svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

ก.ต.เคาะโยกย้ายตุลาการล็อตใหญ่ "อดิศักดิ์" ขึ้น ปธ.ศาลอุทธรณ์ "สุชาติ" ผงาดนั่ง อธ.ศาลอาญา

ก.ต.เคาะโยกย้ายตุลาการล็อตใหญ่ 299 ตำเเหน่ง "อดิศักดิ์" ขึ้น ปธ.ศาลอุทธรณ์ "อินทิรา" นั่งรอง ปธ. "สุชาติ" ผงาดนั่ง อธ.ศาลอาญา "อุเทน" ไปศาลปราบทุจริต ด้าน "อรพงษ์" คุมศาลฎีกานักการเมือง "ธานี" เลขาศาลฯ กลับไปเป็น อธ.ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ "สุรินทร์" ขึ้น ปธ.อุทธรณ์ ภ.4 ส่วน "บิ๊กศาล" ถูกร้องลวนลามสาวบนรถไฟโดนแขวน

7 สิงหาคม 2567 ที่ศาลฎีกา สนามหลวง นางอโนชา ชีวิตโสภณ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ครั้งที่ 20/2567 มีวาระการพิจารณาเเต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษาตามบัญชีรายชื่อของสำนักงานศาลยุติธรรมโดย ก.ต.เห็นชอบเเต่งตั้งโยกย้าย ระดับชั้น 4 สับเปลี่ยนตำเเหน่งบัญชี 3 (ผู้พิพากษาศาลฎีกา-อธิบดีผู้พิพากษา-ประธานเเผนกในศาลอุทธรณ์-ประธานศาลอุทธรณ์ภาค-หัวหน้าอุทธรณ์-ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์) 230 ตำเเหน่ง เเละบัญชี 3 เพิ่มเติมอีก 8 ตำเเหน่ง เมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา

โดยมีผู้พิพากษาชื่อดังเเละตำเเหน่งสำคัญที่น่าสนใจดังนี้

นายอุเทน ศิริสมรรถการ

1.ให้ นายอุเทน ศิริสมรรถการ อธิบดีผู้พิพากษาศาลภาค 1 ไปนั่ง อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบกลาง เป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และคดีที่กฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจ อาทิ คดีอาญาที่ฟ้องให้ลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตาม ป.อาญา ความผิดทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น หรือความผิดอื่นอันเนื่องมาจากการประพฤติมิชอบ, คดีอาญาที่ฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำความผิดฐานฟอกเงิน กฎหมายว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ กฎหมายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือกฎหมายอื่นในการป้องกันปราบปรามการทุจริตฯ, คดีเรียก รับ ทรัพย์หรือประโยชน์ ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือใช้อิทธิพล จูงใจหรือข่มขืนใจ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการ หรือไม่กระทำการ ตามกฎหมายอาญา, คดีฟ้องลงโทษบุคคลที่ร่วมกระทำความผิดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ, คดีเกี่ยวกับการจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ ยื่นบัญชีอันเป็นเท็จ

2.ให้ นายตุลยวัต พรหมพันธ์ใจ อธิบดีผู้พิพากษาภาค 7 ไปนั่งอธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 เป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของประเทศ 

นายสุชาติ สุนทรีเกษม

3.ให้ นายสุชาติ สุนทรีเกษม ผู้พิพากษาศาลฎีกาไปนั่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ซึ่งถือว่าได้รับความไว้วางใจให้ไปนั่งบริหารศาลอาญาซึ่งเป็นศาลหลักเเละเป็นศาลใหญ่ที่สุดของประเทศ  เขตอำนาจครอบคลุมคดีอาญาที่มีอัตราโทษเกิน3 ปี ในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร 16 เขต รวมถึงคดีในกองปราบที่มีอำนาจจับกุมได้ทั่วประเทศ เเละศาลอาญามีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทั้งปวงแต่คดีที่เกิดขึ้นนอกเขตศาลอาญา ที่โจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาก็ได้ ซึ่งคดีดังเเละคดีอุกฉกรรจ์หลายคดีในต่างจังหวัดก็มีการโอนมาพิจารณาที่ศาลอาญาหลายคดีนอกจากนี้ศาลอาญา มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่ความผิดเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรไทยด้วย 

นายจีระพัฒน์ พันธุ์ทวี
4. นายจีระพัฒน์ พันธุ์ทวี รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไปเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา  

นายจีระพัฒน์ เป็นอดีตเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม สมัยนางสาวปิยกุล บุญเพิ่ม เป็นประธานศาลฎีกา มีผลงานช่วยขับเคลื่อนนโยบายประธานศาลฎีกาในการช่วยเหลือประชาชนในส่วนคดีที่ถูกฉ้อโกงเเละยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคให้ครอบคลุมถึงการบริโภควิถีใหม่โดยการตั้งแผนกคดีซื้อขายออนไลน์ในศาลแพ่ง เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหาย จากการซื้อขายสินค้าบริการทางออนไลน์ ซึ่งประชาชนสามารถยื่นฟ้องได้ด้วยตนเองโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผ่านระบบ e-Filing


นายธานี สิงหนาท
5.นายธานี สิงหนาท เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม โอนกลับไปเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้

นายธานี เป็นผู้พิพากษานักวิชาการมีลูกศิษย์ในวงการกฎหมายให้ความเคารพนับถือ เเต่งตำรากฎหมายขายดีมีคุณภาพหลายเล่ม โดยศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีอำนาจศาลครอบคลุมพื้นที่ 7 เขตในกรุงเทพซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญ 

นางสาวอินทิรา ฉิวรัมย์
6. นางสาวอินทิรา ฉิวรัมย์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานภาค 1 ไปนั่งรองประธานศาลอุทธรณ์ 

นางสาวอินทิรา เป็นที่รู้จักในงานบรรยายสายวิชาการ เป็นอธิบดีศาลเเรงงานภาค 1 มีผลงานเป็นที่ประจักษ์เดินสายลงพื้นที่จัดกิจกรรมอมรมเพิ่มศักยภาพบุคลากรของศาลแรงงานในการบริการประชาชน เป็นเจ้าภาพประชุมสัมมนาผู้พิพากษาสมทบในศาลแรงงานทั่วประเทศ ครั้งที่ 9  เปิดมหกรรมไกล่เกลี่ยทั่วไทยยุติข้อพิพาทแรงงาน สู่กระบวนการยุติธรรมทางเลือก จัดศาลเเรงงานเคลื่อนที่อำนวยความยุติธรรมประชาชน  ผ่านหลักสูตรระดับสูง ทั้ง วปอ.55 และ บยส.24 ถือเป็นผู้พิพากษาหญิงที่เก่งมีผลงานในตำเเหน่ง 

7. นายเอื้อน ขุนเเก้ว หัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ไปเป็นรองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 

นายเอื้อน เป็นผู้พิพากษา สายวิชาการชื่อดังในเนติฯสอบได้อันดับ 1 ทั้งเนติฯ และผู้ช่วยฯ รุ่น 32 มีผลงานเขียนตำราหลายเล่ม โดดเด่นในกฎหมายล้มละลาย ลูกศิษย์ให้ความชื่นชอบ  

8. นายเจริญวิทย์ เกื้อทิพย์ หัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ไปเป็น ประธานเเผนกคดียาเสพติดในศาลอุทธรณ์ ได้รับเลือกเป็นคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) มีผลงานโดดเด่นสมัยเป็นรองอธิบดีศาลอาญา ในการประสานงานกับสื่อมวลชนอธิบายระเบียบกฎเกณฑ์ได้ชัดเจน

9. นายนาวี สกุลวงศ์ธนา หัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ(เเรงงาน) ไปเป็น อธิบดีผู้พิพากษาศาลเเรงงานภาค 4  นายนาวีมีบทบาทเกี่ยวกับนโยบายเรื่องความยุติธรรมไม่มีวันหยุดที่มีการชูสิทธิการประกันตัว ของผู้ที่ไม่มีเงินเเละเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม โดยลงพื้นที่เเจ้งสิทธิผู้ต้องขังร่วมกับ นางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา ในขณะนั้น เเละ น.ส.ปิยกุล บุญเพิ่ม ศาลฎีกาคนต่อไปตั้งเเต่ยุคนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ อดีตปธ.ศาลฎีกา ถือเป็นมือทำงานที่ช่วยในเรื่องการผลักดันนโยบายเรื่องสิทธิประชาชน 

10. นายเจริญ ดวงสุวรรณ์ หัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไปเป็น ประธานเเผนกคดีผู้บริโภคในศาลอุทธรณ์ภาค 9 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับบัญชีโยกย้ายเเต่งตั้ง ที่ ก.ต.พิจารณาเห็นชอบในวันนี้ไม่ปรากฎมีรายชื่อของอธิบดีผู้พิพากษาศาลที่ถูกกล่าวหาลวนลามผู้หญิงบนรถไฟ

ทั้งนี้ มีรายงานว่าอธิบดีผู้พิพากษาคนดังกล่าวถูกเเขวนไว้ยังไม่พิจารณาอนุญาตให้ไปดำรงตำเเหน่งใดจนกว่าผลการสอบสวนจะเสร็จสิ้น โดยความคืบหน้าการสอบสวนข้อเท็จจริง รายงานข่าวเเจ้งว่าเท่าที่ทราบขณะนี้อยู่ระหว่างสอบข้อเท็จจริง ยังไม่มีการเรียกอธิบดีผู้พิพากษาไปเเจ้งข้อกล่าวทางวินัยเเต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมาที่ประชุม ก.ต. ครั้งที่ 19 /2567 มีวาระการพิจารณาเเต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษาตามบัญชีรายชื่อของสำนักงานศาลยุติธรรมโดย ก.ต.เห็นชอบเเต่งตั้งโยกย้าย ระดับชั้น 4 บัญชี 2 จำนวน 61 ตำเเหน่ง 

โดยมีผู้พิพากษาชื่อดังเเละ ตำเเหน่งสำคัญที่น่าสนใจดังนี้ 

นายอดิศักดิ์ ตันติวงศ์
1. นายอดิศักดิ์ ตันติวงศ์ ประธานแผนกคดีภาษีอากรในศาลฎีกา ไปเป็นประธานศาลอุทธรณ์ ซึ่งเป็นตำเเหน่งอาวุโสเบอร์ 2 รองจากประธานศาลฎีกา ถือเป็นศาลสูงถัดจากศาลชั้นต้นซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาบรรดาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อยู่ในเขตอำนาจ ในเขตกรุงเทพ20 ศาล กับมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดคดีที่ศาลอุทธรณ์มีอำนาจวินิจฉัยได้ตามกฎหมายอื่นในเขตท้องที่ที่มิได้อยู่ในเขตศาลอุทธรณ์ภาค เว้นแต่คดีที่อยู่นอกเขตศาลอุทธรณ์จะอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ก็ได้ แต่คดีต้องได้โอนมาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย 

2. นางมัณทรี อุชชิน ประธานเเผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศในศาลฎีกา ไปเป็นรองประธานศาลฎีกา คนที่ 1 

3. นายวิชาญ ศิริเศรษฐ์ ประธานแผนกคดีคำสั่งคำร้องและขออนุญาตฎีกาในศาลฎีกา ไปเป็นรองประธานศาลฎีกาคนที่ 2 

4. นายวิเชียร ดิเรกอุดมศักดิ์ ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา ไปเป็นรองประธานศาลฎีกาคนที่ 3 

5. นายเศกสิทธิ์ สุขใจ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไปเป็นรองประธานศาลฎีกาคนที่ 4

6. นายประกอบ ลีนะเปสนันท์ ประธานศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษไปเป็น รองประธานศาลฎีกาคนที่ 5

7. นายรังสรรค์ โรจน์ชีวิน ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไปเป็นรองประธานศาลฎีกาคนที่ 6 

8. นายศุภมิตร บุญประสงค์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไปเป็น ประธานเเผนกคดีเลือกตั้งฯในศาลฎีกา

9. นายอรพงษ์ ศิริกานต์นนท์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ไปเป็นประธานเเผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา เป็นศาลที่มีบทบาทสำคัญ พิจารณาพิพากษาคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้แก่ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองอื่นซึ่งถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น รวมทั้งกรณีบุคคลอื่นที่เป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนด้วย โดยการพิจารณาคดีจะเป็นระบบไต่สวน ต่างจากวิธีพิจารณาที่ใช้ในคดีทั่วไป  โดยมีองค์คณะในคดี 9 คนมีอำนาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร 

นายสุรินทร์ ชลพัฒนา

10. นายสุรินทร์ ชลพัฒนา หัวหน้าคณะในศาลฎีกา ไปเป็นประธานศาลอุทธรณ์ภาค 4

ในสมัยเป็นเลขาธิการประธานศาลฎีกา ในยุคนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ เป็นคีย์เเมนขับเคลื่อน นโยบายที่เกี่ยวกับสิทธิการประกันตัวของผู้ต้องหาจำเลย เรียกว่าความยุติธรรมไม่มีวันหยุด ที่ส่งผลให้สามารถมีการยื่นขอประกันตัวได้ทุกวันทุกเวลา  มีความสามารถการบริหารจนเป็นที่ไว้ใจ ก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งรองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 4 ซึ่งเป็นช่วงอีสานตอนบนครอบคลุมพื้นที่ 18 ศาล 12 จังหวัด ถือว่าได้กลับถิ่นเก่าโดยศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่คู่ความอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อยู่ในเขตอำนาจศาลทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา โดยมีสำนักงานอยู่ที่ขอนแก่นซึ่งเป็นจังหวัดใหญ่ในภาคอีสาน


โดยสามารถตรวจสอบผลการพิจารณาทั้งหมดได้ตามลิงก์ด้านล่าง

ผลการประชุม ก.ต. ครั้งที่ 19/2567 >คลิกที่นี่<

ผลการประชุม ก.ต. ครั้งที่ 20/2567 >คลิกที่นี่