29 สิงหาคม 2566 พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รอง ผบ.ตร.) ในฐานะประธานกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริง กรณีปัญหาข้อพิพาทในที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล พร้อมด้วยนายนรินทร์ ประทวนชัย รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พ.ต.ท.ประวุฒิ วงศ์สีนิล รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้แทนกรรมการสิทธิมนุษยชน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล เพื่อประชุมติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหา
ในที่ประชุม มีการติดตามความคืบหน้าการดำเนินคดีกับเรือประมงพาณิชย์ ซึ่งลักลอบทำประมงในเขตอุทยานจำนวน 15 คดี มีการออกหมายเรียกเจ้าของเรือ ไต๋เรือ และลูกเรือทั้งหมดแล้ว และได้ตรวจยึดเรือประมงของกลางรวม 26 ลำ จากทั้งหมด 28 ลำ อีก 2 ลำกำลังเตรียมการส่งมอบให้เรียบร้อย
โดยในส่วนการบุกรุกพื้นที่อุทยาน หลังจากดำเนินการรังวัดพื้นที่ชัดเจนแล้ว จะพิจารณาพื้นที่ใดที่ล้ำเข้ามาในเขตอุทยาน ทางกรมอุทยานฯ จะร้องทุกข์ดำเนินคดีทุกจุดต่อไป ส่วนโรงแรมที่พักต่างๆ จะมีการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.โรงแรมทั้งหมด และจะติดตามความคืบหน้าการดำเนินการจนแล้วเสร็จ นอกจากนี้จะยังมีการพิจารณาดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ โดยจะดำเนินคดีอย่างเด็ดขาดทั้งหมด
หลังเสร็จสิ้นการประชุม พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ พร้อมคณะได้ลงพื้นที่ตรวจลำรางสาธารณะ และพบปะชาวบ้านเพื่อรับฟังปัญหาและพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ วันนี้มีการประชุมเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดทั้งหมด หลายส่วนมีความคืบหน้าไปมากแล้ว อาทิ การลักลอบทำประมงในเขตอุทยาน มีการตรวจยึดใกล้ครบ 28 ลำ และจะติดตามผู้เกี่ยวข้องมาดำเนินคดีให้ครบถ้วน ส่วนการบุกรุกพื้นที่อุทยาน การรังวัดจะเห็นภาพชัดเจนว่าจะต้องดำเนินคดีกับผู้ใด รวมถึงโรงแรมบนพื้นที่ รวมถึงการดำเนินคดีการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ โดยไม่มียกเว้น
การแก้ไขปัญหาในส่วนนี้จะดำเนินการควบคู่ไปกับการฟื้นฟูเกาะหลีเป๊ะ เพื่อพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติต่อไป
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2566 พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ในฐานะประธานกรรมการ ตรวจสอบ แก้ไขข้อพิพาทในที่ดินเกาะหลีเป๊ะฯ ได้เข้ามากำกับดูแลและเร่งแก้ไขปัญหาข้อพิพาท โดยการบังคับใช้กฎหมาย นำการเจรจา ใช้การบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมที่ดิน กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) กรมอุทยานฯ กรมการปกครอง กรมธนารักษ์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทำให้สามารถนำเอาพื้นที่คืนกลับมาให้กับชุมชน
นอกจากนี้ ยังได้วางแนวทางในการแก้ไขปัญหาระยะยาว เพื่อแก้ไขการพิพาทให้ถูกต้อง รวมทั้งปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของชาวเลในพื้นที่ เช่น การทำประมงพื้นบ้านในพื้นที่อุทยาน การตรวจสอบรังวัดที่ดินที่ถูกรุกล้ำเพื่อคืนพื้นที่ให้กับชาวบ้าน เป็นต้น