วันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นประธาน ในการประชุมขับเคลื่อนศูนย์ป้องกัน และปราบปรามการแข่งรถในทางและความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปข.ตร.) และกำหนดแนวทางมาตรการการปฏิบัติในช่วงเทศกาลลอยกระทง ประจำปี 2565 โดยมีหน่วย บช.น., ภ.1 - 9 และ บก.ทล. พร้อมด้วยหัวหน้าสถานีตำรวจทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุม ผ่านการบันทึกข้อมูลในระบบ CRIME และสถิติการดำเนินการ สถิติการร้องเรียนผ่านทางสายด่วน 191 และ 1599 พร้อมวิเคราะห์จัดกลุ่มความเสี่ยงของพื้นที่ สน./สภ. ความคืบหน้าและผลโครงการวิจัยศึกษาและพัฒนาระบบการจัดการแก้ไขปัญหาการแข่งรถในทางอย่างยั่งยืน เป็นต้น
ในที่ประชุม กำหนดมาตรการการปฏิบัติให้หน่วย บช.น., ภ.1 - 9 และ บก.ทล. นำไปขับเคลื่อนเพื่อป้องกันและปราบปรามการแข่งรถในทางและความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยกำชับให้เพิ่มความเข้มในการปฏิบัติช่วงเทศกาลลอยกระทง ประจำปี 2565 ดังนี้
1. เร่งรัดกวดขันตรวจสอบการกระทำความผิดทุกช่องทาง ทั้ง ONLINE เช่น คลิปการแข่งรถ, การขับรถ ที่ไม่คำนึงถึงความปลอดภัย, ร้านค้าออนไลน์ ฯลฯ และ ON GROUND เพิ่มความเข้มออกกวดขันตรวจตรา แหล่งมั่วสุม จุดนัดหมาย สถานศึกษา ร้านจำหน่ายอะไหล่ ร้านซ่อมรถ ร้านดัดแปลงสภาพรถ ร้านแต่งซิ่ง โรงงานและร้านขายท่อไอเสียที่ไม่ได้มาตรฐาน ฯลฯ ดำเนินการตามกฎหมายกับตัวการ และสอบสวนขยายผลไปยังผู้สนับสนุน เช่น ผู้ผลิต ครอบครอง จำหน่าย ประกอบ ดัดแปลง ยุยงส่งเสริม สนับสนุนการแข่งรถในทาง Admin page และกองเชียร์ กรณีสืบทราบหรือพบเห็นการรวมกลุ่มเพื่อแข่งรถในทาง ให้ สน./สภ. บูรณาการกำลังทุกฝ่ายให้ยุติกิจกรรมพร้อมติดตามจับกุมให้ได้โดยเร็ว
2. การตรวจสอบแอดมินเพจชักชวนรวมกลุ่มมั่วสุมแข่งรถในทาง, ออกทริปท่องเที่ยวหรือทำกิจกรรมในช่วงวันหยุดราชการหรือเทศกาล ซึ่งอาจสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนในเส้นทาง ให้ดำเนินการตามมาตรการที่ ตร. กำหนด ตั้งแต่พื้นที่ต้นทาง พื้นที่กลางทาง จนถึงพื้นที่ปลายทาง ตั้งจุดตรวจจุดสกัด เพื่อกวดขันวินัยจราจร ให้หน่วยพื้นที่ต้นทางประชาสัมพันธ์กับแอดมินเพจให้ระงับการดำเนินการดังกล่าวเพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนและประชาชนที่พักอยู่ริมทาง และลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุ
3. ให้ความสำคัญการรับแจ้งเหตุและร้องเรียนในทุกช่องทาง ให้ กก.สส.บก.น./ภ.จว. ร่วมกับงานสืบสวนของ สน./สภ. ตรวจสอบและติดต่อสอบถามข้อมูลจากประชาชน เน้นการสืบสวนหลังเกิดเหตุให้ได้ตัวผู้ก่อเหตุ มาดำเนินคดีทุกราย เพื่อป้องปรามไม่ให้กลับมากระทำความผิดอีก และให้ความสำคัญกับการแสวงหาข้อมูล และเบาะแสจากเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่และช่องทางอื่นๆ ทุกช่องทาง และสืบสวนสอบสวนให้ปรากฏข้อเท็จจริงโดยละเอียดทุกกรณี
4. กรณีปรากฏข่าวสาร เบาะแส ตลอดจนเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการแข่งรถในทางตามสื่อต่างๆ ให้ สน./สภ.เร่งรัดสืบสวนสอบสวน ติดตามจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมายให้ถึงที่สุด แล้วประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและสังคมทราบ เพื่อป้องปรามการกระทำผิด พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์กฎหมายเกี่ยวกับการแข่งรถในทาง ซึ่งมีการแก้ไขปรับปรุงเนื้อหาและเพิ่มอัตราโทษ ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2565 เช่น
- การรวมกลุ่มหรือมั่วสุมกันในทาง หรือสาธารณสถานใกล้ทาง พร้อมด้วยรถตั้งแต่ 5 คันขึ้นไป โดยมีการนัดหมายเพื่อแข่งรถในทาง หรือรถที่ใช้ในการรวมกลุ่มมีการดัดแปลง หรือปรับแต่งรถให้มีสภาพ ไม่ถูกต้องฯ ให้ถือว่าผู้นั้นพยายามแข่งรถในทาง
- กำหนดให้ผู้จัด โฆษณา ประกาศ ชักชวน หรือดำเนินการด้วยวิธีการใด เพื่อให้มีการแข่งรถในทางโดยไม่ได้รับอนุญาตมีความผิด และกรณีผู้รับดำเนินการดัดแปลง หรือปรับแต่งรถให้มีสภาพไม่ถูกต้อง หากรถนั้นถูกนำไปใช้ในการแข่งรถในทาง ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการแข่งรถในทาง เป็นต้น
5. ให้ทุกหน่วยเตรียมพร้อมและเพิ่มความเข้มในการระดมกวาดล้างการกระทำความผิดในห้วงเทศกาลลอยกระทง วันหยุดนักขัตฤกษ์ และเทศกาลใกล้เคียง และให้ผู้บังคับบัญชาควบคุมกำกับดูแลการปฏิบัติอย่างใกล้ชิด
6. พิจารณานำศักยภาพของเครือข่ายเด็ก เยาวชน ผู้กระทำผิด และกลุ่มเสี่ยง ที่ได้เข้ารับการอบรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรม มาสนับสนุนเจ้าหน้าที่ในการช่วยเหลือสังคมและภารกิจการป้องกันปราบปรามการแข่งรถในทางฯ
พล.ต.ท.ประจวบ กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความมุ่งหวังที่จะดำเนินการป้องกัน และปราบปรามการแข่งรถในทางและความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้บรรลุผลสำเร็จเป็นรูปธรรม จึงขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกสถานีทั่วประเทศ ทุ่มเทสรรพกำลังอย่างต่อเนื่องจริงจัง เพื่อสร้างความสงบเรียบร้อยให้แก่ประชาชนและสังคม