8 กุมภาพันธ์ 2568 จากคดี "พิรงรอง" กับ "TrueID" ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาจำคุก ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตาม ม.157 กรณีทำเอกสารรายงานการประชุมอันเป็นเท็จ แจ้งไปยังผู้ให้บริการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เรื่อง โฆษณาแทรก ผ่าน Over The Top หรือ (โอทีที) ทำให้ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ได้รับความเสียหาย เมื่อวันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา
แหล่งข่าวระดับสูงจากศาลยุติธรรมให้ความเห็นถึงผลคำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตฯ ในคดีของ อาจารย์พิรงรอง ว่า ถ้าไปดูในสาระสำคัญที่ศาลลงโทษจำคุก ไม่รอลงอาญา จะเป็นเรื่องที่จำเลยเป็นประธานในที่ประชุม พิจารณาเกี่ยวกับการตรวจสอบการแพร่เสียงแพร่ภาพผ่านการให้บริการกล่องรับ สัญญาณโทรทัศน์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และแอปพลิเคชัน True ID แต่ที่ประชุมยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้
คณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ ครั้งที่ 3/2566 ไม่ได้มีมติให้สำนักงาน กสทช. จะต้องมีหนังสือแจ้งไปยังผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการฯ โดยระบุเจาะจงถึง "TrueID" แต่ตามบันทึกรายงานการประชุมมีการระบุว่าที่ประชุมมีมติรับรองรายงานการประชุม และเห็นควรมีหนังสือแจ้งผู้ให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ อันเป็นการทำเอกสารรายงานการประชุมอันเป็นเท็จ หรือที่เรียกว่ามันไม่มีมตินี้เเต่ไปออกมติเท็จ
ก่อนหน้านี้มีหน้าห้องของ อ.พิรงรอง ก็เคยโดนทรูฟ้องในคดีลักษณะเดียวกัน จนโดนศาลตัดสินจำคุก เเต่ให้รอการลงโทษไว้มาเเล้ว เเละเจ้าหน้าที่หน้าห้องคนดังกล่าวมาเบิกความฝั่งโจทก์ ในคดีของอาจารย์พิรงรอง
ในส่วนอีกส่วนที่มีการกล่าวหาว่า ทรูเข้าถึงบันทึกการประชุมได้ยังไง ต่อไปกรรมการหรือประชุมพูดอะไรก็โดนฟ้องติดคุกได้นั้น
ต้องอย่าลืมว่า ศาลอาญาคดีทุจริตฯเป็นระบบไต่สวน เเม้คดีนี้เอกชนฟ้องเอง องค์คณะผู้พิพากษาสามารถเเสวงหาข้อเท็จจริง เอกสารรายงานการประชุมดังกล่าวศาลเอง หากไต่สวนว่าเป็นพยานเอกสารอันสำคัญในคดีก็สามารถออกหมายเรียกได้ ที่ผ่านมาในหลายคดีพยานหลักฐานเอกสารที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานรัฐ ศาลก็ออกหมายเรียกมาเองได้ เเต่ถ้าเป็นในหลายๆคดีที่ ปปช.ฟ้องเอง ปปช.ก็อาจจะใช้กฎหมาย ปปช.เรียกมาตั้งเเต่ก่อนถึงศาล ตัวอาจารย์พิรงรองเองก็ยอมรับที่พูดคำว่าล้มยักษ์หมายถึง ทรู
ส่วนเรื่องจำคุก ไม่รอลงอาญา ก็ต้องดูข้อเท็จจริงว่า คดีนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 การกระทำต้องมีเจตนาพิเศษ และต้องทุจริต ถ้อยคำในนั้นใช้ว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต”
จึงเป็นเรื่องคำพูดการกระทำที่เป็นเรื่องอาญา เเละการกระทำความผิด ศาลก็มองว่าจากการกระที่กล่าวมา ไม่ว่าจะรายงานการประชุมอันเป็นเท็จประกอบกับคำพูดในรายงานการประชุม อาจารย์พิรงรองมีเจตนาที่จะกลั่นเเกล้งเพื่อให้ทรูได้ผลตามที่ตัวเองต้องการ เพื่อให้เกิดความเสียหาย ตรงนี้คือคำว่า“ทุจริต” ในมาตรา 157 เรียกว่ามีเจตนาพิเศษในทางอาญา
ในประเด็นที่ควรจะรอการลงโทษได้โดยอ้างว่าเป็นการทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ ศาลก็คงมองว่า ข้าราชการทุกคนต้องปฏิบัติหน้าที่เพื่อปกป้องผลประโยชน์สาธารณะอยู่เเล้ว จึงเป็นคนละประเด็นกับเรื่องที่มีเจตนาจะกลั่นเเกล้งทรู
รายงานข่าวในเเวดวงกระบวนการยุติธรรมอีกท่านหนึ่ง ระบุว่า ก่อนที่ศาลอาญาคดีทุจริตฯจะอ่านคำพิพากษาในวันที่ 6 ก.พ. ศาลเคยอนุญาตเลื่อนคดีมาเเล้ว 2 ครั้ง เนื่องจาก อาจารย์พิรงรอง จำเลยยื่นขอเลื่อนตั้งเเต่เดือนพฤศจิกายน โดยให้เหตุว่า “เพื่อจะเจรจากับโจทก์” ซึ่งเข้าใจว่าตัวจำเลยเองซึ่งสู้คดีเองในศาลมาตลอด น่าจะพอดูรูปคดีรู้อยู่เเล้ว ว่าเสียเปรียบผลจะออกมาเป็นลบกับตัวเอง จึงอยากเจรจา
จนเกิดกระเเสข่าว “ถ้าอาจารย์พิรงรองลาออกจาก กสทช. ทรูจะถอนฟ้อง” ก็มีความเป็นไปได้ เพราะประเด็นนี้อาจจะเป็นเรื่องที่ขอเลื่อนฟังคำพิพากษาไปเพื่อเจรจา หรือเป็นข้อเเม้ที่มีการเสมอมาเพราะต้องอย่าลืมว่าอาจารย์พิรงรองเคยคัดค้านการควบรวมทรูกับดีเเทค ทำให้ถูกมองว่ามีประเด็นกันมานาน
ส่วนความผิดตามาตรา 157 เป็นคดีอาญาเเผ่นดินไม่ใช่ความผิดส่วนตัวถอนฟ้องได้หรือไม่นั้น คดีนี้เป็นคดีที่บริษัทเอกชนฟ้องเองสามารถถอนฟ้องได้ ส่วนเรื่องที่ว่าเป็นอาญาเเผ่นดินต้องเข้าใจก่อนว่าคำว่าความผิดอาญาเเผ่นดินคือคดีที่ไม่จำเป็นต้องมีผู้เสียหาย เป็นเจ้าทุกข์ เจ้าหน้าที่รัฐหากพบเจอก็สามารถหยิบยกมาดำเนินคดีได้เลย เเต่ถ้าเป็นความผิดส่วนตัวเช่นคดี หมิ่นประมาทฯเจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถดำเนินคดีได้ ถ้าผู้เสียหายไม่ร้องทุกข์ เเต่คดีทั้งทั้งสองประเภทสามารถถอนฟ้องได้
เเต่ถ้าเป็นคดีที่พนักงานอัยการจะถอนฟ้องจะต้องมีเหตุที่กฎหมายบัญญัติไว้ เเละในคดีบางประเภทกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจอัยการสูงสุดเท่านั้น อย่างไรก็ตามขอตั้งข้อสังเกตว่าคดีนี้เป็นคดีที่ประชาชนให้ความสนใจ เพราะหลายฝ่ายมองว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐจากนายทุน การจะวิจารณ์ได้ต้องดูรายละเอียดคำเบิกความพยานที่ขึ้นไต่สวนซึ่งจะอยู่ในส่วนของคำพิพากษาฉบับเต็มที่ควรจะนำมาเผยเเพร่เพื่อให้สาธารณชนรับทราบเข้าใจถึงเหตุผล
เพราะหลายฝ่ายเองก็ยังมองกันว่าการกระทำของอาจารย์พิรงรองเป็นการรักษาผลประโยชน์สาธารณะการตีความจะไปตีเเบบคดีปกครองอย่างเดียวไม่ได้ ที่ว่าข้าราชการทุกคนจะต้องปกป้องประโยชน์สาธารณะไม่ได้ เพราะข้าราชการก็มีหน้าที่ประจำเฉพาะงานที่ทำบางอย่างก็ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะเเต่ทำเฉพาะในส่วนหน้างานที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ ต้องมองในมุมกลับกันว่าการกระทำของอาจารย์พิรงรองในเรื่องประโยชน์สารธารณะเป็นเจตนาพิเศษ เป็นการเซอร์วิสประชาชน เพราะข้าราชการทั่วไปไม่มีเจตนาพิเศษ ต้องทำตามหน้างานอยู่เเล้ว ทำให้ประเด็นนี้คนทั่วไปมองคนตัดสินว่าอยู่ในกรอบเกินไป