svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

ปธ.ศาลฎีกา เปิดการใช้งานบริการรับคำร้องแจ้งคำสั่งในคดีคุ้มครองสวัสดิภาพ เด็กเเละครอบครัว

"อโนชา" ประธานศาลฎีกา เปิดการใช้งานบริการรับคำร้องแจ้งคำสั่งในคดีคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กเเละครอบครัวทางอิเล็กทรอนิกส์ ในศาลเยาวชนฯทั่วประเทศ "เผดิม" อธ.ศาลเยาวชนฯกลางขานรับนโยบาย จ่อพัฒนาระบบคุ้มครอง 24 ชม.สร้างทางลัดอำนวยความยุติธรรม

12 กันยายน 2567 ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ถ.กำแพงเพชร นางอโนชา ชีวิตโสภณ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานในพิธีเปิดระบบบริการรับคำร้องขอและการแจ้งคำสั่งในคดีคุ้มครองสวัสดิภาพทางอิเล็กทรอนิกส์ ในศาลเยาวชนและครอบครัวทั่วประเทศ

นางอโนชา ประธานศาลฎีกา ได้กล่าวถึงความสำคัญของการคุ้มครองสวัสดิภาพผู้ถูกกระทำด้วยความ รุนแรงในครอบครัว และเด็กในกรณีที่มีการปฏิบัติต่อเด็กโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงต่อเด็กมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น หลายครั้งมีความรุนแรงถึงชีวิต หัวใจสำคัญของการ คุ้มครองสวัสดิภาพคือความรวดเร็วในการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้เสียหาย

สำนักงานศาลยุติธรรมจึงได้พัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเพิ่มช่องทางการยื่นคำร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพในศาลเยาวชนและครอบครัว โดยจัดทำคำร้องขอในลักษณะแบบฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ (e-Form) ผ่านระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรม (CIOS) ให้ประชาชนสามารถยื่นคำร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ว่าจะผ่านทางคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้การคุ้มครองความปลอดภัยของผู้เสียหายเป็นไปอย่างรวดเร็วและทันท่วงที โดยประชาชนสามารถดำเนินคดีได้ด้วยตนเองตลอดทั้งกระบวนการ นอกจากนี้สำนักงานศาลยุติธรรมยังได้พัฒนาระบบการแจ้งคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพทางอิเล็กทรอนิกส์ให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการตามคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพได้ทันที โดยได้ประสานความร่วมมือภัยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทยกระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานคร ในการแจ้งคำสั่งศาลและรับรายงานการติดตามกำกับการปฏิบัติตามคำสั่งศาลทางระบบ CIOS

นางอโนชา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการจัดโครงการนั้น เมื่อตรวจสอบข้อมูล จากการสำรวจข้อเท็จจริงการก่อความรุนแรงในครอบครัวของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์แล้ว ปรากฏถึงกรณีมีผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ประจำปีงบประมาณ ปี 2567 รอบ 6 เดือน ระหว่างเดือน ต.ค.2566-มี.ค.2567 ทั้งสิ้น 1,296 ราย 

ข้อมูลเหล่านี้ ส่วนใหญ่มิได้เกิดจากเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย  แจ้งเหตุเพื่อขอคำปรึกษาต่อหน่วยงานด้วยตนเอง แต่ได้จากเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สอบทานข้อเท็จจริงแต่ละครอบครัว ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ปัจจุบันนี้ จึงยังเกิดขึ้นซ้ำซากยาวนาน ฝังรากลึกลงในสังคมไทย จนมิอาจถอนขึ้นได้โดยง่าย และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ สถาบันครอบครัวซึ่งควรเป็นที่พึ่งพิง และปลอดภัยที่สุด กลับเป็นแหล่งกระตุ้นก่อให้เกิดความรุนแรง นำมาซึ่งการกระทำความผิดกฎหมายทั้งต่อคู่สมรส บุตร และสมาชิกในครอบครัวหลายรูปแบบ ดังคำกล่าวที่ว่า "บุคคลใกล้ตัวอันตรายที่สุด" ศาลเยาวชนและครอบครัวหนึ่งในสถาบันหลักของกระบวนการยุติธรรม ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เยียวยาความสัมพันธ์ครอบครัว ที่แตกร้าวจากความรุนแรงในครอบครัว ให้แปรเปลี่ยนเป็นครอบครัวที่เข้มแข็ง เปี่ยมล้นด้วยความสุข ทำให้บุคคลใกล้ตัวที่ถูกครหาว่า อันตรายที่สุดนี้ ได้ตระหนักรู้ถึงหน้าที่ของตนเอง ที่ต้องเป็นเสาหลักของครอบครัวที่ดี มีความรับผิดชอบ และพร้อมโอบกอดสมาชิกในครอบครัวด้วยความอบอุ่นอยู่เสมอ

การที่สำนักงานศาลยุติธรรมพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเพิ่มช่องทางการยื่นคำร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพในศาลเยาวชนและครอบครัว โดยจัดทำคำร้องขอลักษณะแบบฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ระบบ  E-Form (อี–ฟอร์ม) ผ่านระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรม หรือระบบ CIOS  (ซี-ออส) ให้ประชาชนยื่นคำร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพได้ทุกที่ ทุกเวลา เพื่อให้การคุ้มครองความปลอดภัยแก่ผู้เสียหายเป็นไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงพัฒนาระบบการแจ้งคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการตามคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพได้โดยเร็ว และทันท่วงทีนั้น นับเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญ ที่ช่วยขับเคลื่อนภารกิจของศาลเยาวชนและครอบครัว         

ซึ่งมุ่งมั่นแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ให้ประสบผลสำเร็จได้ในระดับหนึ่ง อีกทั้ง ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงบทบาทศาลยุติธรรมจากเชิงรับอย่างเดียวให้มีมิติเชิงรุกด้วย โดยทลายกรอบแนวคิดเดิมๆ ที่ประชาชนจะเป็นฝ่ายเดินทางมาขอความเป็นธรรมจากศาล ให้ศาลเป็นฝ่ายนำพาความสะดวก กับความเป็นธรรมไปมอบให้ประชาชน นอกจากนี้ จากสถิติข้อมูลของกรมกิจการสตรี และสถาบันครอบครัวข้างต้น ชี้ให้เห็นว่า ผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวมักหวาดกลัวและปกปิดความรุนแรงที่เกิดขึ้นไว้กับตัวเอง เสมือนซุกปัญหาไว้ใต้พรม ซึ่งการเพิ่มช่องทางเลือกให้เหยื่อผู้เคราะห์ร้าย มีสิทธิแจ้งเรื่องราวต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกที่ ทุกเวลา ย่อมส่งผลให้ผู้ถูกกระทำความรุนแรงมีความกล้าที่จะยืนหยัดปกป้องสิทธิของตนเอง และพร้อมส่งเสียงร้องขอความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น ทำให้ผลงาน กับนโยบายประธานศาลฎีกา 2566-2567 ที่เน้นอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน โดยให้ประชาชน เป็นศูนย์กลางของการทำงานนี้ สร้างภาพทรงจำใหม่ให้แก่สังคมว่า ศาลยุติธรรมพร้อมเป็นที่พึ่งแรกให้แก่ประชาชนอย่างแท้จริง

ปธ.ศาลฎีกา เปิดการใช้งานบริการรับคำร้องแจ้งคำสั่งในคดีคุ้มครองสวัสดิภาพ เด็กเเละครอบครัว
ด้าน นายเผดิม เพ็ชรกูล อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เปิดเผยว่า เรื่องความรุนแรงในครอบครัวมักจะมีปัญหาอุปสรรคว่าในการตัดสินใจดำเนินคดีกับคนในครอบครัวที่ก่อความรุนแรงหรือไม่ ดังนั้นระบบการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพจึงมีสองระบบเป็นระบบที่มีการดำเนินคดีอาญาควบคู่กันและมีการขอคุ้มครองสวัสดิภาพกับระบบที่มีการขอคุ้มครองสวัสดิภาพอย่างเดียวจากแต่ก่อนที่ต้อง เดินทางมายื่นคำร้องต่อศาล ตอนนี้ได้มีระบบทางอิเล็กทรอนิกส์แล้วทำให้ผู้ที่ต้องการยื่นคำร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพสามารถใช้ระบบยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลเยาวชนและครอบครัวในเขตพื้นที่ของตนได้ ศาลเยาวชนที่รับคำร้องมีสองรูปแบบรูปแบบแรกคือไต่สวนธรรมดาคือนัดไต่สวนปกติและอีกแบบคือการนัดไต่สวนฉุกเฉินซึ่งจะสามารถทำการไต่สวนออนไลน์เมื่อศาลมีการไต่สวนและคำสั่งแล้วจะมีการเชื่อมระบบแจ้งคำสั่งแก่พนักงานสอบสวนทางอิเล็คทรอนิก ทั้งนี้คำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพจะมีประสิทธิภาพต้องมีการบังคับใช้คำสั่งอย่างรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ เราจึงได้มีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างศาลเยาวชนและครอบครัวกับหน่วยงานที่รับผิดชอบเช่นกระทรวงมหาดไทยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พนักงานสอบสวน มีการประสานกับ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวง พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เพื่อมีการบังคับใช้ตามคำสั่งอย่างครบวงจร รวดเร็ว เนื่องจากทั้งสองหน่วยงานนี้จะมีบ้านพักฉุกเฉินของสตรีและเด็กเราสามารถนำตัวผู้ถูกกระทำความรุนแรงเข้าไปอยู่ในความดูแลของ พม.ได้นำตัวจำเลยส่งไปบำบัดเลิกยาเสพติดกับ สธ. ได้

ปธ.ศาลฎีกา เปิดการใช้งานบริการรับคำร้องแจ้งคำสั่งในคดีคุ้มครองสวัสดิภาพ เด็กเเละครอบครัว
เมื่อถามถึงการยื่นเรื่องออนไลน์ต่างกับไต่สวนปกติอย่างไร นายเผดิม กรณีไต่สวนตามปกติผู้ร้องต้องเดินทางมาที่ศาลและศาลจะต้องนัดไต่สวนคำร้องส่งสำเนาคำร้องให้อีกฝ่ายซึ่งใช้ระยะเวลาพอสมควรเหตุความรุนแรงในครอบครัวบางครั้งก็เป็นเหตุเชิงวิกฤตถูกคุกคามถูกทำร้ายร่างกายการที่จะเดินทางมาศาลนั้นย่อมไม่สะดวกดังนั้นการลดขั้นตอนลดระยะเวลาของผู้ร้องถ้าใช้ระบบออนไลน์จากที่บ้านได้ทันทีประหยัดเวลาประหยัดค่าใช้จ่าย และคำสั่งจากการยื่นคำร้องก็ส่งคำสั่งได้อย่างรวดเร็วไปยังผู้บังคับใช้หรือตำรวจเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองทันที

คำสั่งที่ออก ที่ออกยกตัวอย่างเช่น หากสามีทำร้ายร่างกายภรรยา อาจจะออกคำสั่งห้ามให้สามีเข้าไปในเขตเคหสถานที่อยู่อาศัยของภรรยาห้ามสามีเข้าไปในที่ทำงานของภรรยากำหนดระยะห่างในการที่จะเข้าพบภรรยาและลูกต้องเว้นระยะห่าง 50 เมตร 30 เมตรเป็นต้นตลอดจนกรณีต้องส่งบำบัดอาการทางจิตหรืออาการอื่นๆของผู้กระทำความรุนแรงเราสามารถบังคับใช้ให้ส่งผู้กระทำผิดไปบำบัดได้ทันที 

กรณีเด็กเชื่อมจิตนั้น ถ้ามีการยื่นคำร้องออนไลน์แล้วก็คงจะมีการดำเนินการรวดเร็วขึ้น เพราะตัวผู้ร้องตามปกตินั้นต้องหาทนายความมาทำคำฟ้องยื่นคำร้องทำให้กระบวนการค่อนข้างใช้ระยะเวลากว่าศาลจะนัดพร้อมตัดยื่นคำร้องถ้าเป็นนัดทางอิเล็กทรอนิกส์สามารถนั่งอยู่ที่บ้านเข้าสู่ระบบยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลทันที สามารถประสานคำสั่งทุกฝ่ายขั้นตอนจะง่ายกว่าเพราะใช้ระบบได้เองไม่ต้องพึ่งพาทนายความจะได้ไม่เสียค่าใช้จ่าย เรามีเจ้าหน้าที่ศูนย์อธิบายสิทธิของผู้ร้องและแนะนำการใช้งาน 

ความแตกต่างจากการแจ้งตำรวจกับระบบดังกล่าว นายเผดิม กล่าวว่า หากเราใช้ระบบแจ้งความดำเนินคดีเราประสงค์จะแจ้งความนั้นเราต้องเดินทางไปสถานีตำรวจแจ้งเรื่องที่เกิดขึ้นกับตำรวจตำรวจก็ต้องเดินทางมาที่ศาลเพื่อมายื่นคำร้องต่อศาลทั้งที่อาจต้องติดต่อผ่านพนักงานอัยการและพนักงานอัยการเป็นคนยื่นคำร้องต่อศาลดังนั้นขั้นตอนกว่าจะมาถึงศาลนั้นต้องใช้เวลานานมาก ถ้าใช้ระบบออนไลน์ตามที่เรานำเสนอในวันนี้บุคคลที่ได้รับความเสียหายสามารถยื่นคำร้องต่อศาลได้ทันทีประสิทธิภาพความไวของการับเรื่อง กาา ออกคำสั่งจะรวดเร็วกว่าระบบปกติ โดยทั่วไปหากไม่ฉุกเฉิน ศาลรับคำร้องสำเนาแล้ว จำต้องส่งให้ฝ่ายถูกกล่าวหา คาดว่าไม่ต่ำกว่า 20 วันหากส่งหมายให้จำเลยได้ หากติดหมายไม่ได้ แต่ถ้ายื่นออนไลน์ กรณีฉุกเฉินสามารถมีคำสั่งภายในครึ่งวัน

เมื่อถามถึงบุคลากรของศาลเยาวชนฯหลังเปิดให้ยื่นคำร้องออนไลน์ นายเผดิม กล่าวว่า ในแต่ละวันมีผู้พิพากษาเวรออกคำสั่งอยู่แล้ว เราจะใช้ท่านผู้พิพากษาเหล่านี้ เป็นการเพิ่มภาระงานให้ ต่อไปจะมีเป้าหมายพัฒนาระบบให้คุ้มครอง 24 ชม. เป็นการปฏิบัติหน้าที่นอกเวลาราชการ จะต้องคำนวนอัตรากำลัง หากเราจะออกคำสั่งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพจำเป็นผู้พิพากษาศาลครบองค์คณะคือ 2 คน ถ้าออกเวรตามปกติออกหมายจับหมายค้นนายเดียวได้ ดังนั้นในอนาคตคงต้องมีการเพิ่มคนมากขึ้น