svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

"ทวี" รับทราบแล้ว แม่ผู้ต้องขังคุกเขาบิน ร้อง DSI สอบ ปมลูกถูกผู้คุมทำร้าย

"ทวี" รับทราบแล้ว กรณีแม่ผู้ต้องขัง "เรือนจำเขาบิน" ร้อง DSI สอบ ปมลูกชายถูกผู้คุมทำร้าย หวั่นซ้ำรอย "ผกก.โจ้" เชื่อเป็นโอกาสดีที่จะต้องตรวจสอบ เพราะมีคนร้องเยอะ ย้ำจุดมุ่งหมายในระบบราชการ ต้องมีความโปร่งใส ประชาชนตรวจสอบได้

12 มีนาคม 2568 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยถึงกรณีที่มีญาติไปร้องกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ หลังลูกชายติดคุกเรือนจำกลางเขาบิน จ.ราชบุรี ในคดียาเสพติด ถูกผู้คุมทำร้าย-กลั่นแกล้ง ให้อดข้าว งดให้พบญาติ-ทนาย โดยแม่มีหลักฐานเป็นจดหมาย จึงนำไปมอบให้กับดีเอสไอ เพราะหวั่นซ้ำรอยกับ "อดีตผู้กำกับโจ้" ว่า ทราบว่าเคยมีเหตุการณ์ในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา วันนี้มีคนมาร้องเยอะหลังเกิดเหตุ ถือเป็นโอกาสดีที่เราจะต้องมีการให้ตรวจสอบ ซึ่งในจุดมุ่งหมายของตน ในระบบราชการต้องมีความโปร่งใส ให้ประชาชนตรวจสอบได้ ถ้ามีเหตุการณ์หรือกรณีต่างๆ ก็จะต้องทำการสอบสวน เพราะว่าเรือนจำฯ เป็นสถานที่เพื่อพัฒนาให้ผู้ต้องขังกลับสู่สังคม และเรากับผู้ต้องราชทัณฑ์ ก็มีความผูกพันที่ดีต่อกัน

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อเวลาประมาณ 09.30 น.ของวันนี้ นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร ประธานมูลนิธิรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม พร้อม นางเอ (นามสมมติ) อายุ 52 ปี และ น.ส.บี (นามสมมติ) อายุ 32 ปี ซึ่งเป็นคุณแม่และพี่สาวของ นายซี (นามสมมติ) อายุ 30 ปี นักโทษชายเรือนจำกลางเขาบิน จ.ราชบุรี เดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนพร้อมกับเอกสารพยานหลักฐานต่าง ๆ ต่อ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรณี ลูกชายซึ่งเป็นผู้ต้องขังในคดียาเสพติด โทษพิพากษาล่าสุดรวม 35 ปี ได้ถูกผู้คุมของเรือนจำทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บ เกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมตามกฏหมายและกลัวจะซ้ำรอยกับ "อดีตผู้กำกับโจ้" โดยมี นายสมเกียรติ เพชรประดับ ผอ.ส่วนพิจารณาสำนวนร้องทุกข์ กองบริหารคดีพิเศษ เป็นผู้แทนรับเรื่อง
 

นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร ประธานมูลนิธิรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม เปิดเผยว่า วันนี้ได้มีกรณีการร้องเรียนที่ผู้คุมเรือนจำแห่งหนึ่งได้ทำร้ายผู้ต้องขัง ซึ่งทางผู้ต้องขังได้ติดต่อให้ทางญาติดำเนินการเอาเรื่องให้เป็นไปตามกฏหมาย เป็นไปตามหลักของสิทธิมนุษยชน และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 หรือ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ รวมไปถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง 

ก่อนหน้านี้ทางญาติได้มีการร้องเรียนไปยังเรือนจำต้นสังกัดแล้ว แต่ไม่มีความชัดเจนและไม่มีความคืบหน้า อีกทั้งเมื่อปรากฏข่าวของ อดีตผู้กำกับโจ้ ที่ได้เสียชีวิตภายในเรือนจำด้วยสาเหตุแปลก ๆ ซึ่งลูกของเขาก็ถูกแยกขังเดี่ยวถูกลงโทษอยู่เหมือนกัน ทั้งลูกของเขาจึงได้มีการจัดทำจดหมายน้อยออกมา 1 ฉบับ เพื่อขอความช่วยเหลือมายังญาติของเขา 

"เราจึงมีความประสงค์ ขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษช่วยตรวจสอบเรื่องดังกล่าว ตามกฎหมายอุ้มหาย เพราะถ้าหากดีเอสไอจะสอบสวนคดีของคดีอดีตผู้กำกับโจ้ก็อยากให้ท่านปฏิบัติกับนักโทษที่ให้ญาติมาติดต่อร้องเรียนเหมือนกันกับทุกคนด้วย เพื่อให้มันเกิดความโปร่งใส"

ทั้งนี้ ตนยังไม่ได้บอกว่า เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์มีความผิดแต่อย่างใด แต่เมื่อมันมีการร้องเรียนก็ต้องมีการตรวจสอบและต้องมีคำอธิบายได้ และการตรวจสอบที่ว่าคงไม่ใช่ให้ญาติไปดู แต่ต้องให้เจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ความสามารถให้เข้าไปตรวจสอบและอธิบายญาติ ซึ่งมันเป็นหลักการทั่วไปในแง่ของการถ่วงดุลการใช้อำนาจของแต่ละหน่วยงาน ถ้ามันมีคนถูกกระทำอยู่ในหน่วยงานของท่าน มันก็ต้องให้หน่วยงานภายนอกได้เข้าไปตรวจสอบใช่หรือไม่ แล้วถ้าเรื่องนี้หากยังไม่มีความกระจ่างก็คงจะต้องขยับขึ้นไปถึงหน่วยที่สูงขึ้นไปอีก และที่เราเอามาพูดในวันนี้ก็เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เราต้องมีสิทธิ์สามารถเข้าถึงข้อมูล และตรวจสอบความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังได้

นายรณณรงค์ เผยอีกว่า แม้ผู้ต้องขังจะกระทำความผิดตามกฏหมายก็จริง แต่ก็ไม่ได้มีสิทธิ์ไปซ้อมทรมานเขาเช่นนั้น นอกจากจดหมายน้อยของผู้ต้องขังแล้ว ยังมีเรื่องของเอกสารใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าถูกทำร้ายร่างกาย แต่ก็มีเท่าที่สามารถหาได้ เนื่องจากเรือนจำเป็นพื้นที่พิเศษ ไม่ใช่พื้นที่ปกติ ขนาดวานนี้ (11 มี.ค.) ตำรวจได้เข้าไปในเรือนจำฯ ยังพูดเองเลยว่าเข้าไปในเรือนจำก็ยังไม่ได้ เห็นสภาพศพของอดีตผู้กำกับโจ้ แล้วถ้าวันข้างหน้าเกิดลูกของญาติคนนี้ เกิดเหตุการณ์ขึ้นเหมือนกับอดีตผู้กำกับโจ้ คำตอบจะเหมือนกันหรือไม่ ถ้าคำตอบเหมือนกันก็ต้องตรวจสอบให้เกิดความกระจ่าง อย่าทำให้หน่วยงานเป็นเหมือนแดนสนธยา อย่าทำให้ประชาชนตั้งข้อสงสัย

นายรณณรงค์ เผยต่อว่า ยังมีอีกกรณีหนึ่งที่ญาติติดใจสาเหตุการเสียชีวิตภายในเรือนจำที่เดียวกันนี้ ถึงแม้ทางราชทัณฑ์ กับ ผบ.เรือนจำฯ จะเคยออกมาให้ข่าวชี้แจงกรณีนี้แล้ว แต่เราก็จะให้ทางญาติเข้าให้ข้อมูลกับทางดีเอสไอ เพื่อให้ตรวจสอบเรื่องที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความกระจ่างว่าภายในเรือนจำไม่มีการซ้อมทรมาน