svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

บทสรุปศึก 2 บิ๊กสีกากี "ต่อ" เป็นต่อ - "โจ๊ก" เป็นโจ๊ก

03 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ปัญหาระหว่าง 2 บิ๊กสีกากี ที่ลุกลามบานปลายขณะนี้เดินทางมาถึงช่วงไหนแล้ว ใกล้ถึงบทสรุปของเรื่องหรือยัง “แหล่งข่าวระดับสูง” เผยศึกนี้จบแบบ “โจ๊กหนัก ต่อได้กลับ” ด้วยสาเหตุนี้

“NationSTORY” ชวนตั้งข้อสังเกตุตามข้อมูลที่ แหล่งข่าวระดับสูง (ระดับผู้ใหญ่ในบ้านเมือง) ให้ข้อมูลมา โดยเริ่มจาก ย้อนไปตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาจะเห็นว่า “บิ๊กต่อ” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ถูกถล่มอย่างหนักจาก “ทนายษิทรา” ส่วนฝั่ง “บิ๊กต่อ” มีการส่งทนายไปแจ้งจับ แต่ต่อมากลับถอนแจ้งความ ส่วนทีมงานผู้สนับสนุนหลักอย่าง “ทนายอัจฉริยะ”  ก็ถอยแบบน่าสงสัยเช่นกัน

“บิ๊กต่อ” สวมบทนิ่ง รุกคืบอย่างมีชั้นเชิง

สถานการณ์ในขณะนั้นทำให้หลายคนมองว่า ทาง “บิ๊กต่อ” น่าจะถอดใจ แต่หากดูสถานการณ์ปัจจุบัน สรุปได้เลยว่า "บิ๊กต่อ" ไม่ได้ถอย แต่รุกอย่างมีลีลา ไม่เปิดหน้าชนเอง ไม่เป็นความ เพราะเปลืองตัว แต่รอพนักงานสอบสวนลงดาบ และเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากคดี "บิ๊กโจ๊ก" ที่เดินหน้าต่อไปตามกระบวนการ

งานนี้แม้แต่รัฐบาลก็ได้ประโยชน์ เพราะศาลออกหมายจับในจังหวะเหมาะ ก่อนอภิปรายทั่วไปของฝ่ายค้านแค่ 1 วัน ทำให้คดีคลี่คลาย และอยู่ในมือกระบวนการยุติธรรม  ฝ่ายบริหารทำอะไรมากไม่ได้ เพราะได้ทำในเชิงการบริหารไปแล้ว คือย้ายทั้งคู่ออกจากตำแหน่งเดิม

จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป 

  1. กระบวนการทางวินัย เมื่อนายตำรวจตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา จะมีการเสนอผู้บังคับบัญชา ให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย และการตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญา หรือถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ผู้บังคับบัญชาอาจใช้ดุลยพินิจสั่งพักราชการไว้ก่อนได้ หากยังคงอยู่ในราชการ จะเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนพิจารณา ดังนั้นเรื่องนี้จึงต้องรอลุ้น
  2. คดีอาญา เมื่อ “บิ๊กโจ๊ก” เข้ามอบตัวรับทราบข้อกล่าวหา และปฏิเสธข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนก็จะอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว หรือประกันตัว เพราะไม่มีพฤติการณ์หลบหนี คดีก็จะเดินหน้าไปตามขั้นตอน

ขณะเดียวกันข้อมูลเชิงลึก ทราบมาว่า 

  • พนักงานสอบสวนจะหยิบคำร้องทุกข์ของตำรวจสงขลาที่เข้าแจ้งความกล่าวโทษ “รองฯคริษฐ์” ว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และ 157 ว่ามีน้ำหนัก มีมูลหรือไม่
  • มีแนวโน้มว่าพนักงานสอบสวนอาจสรุปสำนวนส่งให้ ป.ป.ช. ภายใน 30 วัน นับจากวันที่รองฯดุสิต เข้าแจ้งความร้องทุกข์ คือ 23 มี.ค. ซึ่งขณะนี้ผ่านมาแล้ว 10 วัน เพราะถือว่ามีการกล่าวโทษในคดีความผิดเกี่ยวกับเจ้าพนักงาน และทุจริตต่อหน้าที่แล้ว กฎหมายให้ส่ง ป.ป.ช.พิจารณา ไม่ได้เปิดโอกาสให้พนักงานสอบสวนใช้ดุลยพินิจ

ผลก็คือ สังคมจะเห็นว่าพนักงานสอบสวนทำงานตรงไปตรงมา ปฏิบัติตามกฎหมาย และไม่ได้มีเจตนากลั่นแกล้ง "บิ๊กโจ๊ก"

เงื่อนแง่กฎหมาย

ส่วนข้อมูลจากฝั่ง "กูรูกฎหมาย" ระบุว่า แม้พนักงานสอบสวนจะส่งสำนวนคดีให้ ป.ป.ช. แต่คดีนี้จะแตกต่างจากคดีอื่น คือ

  • พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแล้วในชั้นสอบสวน และมีการออกหมายจับ
  • พนักงานสอบสวนได้ปล่อยชั่วคราว หรือให้ประกันตัวผู้ต้องหา

ดังนั้นคดีนี้จึงไปเข้าข่ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 113 ที่บัญญัติว่า

"เมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการสั่งปล่อยชั่วคราวไม่ว่าจะมีประกันหรือมีประกันและหลักประกันหรือไม่ การปล่อยชั่วคราวนั้นให้ใช้ได้ระหว่างการสอบสวนหรือจนกว่าผู้ต้องหาถูกศาลสั่งขังระหว่างสอบสวนหรือจนถึงศาลประทับฟ้อง แต่มิให้เกินสามเดือนนับแต่วันแรกที่มีการปล่อยชั่วคราว ไม่ว่าเป็นการปล่อยชั่วคราวโดยพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นทำให้ไม่อาจทำการสอบสวนได้เสร็จภายในกำหนดสามเดือนจะยืดเวลาการปล่อยชั่วคราวให้เกินสามเดือนก็ได้ แต่มิให้เกินหกเดือน"

ด้าน “กูรูกฎหมาย” ระบุด้วยว่า นี่คือตัวล็อกการไต่สวนของ ป.ป.ช. เพราะคดีนี้ถือว่า มีการแจ้งข้อหาแล้ว และผ่านการวินิจฉัยเบื้องต้นโดยศาล เนื่องจากศาลอนุมัติหมายจับให้  จึงต้องถือว่าพยานหลักฐานมีน้ำหนักระดับหนึ่ง แม้ผู้ต้องหาจะยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ แต่ ป.ป.ช.ไม่จำเป็นต้องไปไต่สวนหรือใช้เวลายาวนานข้ามปีเหมือนบางคดี หรือที่มีเสียงวิจารณ์ แต่ต้องปฏิบัติตาม ป.วิอาญา ซึ่งมีกรอบเวลาชัดเจนเอาไว้ตามมาตรา 113

ซึ่งหากละเลย ก็จะเกิดคำถามจากสังคมว่า แล้ว ป.วิอาญา มาตรา 113 มีไว้ทำไม แล้ว ป.ป.ช.ในฐานะพนักงานสอบสวน เหตุใดจึงไม่ต้องยึดตามกรอบเวลาที่ว่านี้

logoline