เมื่อวันที่ 6 ก.พ.2568 ที่ห้องพิจารณาคดี 303 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เมื่อเวลา 09.40 น. วันที่ 6 ก.พ. ศาลอ่านคำพิพากษาคดีที่ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด เป็นโจทก์ ฟ้อง ศาสตราจารย์กิตติคุณ พิรงรอง รามสูต กรรมการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นจำเลย ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
กรณีจำเลยออกหนังสือแจ้งไปยังบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ในฐานะผู้ให้บริการแอปฯ "ทรูไอดี" หรือ "TrueID" ได้นำสัญญาณมาถ่ายทอดในแพลตฟอร์ม แอปฯ ทรูไอดี ของตนเอง ต่อมาคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ ได้พิจารณาและเสนอความเห็นในเรื่องดังกล่าว และ สำนักงาน กสทช. ได้ออกหนังสือแจ้งไปยัง บริษัท ทรู ดิจิทัล โจทก์เป็นผู้ทำผิดกฎหมาย อาจส่งผลให้ผู้รับอนุญาตอาจระงับเนื้อหารายการต่าง ๆ ที่บริษัทส่งไปออกอากาศ ส่อแสดงเจตนากลั่นแกล้งให้ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ได้รับความเสียหาย
ในวันนี้ มีรองศาสตราจารย์ ดร.ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินทางมาให้กำลังใจศาสตราจารย์กิตติคุณพิรงรองโดยได้เข้ามอบดอกไม้และสวมกอดเพื่อให้กำลังใจพร้อมกล่าวว่า พวกเราเชื่อมั่นในตัวอาจารย์ และขอบพระคุณอาจารย์ที่เสียสละตัวเองเพื่อพวกเราทุกคน
ศาสตราจารย์กิตติคุณพิรงรอง เดินทางมาถึงศาลฯ เปิดเผยว่า ก็ต้องทำใจเพราะการมาฟังคำพิพากษาต้องทำใจไว้บ้าง ส่วนตัวยอมรับว่ามีความกังวลอยู่แล้วสำหรับการขึ้นฟังคำพิพากษาครั้งนี้ แม้ผลจะเป็นอย่างไรนั้นยืนยันว่าต้องน้อมรับคำพิพากษา ยืนยันว่าทำตามหน้าที่ทำตามกระบวนการโดยสุจริตอยู่แล้ว
เมื่อถามว่าในฐานะที่ทำหน้าที่ กสทช. มีอะไรที่ยังเสียดายและยังไม่ได้ทำหรือไม่
ศาสตราจารย์กิตติคุณพิรงรอง ระบุว่า มีเรื่องค้าง อยู่หลายเรื่องเช่นประกาศ สนับสนุนกิจการ ที่ขยายไปถึงโทรทัศน์ชุมชน ซึ่งเรื่องนี้ต้องสนับสนุนพี่น้องที่ทำสื่อชุมชน เพราะเรียกได้ว่ามีหลากหลายกลุ่มที่ยิ่งชายขอบที่เรายังไปไม่ถึงตรงนี้มีแต่สื่อส่วนกลางและมีแต่สื่อกระแสหลักสื่อชุมชนไม่มี รวมทั้งเรื่อง OTT ที่เชื่อมโยงกับ พรฎ.ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ในมาตรา 5 ซึ่งเชื่อมโยงแล้วว่าหากมีกฎหมายเฉพาะต้องดูแลให้ไปถึง ซึ่งเรามีแพลตฟอร์มในนานาประเทศ
สมัยก่อนเรามองว่าตรงนี้อำนาจไปไม่ถึง ซึ่งหากมองรอบกาย มีแนวทางในการกำกับดูแลแต่อาจไม่เหมือนกับการดูแลโทรทัศน์ หรือกิจการแพร่ภาพและกระจายเสียงดั้งเดิม ซึ่งเรามีลักษณะที่ยืดหยุ่นกว่า โดย อนุกรรมการดิจิตอลแพลตฟอร์ร่างเสร็จแล้ว แต่ไม่ได้รับการตอบสนองให้ไปต่อซึ่งค้างมาเป็นระยะเวลาปีกว่าแล้ว
ทั้งนี้ ยังมีเรื่องสนับสนุนเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งร่างประกาศนี้เพิ่งผ่านบอร์ดไปยังไม่ได้บรรจุอยู่ในราชกิจจานุเบกษาซึ่งขณะนี้รออยู่
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องประกาศรวมกลุ่มให้องค์กรวิชาชีพสื่อสามารถรวมกลุ่มกัน สามารถอยู่บนมาตรฐานจริยธรรม และมีคณะกรรมการมาตรฐานจริยธรรมได้ ซึ่งตรงนี้จะเป็นการดูแลกำกับกันเอง พวกเราทุกคนคงรู้เพราะอยู่ในกิจการสื่อ ว่าตอนนี้แค่จะอยู่รอดไปวันๆในเศรษฐกิจก็ยากแล้ว แล้วมาคาดหวังว่าคนโน้นคนนี้ให้ทำตามจริยธรรม มองว่าบางอย่างเราต้องสนับสนุนกัน ดังนั้นต้องสนับสนุนให้เกิดเนื้อหาที่ดีต่อสังคม
เมื่อถามว่ากรณีดังกล่าวสื่อต้องวางตัวอย่างไรนั้น
ศาสตราจารย์กิตติคุณพิรงรอง กล่าวก่อนขึ้นไปฟังคำตัดสิน ระบุว่า ตอนนี้ขออย่าพึ่งพูดเลย เพราะมันเชื่อมโยงกับคำตัดสิน
ขณะที่ ดร.ปรีดา คณบดีคณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าในฐานะอาจารย์ นิเทศศาสตร์ ระบุว่า ส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่งเป็นเรื่องของสังคม แล้วเป็นเรื่องที่ประชาชนทุกคนต้องเฝ้าจับตามอง อยู่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นและทิศทางจากนี้ไปมองว่าไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไรมันกระทบกับทุกคนในสังคมทั้งหมด
ทั้งนี้ มองว่าแต่ละฝ่ายไม่ว่าจะเป็นสื่อ นักวิชาการหรือว่า กสทช.เอง ล้วนบทบาทหน้าที่ของตัวเองและต่างทำหน้าที่ของตัวเองเดี๋ยวเรารอดูคำตัดสินกันว่าจะเป็นอย่างไร
ในเวลาต่อมา ศาลได้อ่านคำพิพากษา โดยศาลพิเคราะห์จากการไต่สวนโจทก์และจำเลยข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นบริษัทนิติบุคคล ประกอบกิจการเชื่อมต่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภทผ่านอินเตอร์เน็ต โดย แอปฯ ทรูไอดี ให้บริการเมื่อปี 2559 ผ่านอินเตอร์เน็ตโดยมีลักษณะเป็น OTT คือการโหลดแอปฯผ่านอินเตอร์เน็ต ที่ไม่มีการจัดการโครงข่ายเป็นการเฉพาะ ซึ่ง กสทช.ไม่เคยกำหนดให้ แอปพลิเคชัน ดังกล่าวต้องขอใบอนุญาตจาก กสทช.แต่อย่างใด แตกต่างกับการส่งโครงข่ายผ่านเคเบิ้ล ที่ต้องมีกล่องรับสัญญาณ จึงต้องขออนุญาตจาก กสทช.ให้เผยแพร่เป็นลักษณะ TPTV การให้บริการ OTT จึงไม่ได้อยู่ในการบังคับการประกอบกิจการของ กสทช.
ส่วนจำเลยเป็นกรรมการ กสทช. มีหน้าที่กำหนดจัดสรรคลื่นความถี่ กำหนดลักษณะกิจการโทรทัศน์ จำเลยเป็นประธานคณะอนุกรรมการด้านกิจการโทรทัศน์ ในการอนุญาตการประกอบกิจการโทรทัศน์ จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จากการประชุมคณะอนุกรรมการ กสทช.ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2566 จำเลยเป็นประธานการประชุม มีหัวข้อการประชุมเรื่องการแพร่ภาพผ่านอินเตอร์เน็ตใน แอปฯ ทรูไอดี ที่ประชุมเห็นว่าปัจจุบันมีการประกอบกิจการลักษณะ OTT จำนวนมาก หากเอาแต่ แอปฯ ทรู ไอดี มาพิจารณาเพียงรายเดียว อาจจะมีการยกมาเป็นข้อกล่าวอ้างได้ จึงมีมติให้ศึกษาแนวทางการเผยแพร่ของ แอปฯ ทรู ไอดี ให้รอบคอบครอบ ครอบคลุมและมีหนังสือแจ้งตามประกาศข้อ 23 ของ กสทช. แสดงให้เห็นว่าการประชุมของ กสทช.ยังไม่ได้สรุปว่า แอปฯ ทรู ไอดี ต้องขอใบอนุญาตหรือไม่
อย่างไรและให้การศึกษาเรื่องผลกระทบจาก OTT ก่อน โดยในการประชุมครั้งที่ 4 จำเลยได้มีการตำหนิที่ทำหนังสือไม่ได้เจาะจงชื่อของ แอปฯ ทรูไอดี ของโจทก์ จึงให้มีการแก้ไข ทั้งที่การประชุมในครั้งที่ 4 ไม่ได้มีมติดังกล่าวแต่อย่างใดเป็นการทำเอกสารเป็นเท็จที่จำเลยทราบดี และจำเลยได้มีมติรับรองการประชุมเท็จดังกล่าว
พยานหลักฐานรับฟังได้มั่นคงว่า จำเลยเป็นผู้สั่งการใช้มีการจัดทำบันทึกให้รองเลขาธิการ กสทช. ลงนามในหนังสือดังกล่าวว่า โจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้เข้าใจว่าโจทก์เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ จำเลยมีหน้าที่นำเสนอต่อกรรมการ กสทช.ต่อไป แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามหน้าที่จากข้อความที่ว่า
"วิธีการที่เราต้อง enforce เรื่องนี้ มัส แครี่ มีเงื่อนไขท้ายใบอนุญาตจาก กสทช. เท่านั้นเมื่อ true ID ไม่ได้รับอนุญาต มันเหมือนว่าเคลียร์คัท คุณตั้งเป็น OTT คุณทำผิดเงื่อนไขใบอนุญาตสิทธิ์มัสแครี คุณไปทำผิดกฎหมายมันทำไม่ได้ คุณต้องพิจารณาว่า จะมาเข้าสู่ระบบหรือไม่ เมื่อคุณปล่อยให้เนื้อหาเอาไปออกในที่ไม่ควรออก"
ข้อความดังกล่าวอนุมานได้ว่า ผู้ประกอบการจะวิตกกังวล มัส แครี นำช่องฟรีทีวีไปออกอากาศในช่องที่ไม่ได้รับอนุญาตเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ เป็นการใช้หน้าที่ฝ่าฝืนกฎหมายชัดแจ้ง ดังนั้นแนวทางที่จำเลยดำเนินการมีคำว่า "ตลบหลัง" หรือ"ล้มยักษ์" สื่อความหมายชัดเจนว่าจำเลยประสงค์ให้กิจการของโจทก์เสียหาย ทั้งที่มีผู้ท้วงแล้ว แต่แทนที่จำเลยจะปฏิบัติตามด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม แต่กลับใช้อำนาจในการกลั่นแกล้งโจทก์ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
ที่จำเลยต่อสู้ว่า ไม่มีสิทธิ์ไปโน้มน้าว ไม่ได้สั่งการเร่งรัดให้เจ้าหน้าที่ กสทช.ทำหนังสือ ไม่ได้แก้รายงานการประชุม ไม่ได้พูด "ตลบหลัง" หรือ "ล้มยักษ์" เป็นการเปรียบเปรย ไม่ได้มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ เห็นว่า เป็นการต่อสู้ลอย ๆพยานหลักฐานไม่มีน้ำหนักให้หักล้างพยานหลักฐานโจทก์
พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ลงโทษจำคุกเป็นเวลา 2 ปี
ต่อมาเวลา 11.30 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตปล่อยชั่วคราว ศาสตราจารย์กิตติคุณพิรงรอง โดยภายหลังได้รับการปล่อยชั่วคราว ศาสตราจารย์กิตติคุณพิรงรอง เดินทางลงจากบันไดศาลมีสีหน้าเศร้า โดยนักข่าวพยายามเข้าไปสัมภาษณ์ถึงประเด็นที่ศาลลงโทษ เเละกระเเสข่าวการถูกกดดันให้ล่ออก เเต่ทางผู้ติดตามได้พาขึ้นรถกลับโดยระบุว่า ขอไม่ให้สัมภาษณ์เนื่องจากให้สัมภาษณ์ไปช่วงเช้าเเล้ว