svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

ศาลสั่งจำคุกเเก๊งตำรวจ-พลเรือน ช่วยเหลือ "หน่อง-กำนันนก" ยิงสารวัตรศิว

ศาลอาญาคดีทุจริตสั่งจำคุกเเก๊งตำรวจ-พลเรือน ช่วยเหลือ "หน่อง-กำนันนก" ยิงสารวัตรศิวเสียชีวิต ส่วนคดีหลัก อัยการยื่นฟ้อง "กำนันนก" ฐานเป็นผู้ใช้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่า

9 เมษายน 2567 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤตมิชอบกลาง ถนนเลียบทางรถไฟ ศาลอ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ อท 206/2566 คดีหมายเลขแดงที่ อท /2567 ระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 3  ยื่นฟ้อง พันตำรวจตรี เกียรติศักดิ์ สมสุข ที่ 1 กับพวกรวม 23 คน (เป็นตํารวจ 16 นาย ในความผิดต่อตําแหน่งราชการหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และพลเรือน 7 คน ในความผิดฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ (รวม 23 คน)

ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 , 84 , 86 , 91 , 92 , 157 , 184 , 189 , 200 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 จากกรณีที่ พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว หรือ สารวัตรศิว หรือ สารวัตรแบงค์ ถูกยิงเสียชีวิตภายในงานเลี้ยงที่บ้านกํานันนก เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2566 เเละมีการให้การช่วยเหลือผู้ก่อเหตุ
ภาพในงานเลี้ยงบ้านกำนันนกก่อนเกิดเหตุยิงสารวัตรศิว

โดยศาลมีคำพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1-3 , 5 คนละ 2 ปี
จำคุกจำเลยที่ 4 , 6 -13 , 15-20 , 23 คนละ 1 ปี 4 เดือน
จำคุกจำเลยที่ 21 จำคุก 1 ปี 9 เดือน 21 วัน
จำคุกจำเลยที่ 22 (กำนันนก) 2 ปี
โทษจำคุกสำหรับ จำเลยที่ 9 -11 , 19 , 20 , 23 ให้รอการลงโทษ 2 ปี ยกฟ้องจำเลยที่ 14
ตำรวจพากำนันนกหลบหนี
 

สำหรับรายชื่อจำเลยทั้งหมดประกอบด้วย
จำเลยที่ 1 พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ สมสุข
จำเลยที่ 2 ร.ต.ท.ประสาร รอดผล
จำเลยที่ 3 ร.ต.ท.นิมิตร สลิดกุล
จำเลยที่ 4 ร.ต.ท.ณรงค์ศักดิ์ แตงอำไพ
จำเลยที่ 5 ร.ต.ท.สรรเสริญ ศรีสวัสดิ์
จำเลยที่ 6 จ.ส.ต.พิสิฐ ชิวปรีชา
จำเลยที่ 7 ร.ต.อ.จตุรวิทย์ ชวาลเกียรติธนา
จำเลยที่ 8 ร.ต.อ.ประสมมาศ แสงสุขดี
จำเลยที่ 9 ส.ต.ต.สุทธิกานต์ แซ่ฮ้อ
จำเลยที 10 ส.ต.ต.สรรเสริญ ศรีอุบล
จำเลยที่ 11 ส.ต.ต.ธนทัต ท่าน้ำตื้น
จำเลยที่ 12 ร.ต.อ.นุชิต บรรณชัย
จำเลยที่ 13 ด.ต.ถนอมศักดิ์ มีศรี
จำเลยที่ 14 จ.ส.ต.อภิรักษ์ โรจน์พวง
จำเลยที่ 15 ร.ต.อ.ศิริชัย รูปสวย
จำเลยที่ 16 ร.ต.ท.สมโชค บัวไชย
จำเลยที่ 17 นายสนธยา สุดแน่น
จำเลยที่ 18 นายฐิตินันท์ อินทร์ต้นวงศ์
จำเลยที่ 19 นายนิวัติชัย ปั้นดา
จำเลยที่ 20 นายกฤษดา เหล่งดอนไพร
จำเลยที่ 21 นายชาตรี เขียวทับ
จำเลยที่ 22 นายประวีณ จันทร์คล้าย (กำนันนก)
จำเลยที่ 23 นายอาทิตย์ เก้าลิ้ม
การจับกุมตำรวจที่ให้การช่วยเหลือกำนันนก

ในส่วนคดีฆาตกรรม พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว หรือ สารวัตรศิว หรือ สารวัตรแบงค์ ทางอัยการสำนักงานคดีอาญาได้ยื่นฟ้อง "กำนันนก" ในความผิดฐานเป็นผู้ใช้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่น และพยายามฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 60 มาตรา 84 มาตรา 288 ส่วน "นายหน่อง ท่าผา" ผู้ลงมือถูกวิสามัญเสียชีวิต ไปเเล้วจึงจำหน่ายคดี 
กำนันนกและหน่องท่าผา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังศาลมีคำพิพากษาจำคุกจำเลยทั้ง 22 ราย และยกฟ้อง 1 รายนั้น ในส่วนจำเลยที่ศาลจำคุกไม่รอลงอาญา 16 คนนั้นมีจำเลย 15 คนยกเว้นนายประวีณ จันทร์คล้าย หรือกำนันนก (มีหมายขังนอกจากสำนวนนี้อยู่ด้วย) ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลพิจารณาคำร้องพร้อมหลักทรัพย์แล้วอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์

มีรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับคดีในส่วนสำนวนนี้ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาเฉพาะความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ร่วมกันช่วยผู้อื่นซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดเพื่อไมให้ต้องรับโทษ โดยทำให้เสียหายทำลายซ่อนเร้น หรือทำให้สูญหาย หรือไร้ประโยชน์ ซึ่งพยานหลักฐานในการกระทำความผิด ส่วนจำเลยอื่นถูกฟ้องฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการของเจ้าพนักงานของรัฐ ซึ่งศาลได้ดำเนินกระบวนพิจารณา 6 นัด รวมระยะเวลานับตั้งแต่วันฟ้อง (30 พ.ย.66) ถึงวันอ่านคำพิพากษาเป็นเวลา 4 เดือน 10 วัน สำหรับความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด ฐานฆ่าผู้อื่น และพยายามฆ่าผู้อื่น อยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก

โดยก่อนหน้าที่จะมีคำสั่งฟ้องสำนักงานอัยการคดีปราบปรามการทุจริตฟ้องจนศาลมีคำพิพากษาในวันนี้ นายกุลธนิต มงคลสวัสดิ์ อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน ได้มีคำสั่งตั้งพนักงานอัยการให้คำแนะนำปรึกษาในคดี โดยนายกุลธนิตเป็นเป็นหัวหน้าคณะทำงาน เเละนายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน เป็นคณะทำงาน 

และยังมีคดีที่เกี่ยวพันกับธุรกิจของกำนันนก ที่อยู่ในกรมสอบสวนคดีพิเศษ คือคดีที่บริษัทของนายประวีณ ซึ่งเป็น 1 ใน 2 บริษัทที่มีการรายงานว่า ในช่วง 10 ปี ได้ทำโครงการของรัฐรวมแล้ว 1,311 โครงการ รวมงบประมาณไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท ซึ่งอัยการสูงสุดได้อนุญาตให้นายวัชรินทร์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน ไปเป็นที่ปรึกษาคดีพิเศษคดีนี้อีกด้วย