svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

ผบ.ตร. สั่งแก้วิกฤตพนักงานสอบสวน เล็งเพิ่มเงินประจำตำแหน่ง หวังสร้างขวัญกำลังใจ

เริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ผบ.ตร. สั่งยกเครื่องงานสอบสวน เพิ่มเงินประจำตำแหน่ง หวังสร้างขวัญกำลังใจพนักงานสอบสวน ให้มีเกียรติและศักดิ์ศรี

เราได้ยินข่าวกันบ่อยๆ เรื่องพนักงานสอบสวน ซึ่งถือว่าเป็น "ต้นธาร" ของกระบวนการยุติธรรม แต่ทุกโรงพักกลับเจอวิกฤตพนักงานสอบสวนขาดแคลน นอกจากค่าตอบแทนน้อย ยังต้องทำงานอย่างโดดเดี่ยว จนขาดขวัญกำลังใจ วิ่งหนีไปช่วยราชการที่อื่น บางส่วนขอลาออกจากราชการ เครียดจากงานจนเจ็บป่วย หรือทำอัตวินิบาตกรรม จนเกิด "วิกฤตพนักงานสอบสวน"

ล่าสุดผู้ที่สะท้อนปัญหาอย่างเห็นได้ชัด คือ ร.ต.อ.หญิง ศิราณี บัวพันธ์ หรือ "ผู้กองอุ้ม" ออกมาไลฟ์สดผ่าน TikTok ว่า "ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย แต่คนพูดอาจจะตายก็ได้นะคะ" อย่างโรงพักของเรา มีพนักงานสอบสวนอยู่ 3 คน ทั้งโรงพัก สิ่งนี้คือปัญหา คนทำก็ทำไป คนไปไหนไม่ได้ก็ทำไป คนหนีงานก็หนีไป

"เป็นพนักงานสอบสวนไม่เจ๊งก็เจ๊า เป็นงานที่โดดเดี่ยวมาก ไม่มีคนเหลียวแล ไม่มีนายเหลียวแล เพราะมันไม่ได้สร้างชื่อเสียง ไม่ได้สร้างประโยชน์อะไรให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเลย แต่ว่ามันก็คือหัวใจหลักของโรงพักค่ะ" ผู้กองอุ้ม กล่าว

ร.ต.อ.หญิง ศิราณี บัวพันธ์ หรือ "ผู้กองอุ้ม"  

อย่างไรก็ตามมาตรการแก้ปัญหาพนักงานสอบสวน ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงหลายครั้ง ตั้งแต่มีการยุบแท่งงานสอบสวน เมื่อปี 2559 แต่ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม

ล่าสุด พล.ต.อ.วุฒิชัย ศรีรัตนวุฒิ ประธานชมรมพนักงานสอบสวนตำรวจ, พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร. ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เริ่มก่อตั้งชมรมพนักงานสอบสวน พร้อมด้วยคณะทำงาน ได้ร่วมกันผลักดันการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 เพื่อให้สามารถอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน มีการเจริญเติบโตก้าวหน้าได้อย่างเหมาะสมในสายงานสืบสวนสอบสวน

และให้เร่งรัดปรับปรุง แก้ไข ระเบียบคำสั่งเกี่ยวกับงานสืบสวนสอบสวน ให้สอดคล้องกับกฎหมายปัจจุบัน เพื่อที่จะเพิ่มประสิทธิภาพ และลดภาระงานของพนักงานสอบสวนที่ไม่จำเป็น ออกไปให้มากที่สุดจนทำให้เห็นเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ โดยสาระสำคัญที่น่าสนใจ อาทิ การเพิ่มเงินประจำตำแหน่ง และค่าตอบแทนการทำสำนวนการสอบสวน เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการประชุมบริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 "ชมรมพนักงานสอบสวนตำรวจ" ได้นำเสนอแผนการปรับปรุงประสิทธิภาพงานสอบสวน ให้กับ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. รับทราบ โดยมีเรื่องเพิ่มเงินประจำตำแหน่งแก่พนักงานสอบสวน ให้เทียบเท่ากับพนักงานสอบสวนของ DSI หรือ ป.ป.ช. ดังนี้

  • รองสารวัตร 12,000 บาท เพิ่มเป็น 20,000 บาท 
  • สารวัตร 14,400 บาท เพิ่มเป็น 25,000 บาท
  • รองผู้กำกับการ 17,300 บาท เพิ่มเป็น 30,000 บาท
  • ผู้กำกับการ 20,800 บาท เพิ่มเป็น 35,000 บาท
  • รองผู้บังคับการ 25,000 บาท เพิ่มเป็น 40,000 บาท

ผบ.ตร. สั่งแก้วิกฤตพนักงานสอบสวน เล็งเพิ่มเงินประจำตำแหน่ง หวังสร้างขวัญกำลังใจ

นอกจากนี้ยังมีการเสนอแผนเพิ่มค่าตอบแทนสำนวนการสอบสวน (ค่าทำสำนวน) ซึ่งอัตราเดิมใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2534 ทำให้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ยกตัวอย่าง เช่น

  • สำนวนคดีอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ค่าตอบแทน 500 บาท เสนอใหม่เป็น 1,000 บาท 
  • สำนวนคดีอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกเกิน 3 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี ค่าตอบแทน 1,000 บาท เสนอใหม่เป็น 3,000 บาท 
  • สำนวนคดีอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกเกิน 10 ปี ค่าตอบแทน 1,500 บาท เสนอใหม่เป็น 5,000 บาท 
  • สำนวนคดีจราจรทางบก มีผู้ได้รับอันตรายสาหัส หรือเสียชีวิต ค่าตอบแทน 500-1,000 บาท เสนอใหม่เป็น 3,000 บาท

ผบ.ตร. สั่งแก้วิกฤตพนักงานสอบสวน เล็งเพิ่มเงินประจำตำแหน่ง หวังสร้างขวัญกำลังใจ

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ให้ข้อมูลว่า การเพิ่มเงินประจำตำแหน่งจำนวนนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานีตำรวจขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ จะได้เท่ากันหมด ตามตำแหน่งนั้นๆ  ไม่เกี่ยวกับค่าทำสำนวน ที่ก็จะปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่วนนี้ใครทำสำนวนเยอะ ก็เบิกค่าสำนวนได้เยอะ จะช่วยแก้ปัญหากรณีพนักงานสอบสวนที่อยู่โรงพักขนาดใหญ่ มีปริมาณคดีมาก จะไม่หนีออกนอกสายงาน หรือไปอยู่โรงพักขนาดเล็ก เพราะได้ค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น

ผบ.ตร. สั่งแก้วิกฤตขาดแคลนพนักงานสอบสวน ขีดเส้น 15 วัน ให้เป็นรูปธรรม

21 กุมภาพันธ์ 2567 ชมรมพนักงานสอบสวนตำรวจ นำโดย พล.ต.อ.วุฒิชัย ศรีรัตนวุฒิ ประธานชมรมฯ เข้าพบ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ตลอดจนผู้บัญชาการสำนักงานกำลังพล ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี ผู้บังคับการกองอัตรากำลัง ผู้บังคับการกองทะเบียนพล เพื่อร่วมหารือและยื่นหนังสือเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขและพัฒนางานสอบสวน

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กล่าวว่า ได้รับข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาวิกฤตพนักงานสอบสวน ที่ถือเป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรม คือ ปัญหาการขาดแคลนพนักงานสอบสวน, การกำหนดตำแหน่งเลื่อนไหลให้พนักงานสอบสวน รวมทั้งเงินประจำตำแหน่งของพนักงานสอบสวน

ผบ.ตร. สั่งแก้วิกฤตพนักงานสอบสวน เล็งเพิ่มเงินประจำตำแหน่ง หวังสร้างขวัญกำลังใจ

ทั้ง 3 เรื่องได้มีข้อสั่งการให้ดำเนินการไปแล้วก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกันได้มีข้อสั่งการไปแล้วว่า ได้มอบอำนาจให้ผู้บัญชาการในการเกลี่ยกำลังพล ไปช่วยในสถานีตำรวจที่มีปัญหาไม่ให้ไปกระจุกอยู่ในกองบัญชาการ หรือกลุ่มงานสืบสวน โดยสั่งการให้รายงานผลการดำเนินการที่เป็นตัวเลขจริง มายังตนเองภายในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ นี้ ซึ่งจะตรวจสอบซ้ำอีกครั้งด้วย

ครั้งนี้ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาให้เห็นเป็นรูปธรรมภายใน 15 วัน เพื่อให้ตนเองสามารถดำเนินการได้ก่อนที่จะเกษียณอายุราชการ

เสริมอัตราพนักงานสอบสวน 900 คน แก้ปัญหาขาดแคลน

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กล่าวอีกว่า ได้กำชับเรื่องการห้ามนำพนักงานสอบสวนไปช่วยราชการ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานของผู้ใดก็ตาม เพราะถือว่าเป็นการทำผิดตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พุทธศักราช 2565 หากจะนำพนักงานสอบสวนไปช่วยราชการจะต้องมีบุคคลมาทดแทน ซึ่งข้อสั่งการนี้จะเน้นไปที่สถานีตำรวจโรงพักต่างๆ หากมีการร้องเรียนในลักษณะดังกล่าวจะถูกส่งมาที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติโดยตรง และผู้บังคับบัญชาจะถูกดำเนินมาตรการทางปกครอง 1212 ด้วย

นอกจากนี้ได้เตรียมเสริมอัตราพนักงานสอบสวนอีก 900 คน โดยเมื่อวานนี้ (20 กุมภาพันธ์) ได้มีการเลือกตำแหน่งที่จะลงไปช่วยอีกประมาณ 300-400 คน ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีกำลังในการผลิตบุคลากรในแต่ละปี จากที่ขาดแคลนอยู่ทั้งหมดประมาณ 2,000 คน รวมทั้งจะมีนโนบายให้นายตำรวจชั้นประทวนที่จบปริญญาตรีด้านนิติศาสตร์ ให้ขึ้นทะเบียนรอการอบรมเป็นพนักงานสอบสวน หรือให้เป็นผู้ช่วยพนักงานสอบสวนก่อน เพื่อแบ่งเบาภาระให้พนักงานสอบสวนด้วย การมีผู้ช่วยที่มีองค์ความรู้ และผ่านการอบรมแล้วก็จะมีพนักงานสอบสวนเพิ่มขึ้น

เมื่อถามถึงการเพิ่มแรงจูงใจให้กับพนักงานสอบสวนนั้น ผบ.ตร. กล่าวว่า ค่าตอบแทนยังคงน้อยเมื่อเทียบกับพนักงานอัยการหรือศาล โดยได้สั่งการให้ศึกษาเปรียบเทียบค่าตอบแทนเพื่อนำไปหารือกับคณะกรรมาธิการงบประมาณหรือสำนักงบประมาณเพื่อขอเพิ่มค่าตอบแทนให้กับพนักงานสอบสวน เช่น เพิ่มเพดานค่าตอบแทนของพนักงานสอบสวนจาก 20,000 ถึง 40,000 บาทให้มากขึ้นไปอีก

ผบ.ตร. สั่งแก้วิกฤตพนักงานสอบสวน เล็งเพิ่มเงินประจำตำแหน่ง หวังสร้างขวัญกำลังใจ

เรียกพนักงานสอบสวนไปช่วยราชการกลับโรงพัก

ด้าน พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ผบ.ตร.มีแนวคิดและนโยบายในการเสริมสร้างขวัญกำลังใจให้กับพนักงานสอบสวนให้มีเกียรติและศักดิ์ศรี ตามแนวทางที่ได้รับการเสนอให้แก้ไข ทั้งในเรื่องของการปรับเปลี่ยนตำแหน่งและค่าตอบแทนให้เหมาะสมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับพนักงานสอบสวน รวมไปถึงการเรียกพนักงานสอบสวนที่มีคำสั่งในการช่วยราชการ ให้กลับมาปฏิบัติหน้าที่เดิม เพื่อเพิ่มกำลังพนักงานสอบสวนในแต่ละโรงพักอย่างเท่าเทียม หลังมีการร้องเรียนกรณีที่พบว่าแต่ละโรงพักมีจำนวนพนักงานสอบสวนที่ไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างไม่เต็มศักยภาพ

พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ขณะที่ พล.ต.อ.เอก เอกอังสนานนท์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวว่า ในสภาวะของอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมีประเด็นเรื่องวิกฤตของพนักงานสอบสวนยังขาดแคลน และมีข้อจำกัดเรื่องขวัญและกำลังใจ ซึ่งเห็นว่า 3 องคาพยพที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ประกอบด้วย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่ ผบ.ตร. จนถึง ผบก. ต้องอำนวยการในการแก้ไขปัญหาพนักงานสอบสวนเพื่ออำนวยความยุติธรรม

คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. ซึ่งมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับพนักงานสอบสวน ตั้งแต่การกำหนดตำแหน่งเพื่อความเจริญก้าวหน้าและขวัญกำลังใจ เป็นเรื่องที่ ก.ตร. ต้องดำเนินการตามกฎหมาย รวมไปถึงพนักงานสอบสวน ซึ่งประธานชมรมพนักงานสอบสวนเป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งสมาคมพนักงานสอบสวน เพื่อเป็นตัวแทนและรวบรวมเป็นศูนย์กลางในการรับฟังข้อขัดข้องต่างๆ มาสนับสนุนประสานงานกับผู้บังคับบัญชาในการดำเนินการ

แต่เนื่องจากพนักงานสอบสวนเดิมอาศัยสมาคมฯ อาจจะมีข้อจำกัดในการดำเนินการจึงได้ขอให้ พล.ต.อ.วุฒิชัย มาเป็นหลักและเชิญผู้บังคับบัญชาและอดีตผู้บังคับบัญชามาช่วยดำเนินการ และเกิดเป็นชมรมพนักงานสอบสวนตำรวจขึ้น ซึ่งถือเป็นนิมิตรหมายอันดีที่องคาพยพทั้ง 3 มาร่วมมือกันในการระดมสรรพกำลังสมองมาสนับสนุนในช่วงเปลี่ยนผ่านให้เกิดการเริ่มต้นของการที่จะทำให้พนักงานสอบสวนได้เป็นหลักในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนต่อไป

พล.ต.อ.เอก เอกอังสนานนท์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ
ชมรมพนักงานสอบสวนตำรวจ