svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

DemAll แถลงการณ์ประณาม จับนักข่าวประชาไท จี้ปล่อยตัวแบบไร้เงื่อนไข

13 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย หรือ DemAll ออกแถลงการณ์ ประณามการจับ "นักข่าวประชาไท" ละเมิดสิทธิเสรีภาพ ย้ำการรายงานข่าวถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบธรรมของสื่อมวลชน จี้ปล่อยตัวแบบไร้เงื่อนไข

DemAll แถลงการณ์ประณาม จับนักข่าวประชาไท จี้ปล่อยตัวแบบไร้เงื่อนไข 13 กุมภาพันธ์ 2567 จากกรณีเพจเฟซบุ๊ก "ประชาไท" รายงานว่า นายณัฐพล เมฆโสภณ หรือ เป้ ผู้สื่อข่าวของประชาไท (คนใส่แว่นทางขวาของภาพ) ถูกตำรวจชุดนอกเครื่องแบบ แสดงหมายจับ ลงวันที่ 22 พ.ค. 2566 ข้อหาเป็นผู้สนับสนุนทำให้โบราณสถานเสียหายจากการขีดเขียนข้อความ 

หมายจับกุมครั้งนี้ เบื้องคาดว่า สืบเนื่องมาจากก่อนหน้านี้ นายณัฐพล พร้อมผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวอื่น ได้ติดตามรายงานข่าวเหตุการณ์เมื่อ 28 มี.ค.2566 เวลาประมาณ 17.40 น. กรณีที่ บังเอิญ (สงวนนามสกุล) ศิลปินอิสระ อายุ 25 ปี ได้พ่นสีข้อความทำเป็นสัญลักษณ์ไม่เอา 112 และเครื่องหมายสัญลักษณ์ "อนาคิสต์" บนกำแพงวัดพระแก้ว ด้านตรงข้ามสนามหลวง 
DemAll แถลงการณ์ประณาม จับนักข่าวประชาไท จี้ปล่อยตัวแบบไร้เงื่อนไข

ล่าสุดคืนวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย (DemAll) ออกแถลงการณ์ การรายงานข่าวไม่ใช่อาชญากรรม กรณีผู้สื่อข่าวประชาไทและช่างภาพอิสระถูกจับกุมจากเหตุไปทำข่าวนักกิจกรรมพ่นสีกำแพงวังเมื่อมีนาคมปี 2566 มีรายละเอียดดังนี้

จากเหตุการณ์ นายณัฐพล เมฆโสภณ ผู้สื่อข่าวของประชาไท และ นายณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ช่างภาพอิสระ ถูกตำรวจชุดนอกเครื่องแบบแสดงหมายจับข้อหาเป็นผู้สนับสนุนทำให้โบราณสถานเสียหายจากการขีดเขียนข้อความ และนำตัวไปควบคุมไว้โดยไม่ให้สิทธิประกันตัว คาดว่ามาจากกรณีทั้งคู่ติดตามรายงานข่าวเหตุการณ์เมื่อ 28 มี.ค.2566 กรณีที่ศิลปินอายุ 25 ปี ได้พ่นสีข้อความทำเป็นสัญลักษณ์ไม่เอา 112 และเครื่องหมายสัญลักษณ์ “อนาคิสต์” บนกำแพงวัดพระแก้ว ด้านตรงข้ามสนามหลวง

สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย หรือ Thai Media for Democracy Alliance (DemAll) มีความเห็นร่วมกันว่า ผู้สื่อข่าวไม่ใช่อาชญากร การรายงานข่าวถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบธรรมของสื่อมวลชน ซึ่งกิจกรรมการแสดงออกทางการเมือง ไม่ว่าจะอยู่ในขอบเขตของกฎหมายหรือไม่ สื่อย่อมสามารถถ่ายทอดเป็นภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว หรือข้อเขียนได้โดยไม่มีความผิดทางกฎหมาย

จึงขอประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้อำนาจในลักษณะยัดเยียดความผิดแบบเหวี่ยงแห ละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชน และขอเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้สื่อข่าวประชาไทและช่างภาพอิสระออกมาอย่างไม่มีเงื่อนไขโดยเร็วที่สุด
DemAll แถลงการณ์ประณาม จับนักข่าวประชาไท จี้ปล่อยตัวแบบไร้เงื่อนไข

เปิดถ้อยแถลง บก.สำนักข่าวประชาไท​
ขณะที่เพจเฟซบุ๊ก "Tewarit Bus Maneechai" ของ นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการสำนักข่าวประชาไท โพสต์ข้อความระบุว่า..

"ขออภัยที่อาจไม่ได้ตอบแชทใครได้ทันใจ ด้วยติดธุระต้องขับรถและตามคดีนักข่าวประชาไท คุณณัฐพล เมฆโสภณ ที่ถูกจับและนำตัวไป สน.ฉลองกรุง (ไกลโพด) ข้อหาสนับสนุนการทำลายโบราณสถาน(จากการไปทำข่าวการพ้นสี ไม่เอา ม.112 กำแพงวัดพระแก้ว) ส่วนตัวผม เพิ่งกลับมาถึงออฟฟิสและได้มีโอกาสจับมือถือจริงๆ จังๆ

ข้อกังวลผมต่อกรณีที่เกิดขึ้น

1. เรากังวลที่กระบวนการทำไมไม่ออกหมายเรียกผู้สื่อข่าวเราก่อน อันนี้เป็นหมายจับเลย และหมายจับก็ออกตั้งแต่ พ.ค.66 เพิ่งมาจับเอาตอนนี้

2. ทำไมไม่ให้ประกันตัวหรือมารับทราบข้อกล่าวหาแล้วปล่อยตัวเลย ทำไมต้องขอฝากขังต่อศาล

3. ทำไมการทำข่าวถึงถือเป็นผู้สนับสนุนการกระทำที่ถูกหาว่าเป็นความผิดด้วย

4. หากเป็นเช่นนั้นจะกระทบต่อกระบวนการทำงานของผู้สื่อข่าวทั้งระบบนิเวศข่าวหมด และต่อให้ไม่ฟ้องดำเนินคดีในกรณีอื่นๆ มันย่อมส่งผลต่อความกังวลในใจของนักข่าวในอนาคต เหล่านี้ย่อมส่งผลต่อประชาชนที่อาจไม่ได้รับรู้ข้อมูลข่างสารในเหตุการณ์หรือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

5. ช่วงสุดสัปดาห์รวมทั้งก่อนหน้านั้น ไม่เพียงแค่นักข่าวประชาไทที่ถูกขู่และเข้าชาร์จตัวเมื่อทำข่าวในเหตุการณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อการใช้ความรุนแรง ยังมีนักข่าวพลเมือง ผู้สื่อข่าวอิสระที่รายงานเหตุการณ์หรือไลฟ์เหตุการณ์ชุมนุมถูกชาร์จตัวถูกข่มขู่ การไลฟ์การรายงานที่ผ่านมามันเป็นเหมือนหูตาให้สังคมคอยจับจ้องเป็นการป้องกันไม่ให้ใครใช้ความรุนแรงระหว่างกันเพราะมันจะเสียความชอบธรรม การพยายามทำให้คนเหล่านี้ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีอิสระหรืออยู่ภายใต้ความกลัวการคุกคาม ย่อมเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงและการปะทะกันมากขึ้นด้วย

6. จึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ววข้องและคู่ขัดแย้งรักษาพื้นที่การทำงานของสื่อไม่ว่าจะมีสังกัด หรือเป็นสื่ออิสระหรือสื่อพลเมืองได้รายงานและถ่ายทอดเป็นผู้บันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อเป็นหูเป็นตาให้สังคมและเป็นหลักประกันว่าจะไม่เกิดการใช้ความรุนแรงต่อกัน และหากมีการใช้ความรุนแรงต่อกันก็จะถูกสื่อไม่ว่าจะสื่อมีสังกัด สื่ออิสระ สื่ออาชีพหรือสื่อพลเมืองได้บันทึกและรายงานต่อสาธารณะชน"

 

ทนายยื่นค้านฝากขังคดี 2 นักข่าวหลังโดนข้อหาสนับสนุนทำลายโบราณสถาน 

 
"นายกฤษฎางค์ นุตจรัส" ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พร้อมด้วย น.ส.คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ทนายความจากศูนย์เพื่อสิทธิมนุษยชนเดินทาง มายังศาลอาญา รัชดา ในคดีที่มีการยื่นคำร้องฝากขัง นายณัฐพล ผู้สื่อข่าวประชาไท และนายณัฐพล นักข่าวและช่างภาพอิสระ ถูกจับกุมตามหมายจับของศาลอาญา ลงวันที่ 22 พ.ค. 2566 โดนตำรวจจาก สน.พระราชวัง  ในคดีตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน

โดย น.ส.คุ้มเกล้า กล่าวว่าหมายจับออกของศาลอาญาเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 66 หลังจากเหตุเกิดเมื่อวันที่ 26 มี.ค. 66 จากกรณีที่มีนักกิจกรรมได้พ่นสีข้อความเชิงสัญลักษณ์บนกำแพงวัดพระเเก้ว ซึ่งคดีมีการฟ้องเเล้วอยู่ระหว่างสืบพยานในศาล เเต่กลับมีการออกหมายจับนักข่าว 2 คน จากสำนักข่าวประชาไท เเละสำนักข่าวออนไลน์เเห่งหนึ่ง ทั้งที่เวลาผ่านไปกว่า 1 ปี

ทั้งนี้ ข้อหาที่โดนเเจ้งเป็นผู้สนับสนุนทำลายโบราณสถาน ตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 7 เเสนบาท ซึ่งในการลงโทษฐานสนับสนุนจะไม่สูงเท่าตัวการ โดยผู้สนับสนุนจะมีโทษ 3 ใน 4 ของโทษเต็ม ซึ่งถือว่ายังเป็นโทษที่สูง ในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ โดยให้การว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนเเละช่างภาพเพื่อนำเสนอข้อเท็จจริง เพื่อที่จะนำพิจารณาในชั้นสอบสวนไปถึงพนักงานอัยการต่อไป

อย่างไรก็ตาม  วานนี้ (12ก.พ.) ทางทนายความได้ขอยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวในชั้นสอบสวน ซึ่งมองว่าจากข้อหาความผิดในคดีเเละไม่มีพฤติการณ์หลบหนี โดยการออกหมายจับไม่ใช่ออกเพราะจะหลบหนี เเต่เป็นการออกหมายจับเพราะฐานความผิดโทษเกิน 3 ปี ซึ่งพนักงานสอบสวนมีเหตุที่จะให้ประกันในชั้นสอบสวนได้ เเต่กลับไม่ให้ประกันเเละนำตัวมายื่นฝากขัง ซึ่งการฝากขังควรต้องมีเหตุจึงฝากขังได้

 

"เเต่คดีนี้ผ่านมา 1 ปี การสืบสวนสอบสวนควรต้องเเล้วเสร็จไปเเล้ว ก็เป็นสิทธิ์ของผู้ต้องหา ที่จะมีการยื่นคัดค้านการฝากขัง ซึ่งเเม้อาจจะใช้ระยะเวลานานบ้างในวันนี้ เเต่ผู้ต้องหาประสงค์ให้ยื่น เพราะไม่เห็นด้วยกับการดำเนินคดีฝากขังจากการทำหน้าที่นักข่าวในครั้งนี้ เเต่ทางทนายก็จะถามความยินยอมว่า จะขอให้ทนายคัดค้านการฝากขังหรือยื่นประกันตัวเลย" น.ส.คุ้มเกล้า กล่าว  

 

เมื่อถามถึงเหตุที่พนักงานสอบสวนไม่ให้ประกันตัว น.ส. คุ้มเกล้า กล่าวว่า พนักงานสอบสวนระบุว่ามีหมายจับเเละคดีมีอัตราโทษจำคุกเกิน 3 ปี จึงให้เป็นอำนาจศาลพิจารณา ซึ่งการดำเนินคดีครั้งนี้พนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวน กลับมองว่า ผู้สื่อข่าวไปทำข่าวเป็นผู้สนับสนุน สื่อมวลชนเองควรต้องตั้งคำถามกับพนักงานสอบสวนด้วย เเละคดีนี้ตำรวจได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะเหตุเกิดในพื้นที่ สน.พระราชวัง สถานที่คุมตัวควรเป็นที่นั่น เพราะเกี่ยวกับสิทธิผู้ต้องหา เช่น ญาติทราบก็สามารถติดตามได้ เเต่ถูกเเยกออกไปเป็น 2 สน. คือ สน.ฉลองกรุง อีกที่ก็ไม่ทราบว่าใช่อำนาจอะไรในการเเยกการคุมตัวทั้งที่ สน.ฉลองกรุง ไม่มีอำนาจสอบสวนด้วยทั้งที่เรื่องนี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน

 

"คิดว่าวงการวิชาชีพสื่อควรตั้งคำถามกับพนักงานสอบสวนในพื้นที่ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติถึงแนวปฏิบัติในการดำเนินคดีกับผู้สื่อข่าว เพราะในปัจจุบันมีทั้งผู้สื่อข่าวที่มีสังกัดและผู้สื่อข่าวอิสระ ว่าการยืนยันพฤติการณ์การทำข่าวจะเป็นอย่างไรต่อไปมันจะกลายเป็นภาระ ของตัวบุคคลนั้นในการต่อสู้คดีอาญา" น.ส.คุ้มเกล้า ระบุ

 

ด้าน นายกฤษฎางค์ กล่าวว่า คดีนี้เป็นเรื่องแปลกประหลาดที่รัฐบาลและกระบวนการยุติธรรมจะต้องรับผิดชอบเต็มที่ จริงอยู่ที่มีหมายจับ แต่หมายจับออกจากครบ 1 ปีแล้ว จนคดีที่นักกิจกรรมไปพ่นสีจะมีการสืบพยาน คดีฐานความผิดก็ไม่ได้รุนแรง ใช้เวลาสืบกว่า 6-7 เดือน แล้วค่อยออกหมายจับ เเล้วก็ไม่ไปจับ เรื่องนี้สื่อมวลชนควรเรียกร้องไปยังรัฐบาล เพราะตำรวจก็อยู่ภายใต้รัฐบาลว่าทำไมทำเเบบนี้

 

"ยังจำกันได้หรือไม่ว่าอนุสาวรีย์ปราบกบฏหลักสี่ มันหายไป 7-8 ปี แล้ว แต่ตำรวจยังไม่ไปตามจับสักที ทั้งที่หลักฐานข้อมูลก็มีจำนวนมาก ถ้ายังทำแบบนี้ก็จะเห็นว่าเป็นการดำเนินกระบวนการยุติธรรมแบบสองมาตรฐาน คดีนี้โทษ 7 ปีก็จริงแต่ไม่มีอัตตราโทษขั้นต่ำ ศาลจะลงโทษเเค่ปรับก็ได้ และนักข่าวไม่ใช่โจรผู้ร้าย ทีโจรผู้ร้ายกลับให้ประกัน คดีฆ่ากันที่ชลบุรี ผมไม่ได้ว่าเขาผิดเเต่ให้ประกันตัวไป 8 เเสนบาท เเต่ทำไมนักข่าวกลับไม่ให้เขาประกันตัว เป็นคำถามที่ผมอยากให้ผู้สื่อข่าวทุกคนรักษาสิทธิ์ของตัวเอง" นายกฤษฎางค์ กล่าว 

 

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าสิทธิของสื่อมวลชนมีเสรีภาพในการทำข่าว เพราะหากสื่อมวลชนไม่มีเสรีภาพจมอยู่ในความหวาดกลัว ประชาชนก็ไม่ต้องทำอะไรแล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องหยามเกียรติสื่อมวลชนไทย
 

logoline