svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ข่าว

ชำแหละ"กรรมการปราบผู้มีอิทธิพล"รูปแบบ"เกลือจิ้มเกลือ" หรือ "ไฟไหม้ฟาง"

พิจารณากันให้ดี คณะกรรมการชุดนี้ จะมีการออกนโยบาย กำหนดมาตรการปราบปรามมาเฟีย ผู้มีอิทธิพล โดยเฉพาะข้อ 3 ที่ระบุถึงการตรวจสอบ กลั่นกรองข้อมูล และการข่าว บุคคลต้องสงสัยที่มีพฤติการณ์ผู้มีอิทธิพล!!!

ในที่สุด"นายอนุทิน  ชาญวีรกูล" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงนามคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่2739/ 2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการป้องกันและปราบปรามผู้มีอิทธิพล 

เนื้อความ ระบุว่า ตามยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561-2580 ยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านความมั่นคง ประเด็นการรักษาความสงบภายในประเทศ เพื่อเสริมสร้างความสงบเรียบร้อยและสันติสุขให้เกิดขึ้นกับประเทศชาติบ้านเมือง และนายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566

อนุทิน ชาญวีรกูล  รองนายกฯและรมว.มหาดไทย

โดยมีนโยบายด้านความมั่นคงภายใน และความปลอดภัยในทุกพื้นที่ของประเทศ รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาภัยคุกคามเพื่อช่วยเหลือ ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับกระทรวงมหาดไทยได้มีนโยบายมุ่งเน้นการจัดระเบียบสังคมและปราบปรามผู้มีอิทธิพล นั้น

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 จึงแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการป้องกันและปราบปรามผู้มีอิทธิพล โดยมีองค์ประกอบ หน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็น ประธานกรรมการ

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายชาดา ไทยเศรษฐ์) เป็น รองประธานกรรมการ

ส่วนคณะกรรมการ ประกอบด้วย

ปลัดกระทรวงมหาดไทย,ปลัดกระทรวงกลาโหม,ปลัดกระทรวงยุติธรรม,ปลัดกระทรวงการคลัง,ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม,ปลัดกระทรวงแรงงาน,เลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร,เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน,เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ,

เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด,ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ,รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคงภายใน,อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม  ส่วน อธิบดีกรมการปกครอง เป็น กรรมการและเลขานุการ

ชำแหละ\"กรรมการปราบผู้มีอิทธิพล\"รูปแบบ\"เกลือจิ้มเกลือ\" หรือ \"ไฟไหม้ฟาง\" ขณะที่กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ประกอบด้วย รองอธิบดีกรมการปกครอง ฝ่ายความมั่นคง,ผู้อำนวยการสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง, ผู้อำนวยการสำนักกิจการความมั่นคงภายใน กรมการปกครอง, ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการกองอาสารักษาดินแดน กรมการปกครอง

สำหรับอำนาจหน้าที่

1.กำหนดนโยบาย แนวทาง และมาตรการในการป้องกันและปราบปรามผู้มีอิทธิพล

2.อำนวยการ ประสาน และบูรณาการการปฏิบัติงานของส่วนราชการและองค์กรต่างๆ ในการป้องกันและปราบปรามผู้มีอิทธิพล

3.ตรวจสอบ กลั่นกรองข้อมูล และการข่าว เกี่ยวกับบุคคลต้องสงสัยที่มีพฤติการณ์เป็นผู้มีอิทธิพล

4.เร่งรัด กำกับดูแล ตรวจสอบ ติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของส่วนราชการและองค์กรต่างๆ ในการป้องกันและปราบปรามผู้มีอิทธิพล

5.เชิญเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม ชี้แจงข้อมูล หรือส่งเอกสารหลักฐานเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการ

6.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ และคณะทำงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการป้องกันและปราบปรามผู้มีอิทธิพล

7.รายงานผลการปฏิบัติงาน ข้อเสนอแนะ และปัญหาอุปสรรคต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยทราบทุกระยะ

8.ปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย

ชำแหละ\"กรรมการปราบผู้มีอิทธิพล\"รูปแบบ\"เกลือจิ้มเกลือ\" หรือ \"ไฟไหม้ฟาง\"
ชำแหละ กก.ปราบปรามผู้มีอิทธิพล  

ความน่าสนใจของกรรมการชุดนี้ เป็นคณะกรรมการที่กำเนิดขึ้นจากกระแสข่าวกรณี"กำนันนก"ที่มีมือปืนสังหาร "นายตำรวจ" เสียชีวิตคาบ้านพักกำนัน จ.นครปฐม เป็นเหตุให้มีการตรวจสอบที่มาที่ไปก่อนลุกลามบานปลายจุดกระแสเรียกร้องจัดการขบวนการผู้มีอิทธิพล อาวุธสงคราม ยาเสพติด

ในจังหวะนั้นเอง เป็นช่วงที่รัฐบาลแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภา ในการปราบปรามกลุ่มผู้มีอิทธิพล ยาเสพติด ทำให้ "นายอนุทิน ชาญวีรกูล" รองนายกฯและรมว.มหาดไทย จากพรรคภูมิใจไทย ขานรับนโยบาย แต่งตั้งคณะกรรมการฯ พร้อมผลักดันมือไม้ ระดับรัฐมนตรีของพรรค อย่าง "ชาดา  ไทยเศรษฐ์"  รมช.มหาดไทย เป็นรองประธานคณะกรรมการ 

แน่นอนว่า บุคคลที่เป็นประธานกรรมการ คือ "อนุทิน ชาญวีรกูล" แต่หากพิเคราะห์เชิงลึก ตำแหน่งประธานกรรมการของอนุทิน อาจไม่ถูกสปอต์ไลท์สาดส่องมากเท่ากับคนที่เป็นรองประธานกรรมการ  "ชาดา ไทยเศรษฐ์" 

การแต่งตั้ง "ชาดา ไทยเศรษฐ์"  รมช.มหาดไทย มาเป็นรองประธาน มีนัยหลายประการที่ชวนให้คิดต่อ ประการแรก เพื่อแบ่งเบาภารกิจงานในกระทรวงแทน อนุทิน ชาญวีรกูล ที่ต้องรับผิดชอบหลากหลายหน่วยงาน 

อีกนัยสำคัญ มอบหมายให้ "ชาดา" เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเข้าไปจัดการแก้ปัญหาเป็นการเฉพาะ เนื่องจากประสบการณ์ความรู้สามารถของนักการเมืองผู้นี้ ผ่านสมรภูมิเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายในวงการผู้มีอิทธิพลมาแล้ว  

แฟ้มภาพ  อนุทิน ชาญวีรกูล  รองนายกฯและรมว.มหาดไทย ประชุมมอบนโยบายผู้บริหารและผวจ.ทั่วประเทศ

"กล่าวได้ว่า เป็นความแหลมคมของคนการเมืองในการเลือกคนให้ถูกกับงาน เปิดปฏิบัติการแบบเกลือจิ้มเกลือ "   

เมื่อพิจารณาอำนาจหน้าที่คณะกรรมการชุดนี้ 4 ข้อสำคัญ ตั้งแต่

1.กำหนดนโยบาย แนวทาง และมาตรการในการป้องกันและปราบปรามผู้มีอิทธิพล

2.อำนวยการ ประสาน และบูรณาการการปฏิบัติงานของส่วนราชการและองค์กรต่างๆ ในการป้องกันและปราบปรามผู้มีอิทธิพล  

3.ตรวจสอบ กลั่นกรองข้อมูล และการข่าว เกี่ยวกับบุคคลต้องสงสัยที่มีพฤติการณ์เป็นผู้มีอิทธิพล  

และ 4.เร่งรัด กำกับดูแล ตรวจสอบ ติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของส่วนราชการและองค์กรต่างๆ ในการป้องกันและปราบปรามผู้มีอิทธิพล

โดยเฉพาะข้อ 3 ที่ระบุถึงการตรวจสอบ กลั่นกรองข้อมูล และการข่าว บุคคลต้องสงสัยที่มีพฤติการณ์ผู้มีอิทธิพล ตรงนี้สอดคล้องกับที่ "อนุทิน ชาญวีรกูล" รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย เคยให้สัมภาษณ์สื่อ "ได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัด จัดทำบัญชี กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่มีพฤติการณ์เข้าข่ายผู้มีอิทธิพล"  ซึ่งต่อมา ข้อสั่งการดังกล่าว ได้มีการมอบหมายให้ "ชาดา  ไทยเศรษฐ์"  รมช.มหาดไทย ดำเนินการต่อ 

"ชาดา" รมช.มหาดไทย เคยให้สัมภาษณ์"เนชั่นทีวี" ว่า  ผู้ว่าราชการจังหวัดเริ่มทยอยส่งบัญชีรายชื่อ กำนัน ผู้ใหญบ้าน ผู้มีอิทธิพล ข้าราชการท้องถิ่น มาให้บ้างแล้ว  ท่ามกลางการจับตามองว่า เมื่อขึ้นบัญชีดำแล้ว บัญชีนี้จะนำไปดำเนินการอย่างไรต่อ จะนำไปสู่การจัดการปัญหาอิทธิพลในพื้นที่ได้แค่ไหนอย่างไร  

"ขณะที่ ข้อ 4  กำหนดให้คณะกรรมการชุดนี้ สามารถตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติงานของส่วนราชการ องค์กรต่างๆ ในการป้องกันและปราบปรามผู้มีอิทธิพล  นั่นหมายความคณะกรรมการชุดนี้ สามารถประเมินการทำงาน เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง รวมถึง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ด้วยใช่หรือไม่"

ชาดา  ไทยเศรษฐ์  รมช.มหาดไทย

นอกจากนี้ ในคำสั่งระบุว่า ให้คณะกรรมการฯ รายงานผลการปฏิบัติงาน ข้อเสนอแนะ และปัญหาอุปสรรคต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยทราบทุกระยะ 

โครงสร้างของคณะกรรมการที่ประกอบด้วย ข้าราชการระดับสูงฝ่ายความมั่นคง ไม่ว่าเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงมหาดไทย กอ.รมน. รวมถึง เลขา ปปง. เลขา ปปท. เลขา ปปส. ฯลฯ 

นอกจากชี้ให้เห็นว่า ต้องการดึงทุกหน่วยงาน กระทรวง ที่เกี่ยวข้องมาบูรณาการแก้ไขปัญหา กวาดล้างผู้มีอิทธิพล ยาเสพติด ให้เป็นไปอย่างเบ็ดเสร็จ เป็นการอำนวยความสะดวก ทั้งกำลังเจ้าหน้าที่ และการนำกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ   

อย่างไรก็ตาม  การตั้งคณะกรรมการปราบปรามผู้มีอิทธิพลฯ ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก หากแต่เคยมีการแต่งตั้งกรรมการลักษณะคล้ายคลึงกันนี้ ในรัฐบาลชุดก่อนๆ มาแล้ว   

หากย้อนกลับไป ช่วงที่รัฐบาลทักษิณทำสงครามยาเสพติด เคยมีการตั้งกรรมการฯ โดยผลตามมาจากการตั้งคณะกรรมการ คือ แนวทางปฏิบัติ การกำหนดมาตรการ  ซึ่งครั้งนั้นดูจะเป็นการใช้ยาแรงกลายเป็นเหตุ"การฆ่าตัดตอน" มีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต จนมีการฟ้องร้องตามมา กระทบถึงผู้นำประเทศขณะนั้น 

ดังนั้น การที่คณะกรรมการชุดนี้ จะกำหนดมาตรการใดๆออกมา จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ไม่ว่าเป็นการขึ้นบัญชีผู้มีอิทธิพล การกำหนดโซนผู้มีอิทธิพล อาจกระทบสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ล้วนมีบทเรียนให้ศึกษามาแล้ว 

สถานการณ์ กลุ่มผู้มีอิทธิพล คนมีสี  สมุนนักการเมือง ซ่องสุมอาวุธสงคราม  รวมถึงยาเสพติด เป็นปัญหาคู่เมืองไทยและยังอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง ชนวนเหตุให้เกิดปัญหาอาชญากรรมในรูปแบบหลากหลายที่รุนแรงมากขึ้น

เมื่อตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแล้ว จะตอบโจทย์ให้สถานการณ์เหล่านี้ลดลงไปได้มากน้อยแค่ไหน เพียงใด 

เพื่อไม่ให้สังคมออกมาประทับยี่ห้ออีกครั้งว่า เป็นเพียงแค่ "คณะกรรมการไฟไหม้ฟาง"