svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

ส่งเด็ก 14 มือลั่นไกมรณะกราดยิงพารากอนเข้ารักษาตัวสถาบันกัลยาณ์ฯ

01 มกราคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

คุมตัวเด็ก 14 มือก่อเหตุกราดยิงห้างสยามพารากอนรักษาตัวต่อจนกว่าจะหาย หวั่นปล่อยไปอาจคุมไม่ได้และก่ออันตรายต่อสังคม

1 มกราคม 2567 "นายประยุทธ เพชรคุณ" โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยความคืบหน้าการปล่อยตัวเด็กชายวัย 14 ปี มือกราดยิงปืนที่ห้างสยามพารากอน จนมีผู้เสียชีวิต หลังตำรวจส่งสำนวนคดีให้อัยการไม่ทันตามกำหนดเป็นเหตุให้หมดอำนาจควบคุมตัวเพื่อรับการรักษาและสอบปากคำ ที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ตั้งแต่เมื่อเวลาเที่ยงคืนที่ผ่านมา ว่า กระบวนการของอัยการได้หมดหน้าที่นับตั้งแต่คืนสำนวนคดีให้ตำรวจ

ส่วนเรื่องการรักษาตัวเด็กชายผู้ก่อเหตุที่สถานพยาบาลแห่งนี้ต่อไปนั้น ได้พูดคุยกับหนึ่งในคณะสหวิชาชีพผู้ร่วมรักษาเด็ก โดยระบุว่า แพทย์ได้ลงความเห็นว่าเด็กยังมีอาการป่วยจิตเวช ต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะหาย เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายของเด็กที่อาจก่อกับสังคม

ขณะเดียวกัน ต้องหาสาเหตุการก่อเหตุครั้งนี้ โดยเป็นไปตามหลักนิติจิตเวช แพทย์จึงยืนยันว่าจะต้องแจ้งผู้ปกครองถึงเงื่อนไขเหล่านี้ แต่หากไม่ได้รับความร่วมมือ เจ้าหน้าที่ก็จำเป็นต้องใช้มาตรการตามกฎหมาย เนื่องจากการรับการรักษาต่อนั้น ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยและผู้ปกครองเอง

"ยืนยันว่าในวันนี้มีการประชุมหารือระหว่างผู้ปกครองเด็ก เจ้าหน้าที่สถานพินิจฯ แพทย์ และส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทราบผลสรุปภายในวันนี้ หากเด็กไม่เจ็บป่วย ก็ต้องปล่อยตัวไป แต่เมื่อชัดเจนว่าป่วยก็ต้องรักษาตัวต่อ" นายประยุทธ กล่าว

 

ขณะที่ "น.ส.ศิริประกาย วรปรีชา" รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เปิดเผยภายหลังการประชุม ว่า ตนได้นำเอาหมายปล่อยจากศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเดินทางมายังสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เพื่อแสดงต่อแพทย์ผู้ตรวจรักษาและผู้ปกครอง เนื่องจากกรมพินิจฯ ไม่มีอำนาจในการควบคุมตัวเด็กได้อีกต่อไป ภายหลังจากที่พนักงานสอบสวนไม่สามารถสรุปสำนวนส่งอัยการได้ทัน จึงต้องระงับการสอบสวนไว้ก่อน

ทั้งนี้ จากการที่ตนได้พบและพูดคุยกับผู้ปกครองของ ด.ช. ค่อนข้างให้ความร่วมมือ และยินดีที่จะให้ ด.ช. อยู่ในการดูแลรักษาต่อโดยแพทย์เฉพาะทางของสถาบันกัลยาณ์ ส่วนสาเหตุที่ทางแพทย์เห็นสมควรให้ ด.ช. รักษาต่อนั้น เนื่องมาจากกระบวนการทางการรักษายังไม่เสร็จสิ้น และยังคงต้องมีการประเมินสุขภาพจิตอย่างต่อเนื่อง

น.ส.ศิริประกาย กล่าวต่อว่า อีกทั้งแพทย์ยังไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาการรักษา ว่าจะต้องใช้เวลายาวนานเท่าใด อย่างไรก็ตาม แพทย์จะเป็นผู้หารือและร่วมวางแผนแนวทางการรักษากับผู้ปกครองของ ด.ช. ว่าจะมีขั้นตอนการรักษาอย่างไรบ้าง ขณะที่ในส่วนของรายงานวินิจฉัยการประเมินสุขภาพต่างๆ คาดว่าทางแพทย์ผู้ตรวจรักษา อาจมีการนำส่งให้กับทางพนักงานสอบสวน

 

"การเห็นสมควรให้ ด.ช. เข้ารับการรักษาตัวต่อที่สถาบันกัลยาณ์ เพราะว่าทั้งครอบครัวและแพทย์ เล็งเห็นว่าหากนำตัว ด.ช. กลับออกไป อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของตัวเด็กและสังคมได้ หากไม่สามารถควบคุมได้ จึงเป็นเหตุให้ ด.ช. จะยังอยู่ในการรักษาของแพทย์ต่อ" รองอธิบดีกรมพินิจฯ ระบุ 


ส่วนบรรยากาศด้านหน้า สถาบันกัลยาณ์ภายหลังเสร็จการประชุม ได้มีรถของเจ้าหน้าที่กรมพินิจฯ แพทย์ และผู้ปกครอง ทยอยขับรถออกจากโซนอาคารรักษาตัวของผู้ป่วย ซึ่งปิดกั้นไม่ให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไป และโดยไม่มีผู้ใดให้ข้อมูล

อนึ่ง สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าวนั้น เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2566 ซึ่งจากการสอบสวนพฤติกรรมผู้ก่อเหตุทราบว่า เป็นเด็กติดเกม และมีอาการหูแว่ว โดยมีคนสั่งให้ทำ จึงก่อเหตุดังกล่าวขึ้น นอกจากนี้ ยังพบว่ามีประวัติการรักษาทางจิตเวชที่โรงพยาบาลราชวิถี และพบว่าขาดการรักษา ไม่ได้รับประทานยารักษาโรคตามที่แพทย์กำหนด ในระหว่างก่อที่ก่อเหตุ 

logoline