน้าในการรื้อถอนโครงการและเศษปูน พบว่า ขณะนี้ เกินกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ โดยบนถนนฝั่งมุ่งหน้าขึ้นทางด่วนด่านดาวคะนอง เจ้าหน้าที่ได้เคลียร์เทปูนและเศษเหล็กออกจากทางสัญจรเกือบทั้งหมดแล้ว เหลือเพียงแต่เศษปูนบางส่วนที่ยังติดอยู่บนท้องถนน เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างเร่งเคลียร์พื้นที่ เพื่อเปิดทางสัญจรได้อย่างรวดเร็วที่สุด และตีเส้นจราจร พร้อมนำแท่งแบริเออร์มากันในส่วนที่ยังหรือโครงสร้างไม่เสร็จ
อีก 1 ปัญหาที่ยังคงทำให้ไม่สามารถเปิดทางสัญจรได้ คือโครงเหล็กรับน้ำหนัก บริเวณเสาตอม่อที่ขนานกับจุดเกิดเหตุ เป็นคานที่หล่อปูนเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงนำลงมา เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้รถใช้ถนน หลังเปิดทางให้สัญจร
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ลงพื้นที่ตรวจสอบการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ ช่วงเวลา 22.30 น วันที่ 18 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา เปิดเผยว่า การดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ตลอด 4 วันที่ผ่านมา การรื้อถอนอย่างต่อเนื่องส่งผลให้การดำเนินงานรื้อถอนในขณะนี้ มีความคืบหน้าไปมาก โดยเฉพาะถนนที่มุ่งหน้าขึ้นทางด่วนดาวคะนอง ก่อนเช้าวันที่ 19 มีนาคม 2568 และจะมีทางสภาวิศวกรรมแห่งประเทศไทย เข้ามาตรวจสอบความปลอดภัยในพื้นที่อีกครั้ง เพื่อความปลอดภัยก่อนเปิดให้ใช้ถนนมุ่งหน้าขึ้นทางด่วนดาวคะนอง ได้ ในเช้าวันที่ 20 มีนาคม 2568 เวลา 06.00 น. ถือว่าเร็วกว่ากำหนดที่ตั้งแผนดำเนินงานเอาไว้
ส่วนการซ่อมแซมทางยกระดับฝั่งขาออกที่ได้รับความเสียหาย จากการประเมินเบื้องต้นคาดว่า น่าจะเเล้วเสร็จก่อนกำหนดภายใน 30 วัน
พร้อมกันนี้ทางคณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริง จะเข้ามาตรวจสอบเพื่อหาสาเหตุการทรุดตัวของโครงสร้าง ยืนยันว่าหากพบว่าใครประมาททำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น การทางพิเศษเเห่งประเทศไทยจะดำเนินการเอาผิดอย่างแน่นอน
ส่วนการเยียวยา นายสุรเชษฐ์ เปิดเผยว่า ได้แบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือการเยียวยาประชาชน ที่จำเป็นต้องใช้ถนนช่วงทางขึ้นทางด่วนด่านดาวคะนอง
ที่เจ้าหน้าที่กำลังเร่งเปิดเส้นทางสัญจร และซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดให้ได้โดยเร็วที่สุด
อีกส่วนหนึ่งก็คือการเยียวยาผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ การทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้มีแผนการเยียวยาตามความเหมาะสม โดยผู้เสียชีวิตอาจจะได้รับเงินในการเยียวยาสูง 1 ล้านบาท
สำหรับ บทลงโทษผู้รับเหมา เบื้องต้นการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ได้สั่งให้งดดำเนินงานเป็นระยะเวลา 14 วัน จ่ายค่าปรับวันละ 16 ล้านบาท รวมเป็นเงินกว่า 100 ล้านบาท และหากคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงระบุถึงสาเหตุว่ามีการกระทำใด ๆ ที่ประมาทเลินเล่อทำให้เกิดเหตุในครั้งนี้ขึ้น ก็ต้องบังคับใช้กฎหมายเอาผิดอย่างถึงที่สุด