17 กุมภาพันธ์ 2568 พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมตัวแทนจาก สถานเอกอัครราชทูต 18 ประเทศ และตัวแทนจาก 2 หน่วยงาน ร่วมกันประชุมหารือป้องกันการค้ามนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมข้ามชาติและอาชญากรรมทางออนไลน์
พล.ต.อ.ธัชชัย เปิดเผยถึงขั้นตอนการคัดกรองผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือถูกปล่อยตัวกลับมาจากประเทศเมียนมาล็อตแรก 260 คน ว่า ทั้งหมดกำลังเข้าสู่กระบวนการคัดกรองเพื่อแยกระหว่างผู้เสียหายและกลุ่มมิจฉาชีพ โดยใช้แบบสอบถามและขั้นตอนของกลไกการส่งต่อระดับชาติ หรือ NRM จะทราบผลภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันรับตัวมา
จากนั้นเมื่อคัดแยกผู้เสียหายได้แล้ว จะประสานสถานเอกอัครราชทูตของแต่ละประเทศในการรับตัวกลับทันที โดยจะใช้สนามบิน อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นจุดส่งตัวกลับ และขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีประเทศใดไม่มีความประสงค์จะรับตัวประชากรกลับ
ส่วนผู้ที่จะถูกส่งตัวกลับมาเพิ่มเติมคาดว่ามีประมาณ 10,000 คน ขณะนี้ทางการไทยอยู่ระหว่างการเจรจา ให้ขั้นตอน NRM เกิดขึ้นในประเทศเมียนมา เนื่องจากเป็นประเทศต้นทางที่เกิดเหตุ
ส่วนผู้ที่จะถูกส่งตัวกลับมาอีกประมาณ 500 คน ภายในสัปดาห์นี้ ทางการไทยอยู่ระหว่างการเจรจาให้ทำแบบคัดกรอง NRM ที่ฝั่งประเทศเมียนมาเช่นกัน
จเรตำรวจแห่งชาติ ยืนยันว่า ประเทศไทยเป็นเพียงตัวกลางในการประสานให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายเท่านั้น โดยผู้ที่ผ่านการคัดกรองและยืนยันว่ามีสถานะเป็นผู้เสียหาย หากมีความประสงค์จะดำเนินคดี ต้องไปแจ้งความดำเนินคดีที่ประเทศเมียนมา
ส่วนข่าวที่ทางการเอธิโอเปียจะลอยแพไม่รับคนของประเทศตัวเองกว่า 100 คน กลับประเทศนั้น พล.ต.อ.ธัชชัย กล่าวว่า ยังไม่รับรายงานกรณีดังกล่าว
นอกจากนี้ในที่ประชุมได้แจ้งผลการความคืบหน้าการคดี ซิงซิง นักแสดงชาวจีน ถูกหลอกไปทำงานแก๊งคอลเซนเตอร์ ว่า สามารถจับกุมชาวจีนที่เกี่ยวข้องได้ 10 คน และได้ส่งตัวให้ทางการจีนไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม การประชุมในครั้งนี้ได้มีการเชิญตัวแทนประเทศต่างๆทั้งหมด 23 ประเทศ แต่มาร่วมประชุม 18 ประเทศ โดยไม่พบว่ามีตัวแทนประเทศเมียนมาและกัมพูชา ต้นต่อฐานของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แต่อย่างใด