14 มิถุนายน 2567 นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน กล่าวถึงคดีการจับกุมเรือบรรทุกน้ำมันเถื่อน ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี เเละเกิดเรือของกลางหายว่า คดีนี้ทางตำรวจปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ หรือ ปอศ. มีหนังสือถึงอัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 67 อ้างว่า มีการจับกุมเรือทั้งหมด 5 ลำ ซึ่งมีการบรรทุกน้ำมันเถื่อน มีผู้ต้องหาทั้งหมด 28 คน ให้การสูงสุดเป็นผู้พิจารณาเนื่องจากเป็นคดีนอกราชอาณาจักร
โดยขั้นตอนก่อนที่จะถึงอัยการสูงสุด คดีจะต้องผ่านสำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นสำนักงานที่จะรับผิดชอบคดีนอกราชอาณาจักร เมื่ออัยการสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นคดีนอกราชอาณาจักร ก็ได้มอบหมายให้พนักงานสอบสวน กองกำกับการ 2 ปอศ. เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ พร้อมกับมีคำสั่งเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 67 ให้มีอัยการเข้าไปร่วมการสอบสวน 2 คน มีตนเป็นหัวหน้าทีม เข้าไปร่วมสอบสวนกับพนักงานสอบสวน ปอศ.
เบื้องต้นทางพนักงานสอบสวน มีการปรึกษาหารือเบื้องต้น เเละอยู่ระหว่างการนัดหมาย ประชุมพนักงานสอบสวน ในวันที่ 18 มิ.ย. นี้ เเต่เกิดเหตุการณ์ของกลางหายไปจำนวน 3 ลำโดยที่ยังไม่ได้มีการประชุมกัน โดยเเม้เรือจะหายไปเเล้ว เเต่ก็ต้องเเยกคนละส่วน เพราะการกล่าวหาในคดีน้ำมันเถื่อนนี้ เป็นการกล่าวหาโดยชุดจับกุม ซึ่งประกอบด้วยตำรวจน้ำเ เละตำรวจ ปอศ. จับกุมได้เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 67 การจับกุมเรือทั้ง 5 ลำ ที่มีการบรรทุกน้ำมัน ได้ที่บริเวณอ่าวไทย ในจุดของใกล้เเท่นขุดเจาะน้ำมันปิโตรเลียมจัสมินจะเป็นคดีหลัก ในการทำบันทึกการจับกุม มีของกลางเป็นเรือบรรทุกน้ำมันจำนวน 5 ลำ ซึ่งมีที่บรรทุกน้ำมัน 3 ลำอีก 2 ลำ ไม่มีน้ำมัน โดยกล่าวหาว่าเรือทั้ง 5 ลำ ร่วมกันเทียบเรือเพื่อถ่ายน้ำมันเลยจับมาทั้งหมด
นายวัชรินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบเเน่ชัดเรื่องเจ้าของเรือ เเต่ผู้รับผิดชอบเป็นนายท้าย ผู้ควบคุมเรือทั้งหมด 5 ลำ มีผู้ถูกกล่าวหา 28 ราย คือ นายสุนทร เขียวสุวรรณ กับพวกเป็นผู้ต้องหา มีน้ำมันอยู่ในเรือ คนที่ถูกจับใน 28 ราย มีทั้งคนไทย คนเมียนมา ลาว กัมพูชา เเต่ส่วนใหญ่จะเป็นคนไทย ทำหน้าที่เป็นลูกเรือ ควบคุมเรือ
มีการเเจ้งข้อหา ร่วมกันพยายามนำเข้ามา หรือส่งออกภายนอกราชอาณาจักร ซึ่งของที่ยังไม่ผ่านวิธีทางศุลกากร ตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาตรา 242 ฐานร่วมกันซ่อนเร้นช่วยจำหน่าย ช่วยพาไปเสียในทรัพย์ (น้ำมัน) อันของพึงต้องรู้ว่า เป็นของเกี่ยวเนื่องในความผิดดังกล่าว เเละ พ.ร.บ.สรรพสามิตรฯ ในกรณีร่วมกันบรรทุกของลักลอบหนีศุลกากร หลีกเลี่ยงข้อห้ามข้อจำกัดร่วมของการขาย หรือมีไว้ซึ่งของสินค้าที่ไม่ได้เสียภาษี หรือเสียภาษีไม่ถูกต้อง
ฉะนั้นข้อกล่าวหา จะมีทั้ง พ.ร.บ.ศุลกากรฯ เเละ พ.ร.บ.สรรพสามิตร เท่าที่ทราบจากพนักงานสอบสวนคือ หลังจากเเจ้งข้อกล่าวหา มีการประกันตัวไป 28 คน เเละให้ไปเฝ้าอยู่ในเรือดังกล่าว โดยข้อกล่าวหาดังกล่าวนี้ มีอัตราโทษสูง เเละมีเรื่องค่าปรับที่เป็นจำนวนมาก จากจำนวนราคาที่นับจากปริมาณน้ำมันเป็นหลายเท่าตัว เรื่องที่ให้ประกันเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวน ปอศ.เพราะตอนนั้นอัยการยังไม่เข้าไปร่วมสอบสวน
เเต่เมื่อตอนพนักงานสอบสวนส่งมาว่า เป็นคดีนอกราชอาณาจักรฯ หรือไม่ ทางพนักงานสอบสวนจะต้องดำเนินการส่งคำให้การ มาให้พนักงานอัยการบางส่วน เพื่อส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาว่า เป็นคดีนอกราชอาณาจักรหรือไม่ และเมื่อเป็นคดีนอกราชอาณาจักรเเล้ว เป็นอำนาจอัยการสูงสุดโดยตรงตาม ป.วิอาญามาตรา 20 ซึ่ง อสส.สามารถให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนฝ่ายเดียวก็ได้ เเต่เรื่องนี้อัยการสูงสุดเห็นว่า เป็นคดีสำคัญเลยมอบหมายอัยการสำนักงานการสอบสวน เข้าไปร่วมสอบสวน
นายวัชรินทร์ กล่าวว่า ส่วนที่ผู้สื่อข่าวถามว่ามีชื่อของ "เสี่ยโจ้ปัตตานี" เข้ามาเกี่ยวคดีนี้ด้วยหรือไม่นั้น ในเบื้องต้นที่พนักงานสอบสวนทำมา ยังไม่มีชื่อนี้ปรากฎ มีเเต่ชื่อนายเล็ก ชื่อโจ้ยังไม่มี ก็ต้องดูว่า การสืบสวนสอบสวนหลังจากนี้ เพราะตอนนี้เป็นการเริ่มต้นเข้าไปร่วมสอบสวน ซึ่งอำนาจการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องผู้ต้องหา เป็นอำนาจของอัยการสูงสุดเพียงเเต่ผู้เดียว
ส่วนชื่อ "เสี่ยโจ้ปัตตานี" ตนทราบชื่อนี้เพราะเคยไปร่วมสอบสวนในคดีนอกราชอาณาจักร เหตุเกิดที่จังหวัดสงขลา ตอนนั้นสำนักงานตำรวจเเห่งชาติ ตั้งเป็นคณะทำงานชุดใหญ่มีการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานมานานมาก เรื่องดังกล่าว ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร ตั้งเป็นคดีนอกราชอาณาจักร ตั้งตนเป็นอัยการร่วมสอบเเละสั่งฟ้อง "เสี่ยโจ้ปัตตานี" ไปเเล้ว เพียงเเต่ขณะนั้นไม่ได้ตัวผู้ต้องหามายื่นฟ้องเนื่องจากหลบหนี จึงยังไม่สามารถฟ้องคดีได้ ซึ่งข้อหาในคดีที่สงขลาก็คล้าย ๆ คดีนี้
“ถ้าพูดกันตามพยานหลักฐานก่อน ตอนนี้ยังไม่พบชื่อปรากฎในคดีนี้ เเต่เเค่ถ้ามีการสอบสวนโดยทางเราเข้าไป ที่เรียกว่า ไปกำกับควบคุมการสอบสวนได้ ก็เพราะว่าอัยการมีอำนาจในการออกคำสั่ง เเละคำเเนะนำให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามคำสั่ง เเละคำเเนะนำของอัยการ ถ้าเราเข้าไปเเสวงหาพยานหลักฐานเเล้วถ้าพบว่า มีใครเกี่ยวข้องก็ต้องถูกดำเนินคดีไป หลังจากประชุมกันเสร็จก็จะเป็นการกำหนดทิศทาง
อยากเรียนว่า การเข้าไปร่วมสอบสวนของอัยการ ในคดีนอกราชอาณาจักร ไม่เหมือนคดีเยาวชนฯ อันนั้นไปร่วมสอบสวนเเค่ปากใดปากหนึ่งเท่านั้นโดยเฉพาะปากเด็ก เเต่ถ้าเป็นคดีนอกราชอาณาจักร อัยการจะเข้าไปให้คำเเนะนำเเละออกคำสั่งได้ ในส่วนของกลางเรือสามลำที่หายไปไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เพราะเรื่องเรือหายเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เกิดในราชอาณาจักรไทย จึงเป็นเรื่องที่พนักงานสอบสวน ตำรวจต้องดำเนินการเองไม่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้” รองอธิบดีอัยการสอบสวนระบุ