svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

"ทนายด่าง" เผย 24 พ.ค.เข้าขอวงจรปิดรพ.ราชทัณฑ์เช็กการรักษา "บุ้ง" ก่อนดับ

"ทนายด่าง" เผยมีหลายจุดสงสัย "บุ้ง ทะลุวัง" เสียเสียชีวิต โดยเฉพาะไทม์ไลน์เอกสารเเจงการช่วยชีวิตไม่ตรงกันของ "รพ.ราชทัณฑ์-รพ.ธรรมศาสตร์" เผย 24 พ.ค. เข้าขอวงจรปิดเทียบห้วงเวลารักษาก่อนดับ รับห่วง "ตะวัน" พร้อมเตือนห้ามเซ็นเอกสารใดของกรมคุก เหตุเป็นพยานปากเอก

21 พฤษภาคม 2567 "นายกฤษฎางค์ นุตจรัส" ทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เดินทางมาศาลอาญา เพื่อยื่นเอกสารในคดีอาญาที่ "พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวช" ฟ้องหมิ่นประมาท "น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม" หรือ "บุ้ง" จำนวน 2 ล้านบาท จากกรณีที่ น.ส.เนติพร แสดงความคิดเห็นกรณีที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวถึงเยาวชนหญิง (หยก)

โดยได้นำเอกสารแจ้งการเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร มายื่นต่อศาล แต่เมื่อมาถึงกลับพบว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้ถอนฟ้องในทุกข้อหากับบุ้งทั้งหมดแล้ว ไปเมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมา หลังจากที่บุ้งเสียชีวิตเพียง 1 วัน 

ส่วนเมื่อถามถึงเอกสารการรักษาบุ้ง ที่ไปรับมาเมื่อวานนี้ (20 พ.ค.) จำนวน 26 แผ่น โดยตนเองและครอบครัวของบุ้ง รู้สึกเคลือบแคลงใจ และตั้งข้อสงสัยถึงเอกสารดังกล่าว และได้นำเอกสารนี้ไปปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวช และแพทย์เฉพาะทาง มองว่าอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือดัดแปลงเอกสารบางส่วนหรือไม่

นอกจากนี้ ที่สำคัญเวลาการรายงานผลการช่วยชีวิต ไม่ตรงกับเวชระเบียนของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ซึ่งเอกสารจากเวชระเบียน ระบุว่า วันที่ 14 พ.ค. เวลา 06.15 น. บุ้งมีอาการเกร็ง ตาเหลือก เรียกไม่รู้สึกตัว และเริ่มทำการกู้ชีพ (CPR) ในเวลา 06.23 น.

ทว่า แต่จากแบบบันทึกการกู้ชีพของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ระบุว่า เริ่มทำการกู้ชีพบุ้ง เวลา 06.28 น. และย้ายบุ้งออกจากห้องพักผู้ป่วย ชั้น 2 ไปยัง ICU ที่อยู่ชั้น 1 โดยใช้อาสาสมัครเรือนจำ ช่วยในการเคลื่อนย้าย จำนวน 4 คน 

อย่างไรก็ตาม จากเอกสารทั้งหมดไม่ปรากฏว่า ตลอดระยะเวลา 06.15 - 06.28 น. มีการติดเครื่องติดตามสัญญาณชีพ แต่ในเอกสารกลับมีการระบุว่า มีการทำเอ็กซ์เรย์ปอด (ไม่ระบุเวลาทำ) และมีการซีทีสเเกน ตอนเวลา 07.38 น. ซึ่งทุกการรักษา มีการระบุว่ามีการทำ CPR ตลอดเวลา  

ขณะที่ ผอ.ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ จะเข้ามาประเมินอาการ บุ้ง ตอนเวลา 08.00 น. และสั่งให้ประสานงานโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ เพื่อส่งรักษาต่อ อีกทั้ง ในเอกสารจำนวน 26 แผ่น กลับไม่มีผลการตรวจเอ็กซเรย์ปอด และผลการทำซีทีสเเกน มาร่วมด้วย

 

"ซึ่งตั้งข้อสงสัยว่ามีเหตุจำเป็นอะไร ถึงต้องซีทีสแกน และเอ็กซเรย์ปอด เหตุใดทำไมไม่มุ่งไปกู้ชีพอีกทั้งในเอกสารระบุว่ามีการกู้ชีพตลอดเวลาแต่จากการประเมินจะสามารถกู้ชีพระหว่างการทำ ซีทีสเเกนได้หรือไม่ ผมขอตั้งคำถาม อีกทั้งบันทึกต่างๆนั้น ระบุเวลาไม่ตรงกัน ไม่มีบันทึกสัญญาณชีพตั้งแต่หมดสติ จนถึงหอผู้ป่วยไอซียู" นายกฤษฎางค์ กล่าว 

นอกจากนี้ ส่วนตัวขอถามไปยังโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ว่ามีการวินิจฉัยโรคจากการอดอาหารเป็นเวลานาน (Refeeding Syndrome) ตั้งแต่เมื่อไหร่ มีการรักษาแก้ไขอย่างไร จนถึงวันก่อนเสียชีวิต เนื่องจาก บุ้ง เป็นภาวะที่มีความรุนแรง และควรต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะเอกสารที่ได้มา มีเพียงการชี้แจงในวันเกิดเหตุเท่านั้น แต่ผลการรักษาก่อนหน้าทั้งหมดไม่ได้ให้มา

นายกฤษฎางค์ ยังระบุอีกว่า วันที่ 24 พ.ค.นี้ ตนจะเข้าไปเอากล้องวงจรปิดซึ่งจะเป็นหลักฐานสำคัญในการชี้ว่า มีการรักษาบุ้งอย่างไรในวันเกิดเหตุ และตรงกับเอกสารที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ให้มาหรือไม่ พร้อมรู้สึกไม่พอใจที่เมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา มีการนำสื่อมวลชนเข้าไปดูห้องพักและห้องไอซียูภายในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แต่กลับไม่มีการแจ้งมาทางทีมทนายและครอบครัวให้ทราบ 

เมื่อถามว่า หากความจริงปรากฏต้องการจะเอาผิดใครหรือไม่ นายกฤษฎางค์ กล่าวว่า ไม่ต้องการที่จะเอาผิดใคร แต่ต้องการให้ความจริงและความชัดเจน แต่หากถ้ามีคนผิด ตนก็ไม่จำเป็นต้องแจ้งความ เพราะเป็นความผิดทางอาญาแผ่นดินอยู่แล้ว

สำหรับอาการของ "น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์" หรือ ตะวัน นักกิจกรรมการเมือง ที่ไปเยี่ยมมาวานนี้ มีอาการสุ่มเสี่ยงคล้ายอาการเดียวกับบุ้ง เนื่องจากมีการอดอาหารมาเป็นเวลานานเช่นกัน ตนจึงกำชับทางครอบครัว และผู้คุมที่คุมอยู่ให้เฝ้าระวัง รวมถึงบอกแพทย์ให้ดูแลอย่างใกล้ชิดอีกด้วย เพื่อป้องกันเป็นแบบบุ้ง รวมถึงตนได้บอกกับ น.ส.ทานตะวัน ว่า อย่าเซ็นเอกสารใดกับทางกรมราชทัณฑ์ เพราะถือว่า น.ส.ทานตะวัน เป็นพยานปากเอกที่อยู่ในที่เกิดเหตุในวันที่บุ้งเสียชีวิต