14 มีนาคม 2568 ผู้สื่อข่าว เนชั่นทีวี ลงพื้นที่จังหวัดเมียวดี เข้าพบ พันโทหน่าย หม่อง โซ โฆษกกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (บีจีเอฟ.) โดยวันนี้ (14 มี.ค.) ครบ 1 เดือน ที่ทางคณะกรรมการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ได้เข้ามาจัดการแก้ไขปัญหานี้
พันโทหน่าย หม่อง โซ โฆษกกองกำลังพิทักษ์ชายแดน กล่าวว่า ตัวเลข ณ วันที่ 14 มี.ค. 68 ได้ให้การช่วยเหลือชาวต่างประเทศ 30 ประเทศ ทั้งสิ้น 7,968 คน เป็นชาย 7,143 คน หญิง 550 คน จากการคัดกรองและสอบสวนพบว่า ร้อยละ 98 ตั้งใจมาทำงานไม่ได้ถูกหลอก โดยถือวีซ่าไทยส่วนใหญ่ใช้วิธีลักลอบเข้าทางเส้นทางธรรมชาติ และชาวต่างชาติที่ถูกควบคุมเป็นชาวจีนมากที่สุด รองมาเป็นชาวเวียดนาม และชาวอินโดนีเซีย
แม้ว่าจะมีการส่งกลับชาวต่างชาติ ทั้งจีน , อินเดีย , มาเลเซีย และอินโดนีเซีย กลับประเทศแล้ว แต่ก็ยังมีชาวต่างชาติตกค้างอีกกว่า 3,000 คน โดยในเร็วๆ นี้ จะมีการส่งมอบชาวจีน 6 คน ที่เป็นหัวหน้าแก็งคอลเซ็นเตอร์ให้กับทางการจีน และชาวญี่ปุ่น ที่ได้ควบคุมไว้อีก 1 คน ให้กับทางรัฐบาลญี่ปุ่นด้วย
โฆษกกองกำลังพิทักษ์ชายแดน กล่าวอีกว่า ตลอด 1 เดือน ได้ใช้งบประมาณในการดูแลชาวต่างชาติที่ควบคุมตัวไว้ จำนวนกว่า 70 ล้านบาท เป็นค่าอาหาร ค่าสร้างที่พักอาศัย สร้างห้องน้ำ และค่าซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงจากจังหวัดชั้นในของเมียนมา มาใช้ในการปั่นไฟฟ้า
"เนชั่นทีวี" ได้สอบถามว่า ใช้งบประมาณจากไหน ทางโฆษกกองกำลังพิทักษ์ชายแดนตอบว่า "เราใช้งบประมาณของทหารที่ดูแลกำลังพลกว่า 10,000 นาย มาบริหารจัดการในส่วนนี้ก่อน แต่หากว่ามีระยะที่ยาวนานกว่านี้อาจจะดูแลไม่ไหว ก็ต้องมีการผลักดันกลับประเทศ
โดยย้ำว่า "มาทางไหนต้องกลับทางนั้น" ซึ่งทางรัฐบาลเมียนมามีกฎหมายเอาผิดคนที่ลักลอบเข้าเมือง แต่ในกรณีนี้ มีนโยบายให้ผลักดันกลับประเทศเท่านั้น"
ดังนั้น ในฐานะที่เป็นผู้ดูแลชาวต่างชาติที่ตกค้างอยู่ จึงอยากวิงวอนให้สถานทูตของประเทศต่างๆ เร่งดำเนินการมารับพลเมืองกลับประเทศโดยเร็วที่สุด ซึ่งทางเรามีความพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในทุกๆ ด้าน
ทั้งนี้ หากถามว่า 1 เดือน ที่ปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์อย่างหนัก ได้ผลอย่างไร ทางกองกำลังพิทักษ์ชายแดน ยืนยันว่า ตอนนี้ปราบปรามได้ผลที่น่าพอใจ และพบว่าแทบจะทั้งหมด ต่างสมัครใจมาทำงานเอง มีเพียงส่วนน้อยที่ถูกหลอกลวงมา และเท่าที่ดูจากการส่งกลับประเทศ บุคคลเหล่านี้กลับแสดงว่า ตกเป็นเหยื่อ
เนชั่นทีวี ได้ลงพื้นที่ไปยังจุดควบคุมชาวต่างขาติที่โรงแรม Aung Zabu Linn พบว่า ทั้งหมดอาศัยรวมตัวกันอยู่ใต้อาคารชั้นเดียวอย่างแออัด มีเจ้าหน้าที่ทหารบีจีเอฟควบคุม ทางเข้าออก นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการตั้งโรงครัวไว้ปรุงอาหารวันละ 3 มื้อ และช่วงนี้จะต้องมีช่วงเวลาพิเศษในการปรุงอาหาร ให้กับผู้ถือศีลอดในช่วงรอมดอมด้วย ซึ่งเฉลี่ยแแต่ละคนจะมีค่าใช้จ่ายอาหาร 200 บาท ต่อคน
และปัญหาที่ทางโฆษกกองกำลังพิทักษ์ชายแดน หนักใจมากที่สุด คือ ความปลอดภัยของชาวต่างประเทศ เนื่องจากหลายคนมีความเครียดที่ถูกควบคุมตัว บางครั้งจะมีการทะเลาะวิวาทกัน ทำให้ต้องเพิ่มมาตรการความปลอดภัย โดยตอนนี้ในช่วงแจกอาหารจะงดแจกตะเกียบ ช้อน ส้อม ให้กับชาวต่างชาติเหล่านี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ใช้เป็นอาวุธ และมีความปลอดภัยในระหว่างที่ถูกควบคุมตัวไว้
ทังนี้ กองกำลังพิทักษ์ชายแดน อยากขอให้ทางการไทยพิจารณาทบทวนมาตรการ 3 ตัดอีกครั้ง เพราะตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568 เป็นต้นมา ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง ทั้งการดำรงชีวิตในประจำวัน ระบบสาธารณสุข การค้าขาย และการเกษตร โดยการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก และอยากให้ไตรภาคีร่วมถอดบทเรียนในครั้งนี้ด้วย
แหล่งข่าวชาวเวียดนามคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า ตนเองอยากหางานทำ และเจอโฆษณาในเฟซบุ๊กชักชวนมาทำงานที่ไทย ว่ามีรายได้ดี เมื่อเดินทางมาถึงถูกยึดพาสปอร์ตทั้งหมด ต้องทำงานมากว่า 1 ปี วันนี้ได้รับการช่วยเหลือ และรอวันที่จะได้กลับบ้าน
ข่าว :สกาวรัตน์ ศิริมา
ภาพ :จักรินทร์ นมนาน