svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

สรุป 7 วันอันตราย “สงกรานต์ 67” วันที่สาม เสียชีวิตทะลุ 116 ราย

14 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สรุป 7 วันอันตราย “สงกรานต์ 2567” วันที่สาม ยอดเสียชีวิตทะลุ116 ราย เกิดอุบัติเหตุรวม 936 ครั้ง นครศรีธรรมราช- สงขลา แชมป์เกิดอุบัติเหตุสูงสุด

14 เมษายน 2567 ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 13 เมษายน 2567 ซึ่งเป็นวันที่สามของการรณรงค์ “ขับขี่อย่างปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 392 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 411 คน ผู้เสียชีวิต 48 ราย โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 40.05 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 27.81 ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 16.84

สรุป 7 วันอันตราย “สงกรานต์ 67”  วันที่สาม เสียชีวิตทะลุ 116 ราย

โดยยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 85.50 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 81.63 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 35.97 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 30.10 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 18.01-19.00 น. ร้อยละ 9.18 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 30-39 ปีร้อยละ 18.52 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,765 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 51,430 คน

ทั้งนี้จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราชและสงขลา (19 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ สงขลา (23 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (4 ราย)

สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 3 วันของการรณรงค์ (11 – 13 เม.ย. 67) 

  • เกิดอุบัติเหตุรวม 936 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 968 คน ผู้เสียชีวิต รวม 116 ราย 
  • จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 28 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราชและสงขลา (39 ครั้ง) 
  • จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ สงขลา (45 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (8 ราย)

โดยนายวิทยา ยาม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า หลายพื้นที่ยังมีการจัดกิจกรรมประเพณีสงกรานต์ โดยวันที่ 14 เมษายน 2567 ถือเป็นวันครอบครัวซึ่งประชาชนจะมีการรวมตัวกันรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุและผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ทำให้มีการเดินทางบนถนนระหว่างจังหวัด อำเภอ หมู่บ้าน ชุมชน มากขึ้น รวมถึงยังมีการสังสรรค์ด้วยการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเล่นน้ำสงกรานต์ ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ศปถ. จึงได้ประสานจังหวัดกำชับเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจและด่านชุมชนให้กวดขันพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุ ทั้งดื่มแล้วขับ ขับรถเร็ว การใช้อุปกรณ์นิรภัย การขับขี่ในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดอันตราย และการบรรทุกผู้โดยสารท้ายรถกระบะเล่นน้ำสงกรานต์

รวมถึงเพิ่มความเข้มข้นในการดูแลความปลอดภัยบริเวณพื้นที่จัดงานสงกรานต์และสถานบันเทิง รวมถึงคุมเข้มการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลาที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น และห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี หากพบกรณีเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ดื่มแล้วขับจนทำให้เกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิต ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสืบสวนและขยายผลไปยังผู้ที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย ตลอดจนพิจารณาใช้บทลงโทษสูงสุดตามกฎหมายกับผู้ขับขี่ที่กระความผิดซ้ำ นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำให้จังหวัดวิเคราะห์สาเหตุเชิงลึกของการเกิดอุบัติเหตุอย่างจริงจัง เพื่อวางมาตรการป้องกันและลดความเสี่ยงดังกล่าวต่อไป

logoline