svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

"ดีเอสไอ" คุม "วนรัชต์" ทายาทสีทีโอเอส่งอัยการคดีพิเศษปมโกงหุ้น STARK

12 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ดีเอสไอ" คุมตัว "วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ" ทายาทสีทีโอเอ ส่งอัยการคดีพิเศษ เพื่อเตรียมนำส่งฟ้องศาลอาญาคดีโกงหุ้น STARK ขณะที่ผู้เสียหามารอเฝ้าติดตามความคืบหน้า

12 กุมภาพันธ์ 2567 จากกรณีที่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ คุมตัว "นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ" ทายาทตระกูลธุรกิจชื่อดัง และเป็นอดีตผู้บริหารและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ผู้ต้องหาที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน คดีบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK เมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมา ณ โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ระหว่างเข้ารับการรักษาตัว

ล่าสุด ทางพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้คุมตัว นายวนรัชต์ ส่งให้กับพนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 1 ตามหนังสือด่วนที่สุด ของสำนักงานอัยการคดีพิเศษ ถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอให้จัดการให้ได้ตัวผู้ต้องหามาส่งตัวฟ้องศาล เพื่อรับฟังคำฟ้องคดีทุจริตหุ้นสตาร์คที่สำนักงานอัยการสูงสุด ก่อนนำส่งฟ้องศาลอาญา

โดย "นายประยุทธ เพชรคุณ" รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ในโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ขณะนี้ พนักงานอัยการอยู่ระหว่างแก้ไขคำฟ้อง และตรวจเอกสาร เบื้องต้นยืนยันจะนำตัวส่งฟ้องต่อศาลอาญาในวันนี้ (12ก.พ.) 

สำหรับ นายวนรัชต์ ที่ถูกคุมตัวมาวันนี้โดยรถโรงพยาบาล มีอาการป่วยซีดเซียวต้องนั่งรถเข็น ซึ่งบริเวณภายใน สำนักงานอัยการสูงสุดพบว่า มีผู้เสียหายจำนวนหนึ่งมารอติดตามความคืบหน้าคดี เนื่องจากเกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมเพราะนายวนรัชต์ เป็นนักธุรกิจชื่อดังที่มีฐานะร่ำรวย
 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังพนักงานอัยการยื่นฟ้องนายวนรัชต์ โดย "นางณฐิยา ดวงจินดา" ผู้เสียหายจากการลงทุนในหุ้นกู้ STARK กว่า 13 ล้านบาท ในฐานะตัวเเทนกลุ่มผู้เสียหายตัวจริง กล่าวว่า นอกจากคดีอาญาที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษยื่นฟ้องไปวันนี้ ทางผู้เสียหายตัวจริงได้ยื่นฟ้องเป็นคดีแบบกลุ่มที่ศาลเเพ่งกรุงเทพใต้ โดยใช้โจทก์ฟ้องแค่ 3 คน ที่เนื้อหาคดีนี้จะครอบคลุมผู้เสียหายครบทุกคน 4,000 กว่าราย ให้ได้รับการเยียวยาเท่า ๆ กัน เป็นการดำเนินคดีครั้งเดียวแต่จะช่วยผู้เสียหายทุกคน

ทั้งนี้ ศาลนัดฟังคำสั่งว่าจะรับเป็นคดีเเบบกลุ่ม (Class Action) หรือไม่ ในวันที่ 21 มี.ค. ซึ่งเรื่องนี้เป็นความหวังของผู้เสียหายทุกคน เพราะถ้าศาลไม่รับเป็นคดีแบบกลุ่ม ทุกคนต้องไปยื่นฟ้องกันเองแบบแพ่งสามัญซึ่งผู้เสียหาย 4,000 กว่าราย คดีก็จะมี 4,000 กว่าคดีในศาล ที่สำคัญ คือ ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีศักยภาพในการฟ้องด้วยตัวเองได้

 

"เพราะบางคนมูลหนี้ไม่มากพอ จะต้องจ่ายเงินค่าวางศาล ค่าทนายความ ก็จะรู้สึกว่ายอมจำนนดีกว่า ไม่สู้ดีกว่า หรือบางคนอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ไม่สะดวกที่จะไปฟ้องเอง บางคนอายุมาก บางคนก็ไม่ค่อยมีความรู้ด้านกฎหมาย หรือการจะเข้าถึงข้อมูลสำหรับประชาชนธรรมดาแบบเรามันยากมาก ขนาดเรารวมตัวกันมากขนาดนี้ ยังรู้สึกว่ามันไม่ง่าย ที่จะต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรม แต่เราโชคดีที่เรารวมตัวกันได้เป็น 100 คน โดยการช่วยเหลือของ นายจิณณะ แย้มอ่วม ทนายความผู้เชี่ยวชาญคดี Class Action ได้เข้ามาช่วยเหลือ โดยที่ไม่คิดเงินเลยแม้แต่บาทเดียว เราอยากให้คดีที่เราฟ้องเองในวันที่ 21 มี.ค. ขอให้ศาลพิจารณารับเป็นคดีแบบกลุ่ม เพื่อที่ทุกคนจะได้รับความยุติธรรมเท่ากัน ไม่ต้องไปแย่งฟ้องกันเอง ยังไงขอเชิญผู้สื่อข่าวเป็นกำลังใจให้พวกเราผู้เสียหายทุกคน ในวันที่ 21 มี.ค. ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เวลา 09.00 น." นางณฐิยา ระบุ

 

อย่างไรก็ตาม กลุ่มตนเป็นผู้เสียหายตัวจริง ไม่ใช่เป็นตัวแทนของผู้เสียหาย และที่ได้มีการคัดกรองทุกคนเป็นเจ้าของหุ้นกู้จริงๆ เพราะฉะนั้นใคร ที่ยังไม่มีกลุ่มเป็นผู้เสียหาย สามารถที่จะเข้าร่วมกลุ่มกับพวกตนได้ ในการต่อสู้เพื่อผู้เสียหายทุกคน โดยที่ไม่คิดเงิน แค่ต้องการความถูกต้อง ไม่อยากให้สิ่งที่ไม่ถูกต้องมันเกิดขึ้นในสังคม อยากให้มีมาตรฐานที่ดีเพื่อที่จะได้ไม่ต้องเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีก

 

"สิ่งที่อยากฝากถึงนายวนรัชต์ คือ พวกเราผู้เสียหาย ควรได้สิ่งที่สูญเสียไปคืน อย่างที่ผู้ต้องหาที่ 2 เคยพูดไว้ในศาล ว่าเขาเสียใจและอยากจะชดใช้ให้กับพวกเรา ก็อยากให้คำพูดนั้นเป็นการกระทำขึ้นมาจริงๆไม่ใช่เพียงแต่พูด เราอยากเห็นการกระทำตรงนั้นจริงๆ ก็จะดีใจมากถ้าคืนเงินให้ ถ้ายอมรับผิดเราก็พร้อมที่จะให้อภัย ถ้ามีการคืนเงินเยียวยาผู้เสียหายครบ เราก็พร้อมจะเเถลงศาลให้บรรเทาโทษ เราต้องการมากที่สุดก็ คือ เราอยากให้ผู้เสียหายทุกคนได้รับเงินคืนเพราะว่าหลาย ๆ คน ก็เป็นผู้สูงอายุ และเขาอยากจะได้เงินคืนในช่วงอายุของเขา บางคนเป็นเงินก้อนสุดท้ายในชีวิต บางคนเป็นผู้ป่วยที่ต้องดูแลพ่อแม่ที่อายุมาก และต้องใช้เงินในการดูแลชีวิต" นางณฐิยา กล่าว

 

ซึ่งตรงนี้ถ้าเกิดคืนมาทุกคน ก็จะได้รับการเยียวยา ก็อยากให้คืนเงินเร็วที่สุด เพราะว่าการต่อสู้กันไปมัน อาจจะใช้เวลานาน บางคนอาจจะมีชีวิตไม่ถึง ถ้าเกิดยอมคืนเงินให้ ก็พร้อมที่จะจบคดี ความผิดเกิดขึ้นแล้ว ก็จะไม่ให้มันเป็นเรื่องใหญ่ ถ้ารับผิดชอบ และควรกำหนดเวลาว่าจะชดใช้เมื่อไหร่ ไม่ใช่ 10 หรือ 20 ปี เพราะมันอาจจะเกินอายุไปแล้ว ดังนั้น ในฐานะผู้เสียหาย อยากให้ผู้ที่กระทำความผิดเข้ามาชดใช้ให้กับพวกตน ที่สูญเสียไปมาก 

ขณะที่ "นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์" ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากกลุ่มผู้เสียหายหุ้นกู้ STARK ซึ่งเป็นอีกกลุ่มหนึ่ง กล่าวว่า ในฐานะของของผู้ร่วมสังเกตการณ์ในการส่งตัวนายวนรัชต์ มาฟ้องคดีที่สำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งจากที่สังเกตอาการของนายวนรัตน์ ก็สันนิษฐานว่าน่าจะป่วยจริง และขณะนี้ทางอัยการและดีเอสไอ ได้นำตัวนายวนรัตน์ดำเนินการยื่นฟ้องต่อศาล แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าทางศาลจะให้ประกันตัวหรือไม่ ศาลอาจจะมีการพิจารณาว่าหากนำเข้าในเรือนจำอาจจะอาการทรุดส่งผลให้ไม่สามารถให้การต่อศาล ก็อาจกระทบทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาไปด้วย หากศาลพิจารณาให้พักรักษาตัวภายใต้การควบคุมของพนักงานหรือไม่ มองว่าศาลจะมีการพิจารณาตามความเห็นทางการแพทย์

 

"หากในวันนี้นายวนรัตน์ ไม่ได้รับการประกันตัว นายวนรัตน์และจำเลยรายอื่น อาจจะต้องรอในเรือนจำไปถึงช่วงเดือน มิ.ย. 2567 ในฐานะตัวแทนผู้เสียหายต้องการที่จะพูดคุยกับนายวนรัตน์เกี่ยวกับประเด็นที่ปฎิเสธว่า ไม่ได้การกระทำผิดและใครเป็นผู้กระทำผิด รวมถึงการชดใช้เยียวยาว่าจะดำเนินการอย่างไรให้กับผู้เสียหาย มองว่าหากมีการแสดงความสุจริตใจพร้อมเยียวยาผู้เสียหาย แสดงความรับผิดชอบพร้อมสำนึกความผิดก็น่าจะมีผลกับทางคดีอาญา" นายวีรพัฒน์ กล่าว 

 

ศาลอาญาไม่ให้ประกัน "วนรัชต์" นัดตรวจพยานหลักฐาน 10 มิ.ย.นี้

อย่างไรก็ดี ภายหลังพนักงานอัยการยื่นฟ้องนายวนรัชต์ โดยศาลอาญาพิจารณาคำร้องอัยการโจทก์ เเล้วมีคำสั่งประทับฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.441/2567 และจากการสอบคำให้การ จำเลยให้การปฏิเสธขอต่อสู้คดี จึงให้นัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 10 มิ.ย.นี้

ทั้งนี้ จำเลยยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอปล่อยชั่วคราว ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าคดีมีลักษณะเป็นการสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม ทั้งก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน และมีมูลค่าความเสียหายเป็นจำนวนมาก  โจทก์คัดค้านการปล่อยชั่วคราว จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงนำตัวจำเลยไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ระหว่างพิจารณาคดี 


อนึ่ง สำหรับคดีดังกล่าว พนักงานอัยการฯได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหาในคดีทุจริต STARK ไปเเล้ว 7 ราย ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 9 ก.พ. ที่ผ่านมา ได้ยื่นฟ้องต่อศาลเพิ่มเติมอีก 2 ราย คือ

  • น.ส.ยสบวร อำมฤต
  • นายกิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐ


ทั้งนี้ ในความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ฐานตกแต่งบัญชีและงบการเงิน และฐานฉ้อโกงประชาชนฯ ข้อหายักยอกทรัพย์ และข้อหาฟอกเงิน

โดยนายกิตติศักดิ์ได้ยื่นขอประกันตัว แต่ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยชั่วคราว เนื่องจากเห็นว่าคดีนี้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนจำนวนมาก มีผลกระทบต่อเศษฐกิจในวงกว้าง และมีมูลค่าความเสียหายสูง เป็นกรณีร้ายแรง หากปล่อยชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี ศาลจึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ส่วน น.ส.ยสบวร ไม่ได้ยื่นประกันขอประกันตัว เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวทั้ง 2 ราย ไปยังเรือนจำ

 

logoline