กลายเป็นประเด็นที่สังคมจับตาอย่างมาก จนแฮชแท็ก "นักข่าวโดนจับ" ได้รับความสนใจในประเทศไทย ใน แอปพลิเคชัน X หรือ ทวิตเตอร์ เพียงชั่วข้ามคืน กรณี นายณัฐพล เมฆโสภณ หรือ เป้ ผู้สื่อข่าวของ "ประชาไท" และ นายณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ช่างภาพอิสระ ถูกตำรวจ สน.พระราชวัง จับกุมตามหมายจับของศาลอาญา ลงวันที่ 22 พ.ค. 2566
ในข้อหาเป็นผู้สนับสนุน ทำให้โบราณสถานเสียหาย จากการขีดเขียนข้อความ และนำตัวไปควบคุมไว้โดยไม่ให้สิทธิประกันตัว โดยพนักงานสอบสวนอยู่ระหว่าง รอขออำนาจศาลฝากขังระหว่างสอบสวน ในวันนี้ (13 ก.พ.)
โดยคาดว่า การจับกุมมาจากกรณีที่ทั้งคู่ ติดตามรายงานข่าวเหตุการณ์เมื่อ 28 มี.ค.2566 ที่ "บังเอิญ" ศิลปินอิสระอายุ 25 ปี ได้พ่นสีข้อความทำเป็นสัญลักษณ์ไม่เอา 112 และเครื่องหมายสัญลักษณ์ “อนาคิสต์” บนกำแพงวัดพระแก้ว ด้านตรงข้ามสนามหลวง
ซึ่งกรณีดังกล่าว สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้มีการออกแถลงการณ์ระบุว่า
ตามกรณีที่นักข่าว สำนักข่าวประชาไท และช่างภาพอิสระ ถูกตำรวจจับกุมตามหมายจับของศาลอาญาลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ในข้อหาเป็นผู้สนับสนุนทำให้โบราณสถานเสียหายจากการขีดเขียนข้อความ และถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2567 นั้น
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย รับทราบและติดตามเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมประสานกับสำนักข่าวประชาไทต้นสังกัดของนักข่าวดังกล่าว เพื่อยืนยันความชัดเจนว่าเป็นการปฏิบัติงานข่าวจริงตามที่บรรณาธิการต้นสังกัดได้รับรองให้ไปปฎิบัติหน้าที่
นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากหลายๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องในหลายประเด็น เพื่อให้ข้อมูลครบถ้วนรอบด้าน และมีการประชุมหารือของกรรมการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ทราบว่านักข่าวประชาไท และช่างภาพอิสระถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2567
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ขอแสดงความกังวลถึงการตั้งข้อกล่าวหาว่า “ร่วมสนับสนุนการกระทำผิดในคดีอาญา” จะเป็นการบั่นทอนต่อสิทธิเสรีภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน เพราะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเข้าไปทำหน้าที่รายงานข่าวทั้งในเหตุการณ์ที่เป็นเชิงบวกและเชิงลบต่อสังคม ทำให้โอกาสในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนผิดเพี้ยนจากความเป็นจริงได้ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากระบวนการยุติธรรมจะมีความชัดเจนกับสังคม และเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนตามหลักจรรยาบรรณวิชาชีพและคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมหรือไม่
นอกจากนี้ ในโอกาสของการพิสูจน์ในข้อกล่าวหาดังกล่าว ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีท่าทีหลบหนีการต่อสู้คดีในชั้นศาล เพื่อความเป็นธรรม สมาคมนักข่าวฯ เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาสมควรจะได้รับสิทธิ์ และขอความกรุณาในชั้นศาล ในการพิจารณารับการประกันตัวชั่วคราว เพื่อออกมาสู้คดีแก้ข้อกล่าวหาได้อย่างเต็มที่ตามหลักของกระบวนการยุติธรรม และเพื่อพิสูจน์ว่าเหตุดังกล่าวเกิดจากการทำหน้าที่สื่อมวลชนภายใต้กรอบจริยธรรม หรือเป็นพฤติการณ์อื่น ๆ ต่อไป
หากสื่อมวลชนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการปฎิบัติหน้าที่ด้วยความบริสุทธิ์ใจภายใต้กรอบกฎหมาย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ มีช่องทางในการช่วยเหลือทางด้านกฎหมายโดยเฉพาะด้านความช่วยเหลือในการจักหาทนายความต่อสู้คดีตามกรอบความร่วมมือข้อตกลงร่วมกัน (MOU) กับสภาทนายความ สามารถติดต่อผ่านช่องทางต่างๆของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ
สุดท้ายขอเรียกร้องให้บรรณาธิการและต้นสังกัด กำกับดูแลผู้ปฏิบัติงานข่าวทำงานอยู่ในกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ กฏหมาย ยึดหลักการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน นำเสนอข้อมูลข่าวสารเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน นำเสนอข่าวสารด้วยข้อมูลข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง รอบด้าน เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
13 กุมภาพันธ์ 2567
"ทนายสิทธิ" เตรียมเสนอยื่นค้านฝากขังคดี 2 ผู้สื่อข่าว
ขณะที่ศาลอาญาถนนรัชดาภิเษก นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และ น.ส.คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ทนายความจากศูนย์เพื่อสิทธิมนุษยชน เดินทางมายังศาลอาญา ในคดีที่มีการยื่นคำร้องฝากขัง นายณัฐพล เมฆโสภณ ผู้สื่อข่าวประชาไท และนายณัฐพล พันธ์พงส์สานนท์ นักข่าวและช่างภาพอิสระ ถูกจับกุมตามหมายจับของศาลอาญา ลงวันที่ 22 พ.ค. 2566 โดยตำรวจจาก สน.พระราชวัง ในคดีตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน
น.ส. คุ้มเกล้า กล่าวว่า หมายจับออกโดยศาลอาญาเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 66 เป็นการออกหมายจับหลังจากเหตุเกิดเมื่อวันที่ 26 มี.ค. 66 จากกรณีที่มีนักกิจกรรมได้พ่นสีข้อความเชิงสัญลักษณ์ บนกำแพงวัดพระเเก้ว ซึ่งคดีมีการฟ้องเเล้วอยู่ระหว่างสืบพยานในศาล เเต่กลับมีการออกหมายจับนักข่าว 2 คน จากสำนักข่าวประชาไท เเละสำนักข่าวออนไลน์เเห่งหนึ่ง ทั้งที่เวลาผ่านไปกว่า 1 ปี
โดยข้อหาที่โดนเเจ้งเป็นผู้สนับสนุนทำลายโบราณสถาน ตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน มีโทษจำคุกไม่เกิน7 ปี ปรับไม่เกิน 7 เเสนบาท ซึ่งในการลงโทษฐานสนับสนุนจะไม่สูงเท่าตัวการ โดยผู้สนับสนุนจะมีโทษ 3 ใน 4 ของโทษเต็ม ซึ่งถือว่ายังเป็นโทษที่สูง ในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ โดยให้การว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนเเละช่างภาพเพื่อนำเสนอข้อเท็จจริง เพื่อที่จะนำพิจารณาในชั้นสอบสวนไปถึงพนักงานอัยการต่อไป
โดยเมื่อวานนี้ (12 ก.พ.) ทางทนายความได้ขอยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวในชั้นสอบสวน ซึ่งมองว่า จากข้อหาความผิดในคดีเเละไม่มีพฤติการณ์หลบหนี โดยการออกหมายจับไม่ใช่ออกเพราะจะหลบหนี เเต่เป็นการออกหมายจับเพราะฐานความผิดโทษเกิน 3 ปี ซึ่งพนักงานสอบสวนมีเหตุที่จะให้ประกันในชั้นสอบสวนได้ เเต่กลับไม่ให้ประกันเเละนำตัวมายื่นฝากขัง ซึ่งการฝากขังควรต้องมีเหตุจึงฝากขังได้
เเต่คดีนี้ผ่านมา 1 ปี การสืบสวนสอบสวนควรต้องเเล้วเสร็จไปเเล้ว ก็เป็นสิทธิ์ของผู้ต้องหาที่จะมีการยื่นคัดค้านการฝากขัง ซึ่งเเม้อาจจะใช้ระยะเวลานานบ้างในวันนี้ เเต่ผู้ต้องหาประสงค์ให้ยื่นเพราะไม่เห็นด้วยกับการดำเนินคดีฝากขัง จากการทำหน้าที่นักข่าวในครั้งนี้ เเต่ทางทนายก็จะถามความยินยอมว่า จะขอให้ทนายคัดค้านการฝากขังหรือยื่นประกันตัวเลย
เมื่อถามถึงเหตุที่พนักงานสอบสวนไม่ให้ประกันตัว น.ส. คุ้มเกล้า กล่าวว่า พนักงานสอบสวนระบุว่า มีหมายจับเเละคดีมีอัตราโทษจำคุกเกิน 3 ปี จึงให้เป็นอำนาจศาลพิจารณา ซึ่งการดำเนินคดีครั้งนี้ พนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนกลับมองว่า ผู้สื่อข่าวไปทำข่าวเป็นผู้สนับสนุน สื่อมวลชนเองควรต้องตั้งคำถามกับพนักงานสอบสวนด้วย
เเละคดีนี้ตำรวจได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะเหตุเกิดในพื้นที่ สน.พระราชวัง สถานที่คุมตัวควรเป็นที่นั่น เพราะมันเกี่ยวกับสิทธิผู้ต้องหา เช่น ญาติทราบก็สามารถติดตามได้ เเต่นี่ถูกเเยก ออกไปเป็น 2 สน.คือ สน.ฉลองกรุง อีกที่ก็ไม่ทราบว่าใช้อำนาจอะไร ในการเเยกการคุมตัวทั้งที่ สน.ฉลองกรุง ไม่มีอำนาจสอบสวนด้วย ทั้งที่เรื่องนี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน
ตนคิดว่า วงการวิชาชีพสื่อควรตั้งคำถามกับพนักงานสอบสวนในพื้นที่ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถึงแนวปฏิบัติในการดำเนินคดี กับผู้สื่อข่าวเพราะในปัจจุบัน มีทั้งผู้สื่อข่าวที่มีสังกัดและผู้สื่อข่าวอิสระว่า การยืนยันพฤติการณ์การทำข่าวจะเป็นอย่างไรต่อไป มันจะกลายเป็นภาระของตัวบุคคลนั้น ในการต่อสู้คดีอาญา
ทนายด่างมองเป็นการหยามเกียรติสื่อ
ด้าน นายกฤษฎางค์ กล่าวว่า คดีนี้เป็นเรื่องแปลกประหลาดที่รัฐบาล และกระบวนการยุติธรรม จะต้องรับผิดชอบเต็มที่ จริงอยู่ที่มีหมายจับ แต่หมายจับออกจากครบหนึ่งปีแล้ว จนคดีที่นักกิจกรรมไปพ่นสีจะมีการสืบพยาน คดีฐานความผิดก็ไม่ได้รุนแรง ใช้เวลาสืบกว่า 6 - 7 เดือน แล้วค่อยออกหมายจับเเล้วก็ไม่ไปจับ เรื่องนี้สื่อมวลชนควรเรียกร้องไปยังรัฐบาล เพราะตำรวจก็อยู่ภายใต้รัฐบาลว่า ทำไมทำเเบบนี้
ยังจำกันได้หรือไม่ว่า อนุสาวรีย์ปราบกบฏหลักสี่ มันหายไป 7 - 8 ปี แล้วแต่ตำรวจยังไม่ไปตามจับสักที ทั้งที่หลักฐานข้อมูลก็มีจำนวนมาก ถ้ายังทำแบบนี้คุณก็จะเห็นว่า เป็นการดำเนินกระบวนการยุติธรรมแบบสองมาตรฐาน คดีนี้โทษเจ็ดปีก็จริง แต่ไม่มีอัตตราโทษขั้นต่ำ ศาลจะลงโทษเเค่ปรับก็ได้ และนักข่าวไม่ใช่โจรผู้ร้าย ทีโจรผู้ร้ายกลับให้ประกัน
คดีฆ่ากันที่ชลบุรี ตนไม่ได้ว่าเขาผิด เเต่ให้ประกันตัวไป 8 เเสนบาท เเต่ทำไมนักข่าวกลับไม่ให้เขาประกันตัว เป็นคำถามที่ตนอยากให้ผู้สื่อข่าวทุกคน รักษาสิทธิ์ของตัวเอง รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า สิทธิของสื่อมวลชนมีเสรีภาพในการทำข่าว เพราะหากสื่อมวลชนไม่มีเสรีภาพ จมอยู่ในความหวาดกลัว ประชาชนก็ไม่ต้องทำอะไรแล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องหยามเกียรติสื่อมวลชนไทย
ทั้งนี้มีรายงานว่า ในวันนี้ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน เดินทางมาศาลอาญาเพื่อให้กำลังใจผู้ต้องหาด้วย