18 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ร่วมด้วยตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) นำโดย พล.ต.ต.อธิป พงษ์ศิวาภัย ผบก.ปอท. พ.ต.อ.สุพจน์ พุ่มแหยม ผกก.2 บก.ปอท. พ.ต.ท.นิธิ ตรีสุวรรณ รองผกก.2 บก.ปอท. และ พ.ต.ท.ณัฐวุฒิ มงคลการ สว.กก.2 บก.ปอท. ร่วมแถลงผลทลายเครือข่ายขบวนการฟอกเงินจีนเทา
จับกุมผู้ต้องหารวม 10 คน ประกอบด้วย น.ส.อัจฉรา อายุ 27 ปี จับกุมได้ที่ คอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งย่านสุทธิสาร แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ , MR.GAO อายุ 35 ปี จับกุมได้ที่ คอนโดแห่งหนึ่ งย่านห้วยขวาง กรุงเทพฯ , MR.XIONG อายุ 30 ปี จับกุมได้ที่ คอนโดย่านพระราม 9 เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ , MR.MAO อายุ 46 ปี จับกุมได้ที่ ห้องพักแห่งหนึ่งย่านไนท์ซาฟารี ต.หนองควาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ , MRS.ZHOU อายุ 44 ปี จับกุม ได้ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ต.สันผีเสื้อ อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่
น.ส.พรทิพย์ฯ อายุ 44 ปี จับกุมได้ที่ บ้านแห่งหนึ่ง อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี , นายนพวิทย์ อายุ 31 ปี จับกุมได้ที่ บ้านแห่งหนึ่ง อ.เมือง จ.สระแก้ว , นายชลธี อายุ 21 ปี จับกุมได้ที่หน้าหมู่บ้านแห่งหนึ่ง อ.เมือง จ.สมุทรสาคร , น.ส.ปัณฑารีย์ อายุ 26 ปี จับกุมได้ที่บ้านแห่งหนึ่งใน อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช และ น.ส.สุภาวดี อายุ 39 ปี จับกุมได้ที่ หน้าบ้านแห่งหนึ่งใน อ.ลาดใหญ่ จ.สมุทรสงคราม
ดำเนินคดีฐาน ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน , ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น , ร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน , สมคบโดยการตกลงตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน , ร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันเป็นอั้งยี่”
พฤติการณ์ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แก๊งคอลเซ็นเตอร์มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการในการหลอกลวงเหยื่อมาโดยตลอด โดยส่วนใหญ่จะอาศัยพฤติกรรมของเหยื่อในการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย เช่น การซื้อขายของออนไลน์ การเช่าที่พัก รวมไปถึงการหางานหรือรายได้พิเศษ ในปัจจุบันพบว่ามิจฉาชีพ ได้เลือกใช้กลวิธีในการ หลอกลวงเหยื่อในรูปแบบของการหางาน หรือหารายได้พิเศษทางช่องทางออนไลน์ อาศัยการทำงานที่ง่ายและได้เงินได้ทันที ทำให้เหยื่อเกิดความหลงเชื่อ สนใจเข้าร่วมทำงาน ก่อนจะหลอกลวงเหยื่อให้โอนเงินให้กับกลุ่มมิจฉาชีพ
โดยเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีผู้เสียหายต้องการหางานทำ เพื่อหารายได้พิเศษพบโพสต์ประกาศหางานในสื่อโซเชียลมีเดีย เป็นการทำงานพิเศษเสริมรายได้ โดยเป็นการรับสินค้าไปแพ็คที่บ้าน ต่อมาผู้เสียหายเกิดความสนใจจึงได้ติดต่อพูดคุย โดยในช่วงแรกคนร้ายได้ชักชวนให้ทำงานพิเศษในรูปแบบออนไลน์ โดยเป็นงานกดไลค์ กดเพิ่มยอดติดตามต่างๆ เมื่อผู้เสียหายได้ทดลองทำงานดังกล่าวปรากฏว่า ได้เงินจากการทำงานจริง เป็นจำนวนหลายครั้ง
จากนั้นคนร้ายจึงเริ่มชักชวนให้ผู้เสียหายทำกิจกรรมพิเศษต่างๆ โดยกิจกรรมดังกล่าวผู้เสียหายจะต้องนำเงินมาลงทุนก่อน จากนั้นจึงจะได้รับผลตอบแทนจากการทำงานตามเงินลงทุนที่ลงทุนไป โดยมีผลตอบแทนประมาณ 30%-50%
ภายหลัง ผู้เสียหายหลงเชื่อนำเงินไปร่วมลงทุน ในช่วงแรกมีการให้ผลตอบแทนในการลงทุนจริง จากนั้นคนร้ายได้หลอกลวงให้ผู้เสียหายนำเงินไปลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งภายหลังผู้เสียหายไม่สามารถถอนเงินออกมาจากระบบได้ โดยคนร้ายให้เหตุผลว่าเป็นความผิดของผู้เสียหาย อ้างว่าไม่ทำตามขั้นตอนที่กำหนด ภายหลังผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกหลอกลวง จึงได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับพนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปอท.
เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.2 บก.ปอท. ได้สืบสวน โดยพบว่าทำเป็นขบวนการ มีผู้ร่วมขบวนการทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ มีการรับโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารต่างๆ ก่อนจะแลกเปลี่ยนเป็นเงินสดถอนออกจากบัญชี จากการสืบสวนเบื้องต้นพบว่ามีผู้เสียหายที่ถูกหลอกในลักษณะเดียวกันอีกประมาณ 60 ราย มูลความเสียหายกว่า 10 ล้านบาท
ภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้รวบรวมพยานหลักฐานยื่นคำร้องขอออกหมายจับต่อศาลอาญา โดยออกหมายจับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจำนวน 32 ราย แบ่งเป็นกลุ่มบัญชีม้าคนไทย จำนวน 10 ราย , กลุ่มขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ชาวจีน 2 ราย , กลุ่มขบวนการที่มีการฟอกเงิน จำนวน 20 ราย (ชาวไทย 1 ราย, ชาวจีน 14 ราย , ชาวเกาหลี 5 ราย)
ต่อมาในห้วงวันที่ 11-14 กุมภาพันธ์ 2568 เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอท. จึงได้สนธิกำลัง ร่วมด้วย บก.ป., บก.ปคบ., บก.ปคม. และ บก.ทล. เปิดปฏิบัติการ “ทลายแก๊งฟอกเงินมังกรเทา” โดยเข้าตรวจค้นจับกุม กลุ่มผู้ร่วมขบวนการการกระทำความผิดดังกล่าว เข้าตรวจค้นจำนวน 20 จุด 8 จังหวัด ทั่วประเทศไทย
แบ่งเป็นพื้นที่กรุงเทพฯ 7 จุด, เชียงใหม่ 5 จุด , สมุทรปราการ 3 จุด , สระแก้ว 1 จุด , ปราจีนบุรีจำนวน 1 จุด , นครศรีธรรมราช 1 จุด , สมุทรสาคร 1 จุด และ สมุทรสงคราม 1 จุด สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้จำนวน 10 ราย ได้แก่ สมาชิกแก๊งฟอกเงินให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในประเทศไทย 5 ราย และเจ้าของบัญชีม้าที่ใช้ในการกระทำความผิด จำนวน 5 ราย
พร้อมตรวจยึดของกลางและทรัพย์สินต่างๆ รวม 210 รายการ เช่น คอมพิวเตอร์ , โทรศัพท์มือถือ , สมุดบัญชี , รถยนต์ /รถจักรยานยนต์ , เงินสด , โฉนดที่ดินบ้าน/คอนโด , นาฬิกาหรู , กระเป๋าแบรนด์เนมและทรัพย์สินมีค่าต่างๆ รวมมูลค่ากว่า 14 ล้านบาท นำส่งพนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปอท. เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย
ทั้งนี้ ในการปฏิบัติการครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าทำการตรวจค้นอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเชื่อว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ดังกล่าวได้ทำการฟอกเงินซื้อทรัพย์สิน และอสังหาริมทรัพย์ โดยเป็นบ้านหรูและคอนโดหรู ทรัพย์สินมีค่า เช่น นาฬิกาหรู กระเป๋าแบรนด์เนม เครื่องประดับ มูลค่ารวมทั้งหมดกว่า 440 ล้านบาท
จากการการสอบถามผู้ต้องหาเบื้องต้น ผู้ต้องหาลำดับที่ 1 เป็นตัวการฟอกเงินในประเทศไทย ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา แต่ให้การรับในข้อเท็จจริง ว่า ก่อนหน้านี้เมื่อประมาณปี 2562 เคยทำหน้าที่เป็นล่ามและไกด์พาเที่ยวให้กับชาวจีน ต่อมาเมื่อประมาณปี 2566 รู้จักกับแฟนหนุ่มชาวจีน และได้ร่วมกันรับเหรียญดิจิทัลจากลูกค้ากลุ่มจีนเทาต่างๆ ที่ต้องการใช้เงินในประเทศไทย จากนั้นได้นำเหรียญดิจิทัลมาขายและนำมาแลกเปลี่ยนเป็นเงินไทย นำส่งให้กับกลุ่มจีนเทาตามคำสั่ง โดยจะได้ค่าบริการ 0.03% - 0.05% ของยอดเงิน
โดยขั้นตอนการทำงานแต่ละครั้งแฟนหนุ่มของผู้ต้องหาที่ 1 จะติดต่อกับกลุ่มจีนเทาต่างๆ จากนั้นผู้ต้องหาที่ 1 และคนในแก๊งจะรับเหรียญดิจิทัลมาจากลูกค้าแล้วนำเหรียญดิจิทัลมาขายออกในรูปแบบ p2p ผ่านแพลฟอร์ม EXCHANGE โดยผู้ต้องหาจะส่งเงินตามคำสั่งของกลุ่มจีนเทา
ในกรณีถ้ายอดเงินมีจำนวนไม่มาก ผู้ต้องหาที่ 1 และแฟนหนุ่มชาวจีน จะใช้วิธีการโอนเงินผ่านบัญชีของตนเองไปให้กับลูกค้า แต่หากในกรณีเงินที่ต้องส่งให้กับลูกค้าจำนวนมาก ผู้ต้องหาที่ 1 จะเบิกเงินสด แล้วนำไปส่งมอบให้กับลูกค้าตามสถานที่นัดหมายหรือนำเงินสดฝากเข้าบัญชีต่างๆ ตามคำสั่งของกลุ่มจีนเทา เนื่องจากกลุ่มจีนเทามีความต้องการเงินที่ได้จากการกระทำความผิดไปใช้จ่ายในประเทศไทย
โดยผู้ต้องหาที่ 1 และแฟนหนุ่มชาวจีน ได้ร่วมกันกับพวกฟอกเงินให้กับกลุ่มจีนเทามาตั้งแต่ปี 2566 ถึงปัจจุบัน
จากการตรวจสอบ เส้นทางการเงินของแก๊งพบว่ามีการรับเงินดิจิทัลสกุล USDT จำนวนประมาณ 187 ล้านเหรียญUSDT (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 6,500 ล้านบาท) มีการถอนเงินสดเป็นเงินไทยประมาณ 2,900 ล้านบาท และยังมีการนำเงินที่ได้จากการกระทำความผิดไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ซึ่งอยู่ระหว่างตรวจสอบและดำเนินการทางกฎหมายต่อไป
ในส่วนของผู้ต้องหาลำดับที่ 2-5 เป็นผู้ต้องหาชาวจีน ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยให้การว่ามีส่วนร่วมกับผู้ต้องหาที่ 1 และกลุ่มคนจีนคนอื่นๆ ในการรับเหรียญดิจิทัลมาจากกลุ่มจีนเทามาเทขายเหรียญ ก่อนที่จะนำเงินสดไปส่งมอบให้กับลูกค้าชาวจีนตามจุดนัดหมายต่างๆ โดยกลุ่มคนจีนมีการแบ่งหน้าที่กันทำงาน มีทั้งการถอนเงินสดที่สาขา การนำส่งเงินสดตามที่ลูกค้านัดหมายตามสถานที่ต่างๆ ในประเทศไทย
โดยในคดีนี้นอกจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจพบความเกี่ยวข้องของเส้นทางการเงินที่มีการไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ต่างๆ แล้ว ยังพบว่ามีพฤติการณ์ก่อตั้งบริษัทที่ให้คนไทยมาเป็นนอมินีในการจัดตั้งเพื่อมารับโอนกรรมสิทธิ์บ้าน ภายหลังการโอนกรรมสิทธิ์จะเปลี่ยนกรรมการผู้มีอำนาจเป็นคนจีน ซึ่งบริษัทที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อโอนกรรมสิทธิ์บ้านเหล่านี้ ส่วนใหญ่ไม่ได้มีการดำเนินธุรกิจจริง ขณะนี้อยู่ระหว่างการสืบสวนขยายผลเพิ่มเติมในการตรวจยึดอสังหาริมทรัพย์และดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
เบื้องต้นพบว่ามีเงินไหลเข้าไปบริษัทอสังหาริมทรัพย์ประมาณ 10 บริษัท ในย่านบางนา เอกมัย และฝั่งธน ใช้นอมินีสัญชาติไทย แต่กรรมการเป็นคนจีน