24 เมษายน 2566 เวลา 17.45 น. ที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) หรือตำรวจไซเบอร์ พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท.พล.ต.ต.ณัฐกร ประภายนต์ ผบก.สอท 2 พ.ต.อ.จักรกฤช ศรีโรจ นากูร ผกก.2 บก.สอท.2 ปิดล้อมตรวจค้น 3 จุด ในพื้นที่บางนา หลังได้รับการร้องเรียนมีพัสดุเก็บเงินปลายทางสร้างความเดือดร้อนเกิดความเสียหาย หลังมีญาติและบุคคลในครอบครัวหลงเชื่อชำระเงินไปเป็นจำนวนมาก
การตรวจค้นมีพื้นที่เป้าหมายที่น่าสนใจ คือ โกดัง 2 แห่ง ภายในซอยบางนา-ตราด 17 เขตบางนา กรุงเทพฯ ลักษณะเก็บพัสดุสินค้าหลายรายการ อาทิ เครื่องสำอาง,รองเท้า, เสื้อผ้า อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น และยังพบกล่องพัสดุเปล่าและสติกเกอร์รายชื่อ ที่อยู่ของเหยื่อที่ถูกทำลายเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ การตรวจค้นในสำนักงานพบคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีรายชื่อของผู้รับถูกบันทึกไว้อย่างละเอียด พร้อมข้อมูลสินค้าตีกลับอีกนับหมื่นรายการ
โกดังที่ 2 เป็นสถานที่สำหรับแพคสินค้าลงกล่องพัสดุ พบชั้นวางพัสดุที่ถูกตีกลับ กระสอบใส่พัสดุที่ถูกตีกลับกว่าหมื่นใบ บาร์โค้ดที่ใช้สำหรับส่งของพัสดุ นอกจากนี้ ทั้ง 2 จุดสามารถควบคุมตัวผูู้ดูแล คือ น.ส.สุรีพร โสภณชัยพร อายุ 30 ปี
ตามหมายจับศาลจังหวัดนนทบุรี ที่ จ. 225 /2566 ลงวันที่ 24 เม.ย.ในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน,นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และคุมตัวนายตู่ อายุ 27 ปีพนักงานแพ็กของ
หลังการจับกุม ทั้ง 2 อ้างว่า ไม่รู้ ไม่เห็นพฤติกรรมการหลอกลวง ทั้งในส่วนบาร์โค้ด รายชื่อลูกค้า และโลโก้บริษัทส่งของต่างๆ อ้างเพียงถูกจ้างมาแพ็กของติดชื่อส่งพัสดุยังผู้รับ ได้ค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท โดยเจ้าของกิจการ เป็นคนจีนจัดหามาให้ จากประเทศจีน เพียงแค่ทำตามคำสั่งเท่านั้น ไม่ทราบวิธีการนำเข้า
พล.ต.ท.วรวัฒน์ กล่าวว่า บก.สอท.2 ได้รับแจ้งจากผู้เสียหายจำนวนมากว่า ได้สั่งซื้อสินค้า ผ่านเพจเฟชบุ๊ก Wdecd-US แต่ได้รับสินค้าที่ไม่ตรงตามที่สั่ง และกรณีที่ผู้เสียหายได้รับสินค้า ที่ไม่ได้สั่งซื้อ โดยเรียกเก็บเงินปลายทางกับผู้เสียหาย จึงได้แจ้งความไว้ผ่านระบบแจ้งความออนไลน์ หลังรับเรื่องได้ทำการสืบสวนจนทราบว่ากลุ่มผู้ต้องหามีลักษณะเป็นขบวนการ จึงรวบรวมหลักฐานเพื่อออกหมายค้นและหมายจับ
จุดที่น่าสนใจ คือ พฤติกรรมของคนร้าย ไม่ว่าจะส่งสินค้าแบบไม่ตรงปก หรือส่งสินค้าทั้งที่ไม่ได้สั่ง แต่ผู้ต้องหาจะเก็บเงินปลายทาง โดยส่วนใหญ่ เป็นสินค้าไม่ได้คุณภาพ ละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งหากผู้รับปฏิเสธไม่จ่ายเงินปลายทางก็จะตีกลับคืนไปยังต้นทางได้ทันที ส่วนเหยื่อรายที่เผลอรับหรือจ่ายเงินปลายทางถือเป็นรายได้ของแก๊งมิจฉาชีพ ซึ่งส่วนใหญ่คนที่มีรายชื่อระบุหน้ากล่องจะรู้ตัวเองว่าไม่ได้สั่ง แต่คนในบ้าน ซึ่งเป็นญาติพี่น้องจะไม่รู้ว่าไม่ได้สั่ง จึงเผลอจ่ายเงินปลายทาง รับของไว้ให้ ทำให้มีผู้ตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก
ขบวนการนี้จะสุ่มกระจายรายชื่อพัสดุกล่องใดถูกบริษัทขนส่งเอกชนตีกลับ ก็จะนำมาลอกชื่อเก่าออก แปะทับชื่อใหม่ ส่งวนไปสู่เหยื่อรายชื่อใหม่ โดยในแต่ละวัน มีไม่ต่ำกว่า 100-200 ราย
อย่างไรก็ตาม จากแนวทางสืบสวน ในรอบ 5 เดือนที่ผ่านมา มีเงินหมุนเวียนกว่า 20 ล้านบาท ตรวจสอบพบฐานข้อมูลรายชื่อเหยื่อกว่า 2.5 หมื่นราย ส่งสำเร็จ 1.6 หมื่นราย และตีกลับ 7 พันราย และชุดสืบสวนได้พิสูจน์ทราบและรู้ตัวผู้เช่าอาคารดังกล่าวที่เป็นคนจีนแล้ว อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อออกหมายจับเพิ่มเติม ผบช.สอท. กล่าว