5 กันยายน 2567 ที่กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รอง ผบช.ก. กล่าวถึงความคืบหน้าการขยายผลคดี เจ้าหน้าที่กรมทางหลวงเรียกเก็บส่วยรถบรรทุกว่า ยอดเงินหมุนเวียนที่ตรวจสอบพบในผู้ต้องหากลุ่มแรก ค่อนข้างมีจำนวนมาก แตกเป็นหลายเส้นหลายกลุ่ม สิ่งที่ต้องขยายผลตามต่อคือ ต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่า เงินไปถึงใคร มีบุคคลอื่นในระดับใหญ่กว่าเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่
“จากการสอบปากคำกลุ่มผู้ต้องหาชุดแรกที่จับมา ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดีเป็นอย่างมาก ทำให้เราได้บัญชีม้าเพิ่มเติมขึ้นมาอีก 3-4 บัญชี รวมถึงทราบตัวบุคคลสำคัญที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้อง อยู่ระหว่างสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานให้แน่ชัด เพื่อขออำนาจศาลออกหมายจับ เชื่อว่าปฏิบัติการดังกล่าวน่าจะมี EP.2 เกิดขึ้นตามมาอย่างแน่นอน”
รายงานข่าวแจ้งว่า จากแนวทางสืบสวนของชุดคลี่คลายคดีทราบว่า เจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจด่านชั่งของกรมทางหลวงแต่ละชุด ที่มีพฤติกรรมทุจริตรับส่วยรถบรรทุก จะมีพลเรือนที่ทำหน้าที่เป็น “หน้าเสื่อ” หรือ คนคอยประสานงานกับกลุ่มผู้ประกอบการแต่ละเครือข่าย
สอดคล้องกับคำให้การของ นายธงชัย ที่ยอมรับว่า เคยมีผู้ประกอบการที่อยู่ในความดูแลของตนเองบางราย ติดต่อให้ช่วยเป็นตัวกลาง ประสานจ่ายเงินส่วยให้กับหน้าเสื่อชุดเฉพาะกิจด่านชั่งกรมทางหลวงชุดอื่น เพื่อขอเคลียร์เส้นทางอื่นๆ อีกทั้งจากการตรวจสอบเส้นทางการเงินบัญชีม้า ที่นายธงชัยเป็นคนถือ ก็พบว่า มีการโอนเงินไปยังบัญชีม้าต้องสงสัยว่า เป็นของเจ้าหน้าที่ชุดอื่นๆอีก 3-4 บัญชี ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบขยายผล
รายงานแจ้งอีกว่า อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในระยะหลังกลุ่มผู้ต้องหาจะพยายามใช้วิธีการผ่องถ่ายเงิน จากการโอนเงินจากบัญชีม้า ไปยังบัญชีส่วนตัว ในรูปแบบการกดถอนฝากเงินสด เพื่อให้ยากต่อการตรวจสอบ ในส่วนนี้เจ้าหน้าที่ชุดคลี่คลายคดี ก็ไม่ได้หนักใจ เพราะมีพยานบุคคลและหลักฐานข้อมูลการฝากถอนเงินสด รวมไปถึงภาพจากกล้องวงจรปิด ที่บันทึกภาพได้ครบถ้วนหมดแล้ว จึงทำให้รู้แน่ชัดว่าเงินเหล่านี้จะถูกส่งไปที่ใคร
นอกจากนี้จากแนวทางสืบสวนยังทราบพบว่า ในทุกครั้งที่เจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจด่านชั่งกรมทางหลวง ออกตรวจตราตามถนนหลวงเส้นต่างๆ นั้น จะมีการโทรศัพท์โทรศัพท์ไปแจ้งให้กับผู้ประกอบการ ที่ยอมจ่ายส่วย ทราบล่วงหน้าเพื่อให้งดใช้เส้นทางดังกล่าวชั่วคราว หรือจอดรถหลบข้างทาง รอจนกว่าจะออกตรวจตราเสร็จ เพื่อไม่ให้เป็นที่ผิดสังเกต