อีกหนึ่งโครงการที่น่าสนใจ เป็นโครงการเร่งด่วนในตอนนี้ นั่นก็คือ "โครงการบัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกโรคได้ทุกที่" เตรียมนำร่องระยะเริ่มต้นใน 4 เขตสุขภาพ 27 จังหวัด โดยทางด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงอย่างเป็นทางการครั้งแรกว่า เตรียมเดินหน้านโยบายดิจิทัลสุขภาพ
นั่นก็คือ โครงการบัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกโรคได้ทุกที่ ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2567 ระยะสั้น และเร่งด่วน (Quick Win)
เปิดเงื่อนไขในการเข้ารับบริการ
ประชาชนในสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค สามารถไปรับบริการในสถานพยาบาลได้ทุกที่ในทุกโรค ไม่เฉพาะ รพ.ตามสิทธิเท่านั้น โดยเบื้องต้นครอบคลุมเฉพาะ รพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุขก่อน เนื่องจากโรงพยาบาลใน 4 เขตสุขภาพมีการทำฐานข้อมูลผู้ป่วยในระบบดิจิทัลอยู่แล้ว เหลือเพียงแค่นำของแต่ละ รพ.ในเขต นำข้อมูลขึ้นสู่คลาวด์ เมื่อผู้ป่วยไปรับบริการที่ รพ.สังกัดสาธารณสุขในเขตเดียวกัน แพทย์ที่ได้รับอนุญาตจะสามารถดูข้อมูลคนไข้ได้
เริ่มเปิดให้บริการได้เมื่อไร
เนื่องจากโรงพยาบาลทุกแห่งในเขตสุขภาพนำร่องข้างต้นมีความพร้อมอยู่แล้ว ซึ่งหลังจากเชื่อมโยงข้อมูลได้หมดจะช่วยอำนวยสะดวกให้ประชาชนสามารถเข้ารับการรักษาข้ามโรงพยาบาลได้โดยไม่ต้องมีใบส่งตัว โดยคาดว่า จะเริ่มให้บริการรูปแบบนี้ได้ภายใน 100 วันเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2567 ให้กับประชาชน
4 เขตสุขภาพ มีจำนวน 27 จังหวัด
เขตสุขภาพที่ 1 ครอบคลุม 8 จังหวัด
เขตสุขภาพที่ 4 ครอบคลุม 8 จังหวัด
เขตสุขภาพที่ 9 ครอบคลุม 4 จังหวัด
เขตสุขภาพที่ 12 ครอบคลุม 7 จังหวัด
นพ.โอภาส ให้สัมภาษณ์ถึงการพัฒนาด้านทันตกรรม ให้เป็นศูนย์ หรือเป็นรพ.ทันตกรรมเพิ่มขึ้น ว่า การเตรียมพร้อมยกระดับทันตกรรมนั้น ในปีถัดไปจะสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และท่านรัฐมนตรีชลน่าน ศรีแก้ว ที่จะให้มีการยกระดับการบริการประชาชน หรือ "30 บาทพลัส" ซึ่งชื่อนี้เรียกเป็นชื่อเล่นก่อน โดยทันตกรรมก็เป็นอีกงานหนึ่ง ที่เราจะยกระดับการให้บริการพี่น้องประชาชน และหากเราสามารถตั้ง รพ.ทันตกรรมอย่างน้อยในทุกจังหวัดได้ในปีหน้า ส่วนต่อไปเมื่องานขยายไปอย่างรวดเร็วกว้างขวางก็อาจจะพัฒนาเป็น “กรมทันตกรรม” เรื่องนี้ก็ต้องว่ากันในอนาคต
ด้าน นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 8 กล่าวว่า การใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ สำหรับเขตสุขภาพที่ 8 นั้น ไม่ใช่แค่การบริการด้านทันตกรรมเท่านั้น แต่เรายังจัดระบบการบริการทุกกลุ่มโรค เพราะหน่วยบริการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) มีระบบเชื่อมโยงกันอยู่แล้ว จึงได้จัดรูปแบบการบริการที่เรียกว่า “R8 Anywhere” ดำเนินการภายในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 8 ครอบคลุม 7 จังหวัด ทำมาแล้วประมาณ 2 ปี ทำให้ประชาชนสิทธิบัตรทอง ใช้เพียง “บัตรประชาชนใบเดียว” สามารถรับการรักษาได้ทุกโรคในโรงพยาบาลสังกัด สป.สธ. 7 จังหวัด 88 แห่งตั้งแต่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) โรงพยาบาลชุมชน(รพช.) โรงพยาบาลทั่วไป(รพท.) และโรงพยาบาลศูนย์(รพศ.)
นพ.ปราโมทย์ กล่าวอีกว่า เขตสุขภาพที่ 8 จึงเป็นเขตที่นำร่องในการดำเนินการตอบรับนโยบายยกระดับ 30 บาท ด้วยการใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ซึ่งเราทำระบบข้อมูลของผู้ป่วยอัพโหลดไว้ในระบบคลาวด์ (Cloud) ข้อมูลจึงเชื่อมกันทั้งหมด จะทำให้ผู้ที่ได้รับอนุญาตสามารถเข้าถึงข้อมูลได้เหมือนกันทั้ง 88 แห่ง เมื่อคนไข้ไปรับบริการที่รพ.ใดแพทย์ก็สามารถดูข้อมูลและประวัติการรักษาของคนไข้ในรพ.อื่นได้ เป็นการแก้ปัญหาการต้องไปเอาใบส่งตัว ซึ่งทำให้ประชาชนไม่สะดวก เราทำเพื่อตอบโจทย์ประชาชน และอนาคตก็จะพัฒนาเชื่อมข้อมูลกับสถานพยาบาลสังกัดสธ.ที่อยู่ในกรมอื่นด้วย เช่น ศูนย์มะเร็ง หรือรพ.จิตเวช เป็นต้น
“ช่วงแรกเริ่มจากมะเร็ง ขยับมาเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน ทันตกรรมและตอนนี้ใช้กับทุกโรค เพราะบางครั้งคนไข้ไปทำงานอยู่ที่อื่น ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ของรพ.ที่ระบุไว้ตามสิทธิ ซึ่งสิทธิ30บาทก็ควรจะเหมือนสิทธิข้าราชการที่ไปรักษาที่ไหนก้ได้ทั่วไทย เพียงแต่สิทธิข้าราชการข้อมูลยังไม่มีการเชื่อมกัน” ผู้ตรวจฯ เขตสุขภาพที่ 8 กล่าว
นอกจากนี้ กำลังอยู่ระหว่างการนำระบบไอทีมาใช้ ด้วยการพัฒนาระบบยืนยันตัวตัวของคนไข้เหมือนกับธนาคาร เพื่อจะได้นำข้อมูลการรักษาพยาบาลของแต่ละคนที่เข้ารับบริการในรพ.แต่ละแห่ง ส่งกลับมายังตัวคนไข้ทำให้รับทราบได้ว่าตนเองเคยเข้ารับบริการรักษาที่ไหน ได้รับยาอะไร เป็นการคืนข้อมูลกลับให้กับคนไข้
ศูนย์ทันตกรรม ยกระดับบริการผู้ป่วยรองรับ '30 บาทพลัส' รักษาทุกที่
ขณะที่ ทพญ.ชลลดา แดงสุวรรณ ทันตแพทยชำนาญการพิเศษ (เฉพาะทาง) ทันตกรรมประดิษฐ์ ในฐานะรองหัวหน้ากลุ่มงานทันตกรรมศูนย์ทันตกรรม รพ.หนองคาย กล่าวว่า การยกระดับศูนย์ทันตกรรมเกิดขึ้นได้เพราะทาง รพ.หนองคาย มีความพร้อม เมื่อเปิดให้บริการก็ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ ซึ่งปัญหาในการให้บริการขณะนี้ คือ คิวเฉพาะทางจะยาว เพราะทันตแพทย์เฉพาะทางยังมีจำนวนน้อย เช่น การครองรากฟัน ที่มีทันตแพทย์ 1 ท่าน ประกอบกับคนไข้มีความรู้ความเข้าใจในการเก็บฟันไว้มากขึ้น ไม่ตัดสินใจถอนแต่จะทำการครองรากฟันไว้ ทำให้มีคิวยาวขึ้น แต่ขณะนี้มีการคุยกันภายในระบบ รพ. เพื่อพัฒนาเขตสุขภาพที่ 8 ให้สามารถรองรับคิวผู้ป่วยครองรากฟัน โดยให้จองคิวจากส่วนกลาง รพ.ไหนคิวเร็วกว่าก็สามารถไป รพ.นั้นได้เลย
“การยกระดับศูนย์ทันตกรรม เป็นการตอบโจทย์นโยบายเรื่องยกระดับบัตรทอง กับการรักษาที่ไหนก็ได้ โดยผู้ป่วยสามารถเดินเข้ามารักษาด้วยการใช้บัตรประชาชนใบเดียว ได้ทุกสิทธิ ทั้งบัตรทอง ประกันสังคม และข้าราชการ ซึ่งผู้ป่วยยังสามารถจองคิวออนไลน์ได้ด้วย” ทพญ.ชลลดา กล่าวทิ้งท้าย
“ภายใต้นโยบายนี้ประชาชนในสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค จะสามารถไปรับบริการในสถานพยาบาลได้ทุกที่ในทุกโรค ไม่เฉพาะ รพ.ตามสิทธิเท่านั้น เบื้องต้นจะครอบคลุมเฉพาะ รพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุขก่อน เนื่องจาก รพ.ใน 4 เขตสุขภาพดังกล่าว มีการทำฐานข้อมูลผู้ป่วยในระบบดิจิทัลอยู่แล้ว เหลือเพียงการนำของแต่ละ รพ.ในเขตนำข้อมูลขึ้นสู่คลาวด์ จากนั้นเมื่อผู้ป่วยไปรับบริการที่ รพ.สังกัด สธ.ในเขตเดียวกัน แพทย์ที่ได้รับอนุญาตก็จะสามารถดูข้อมูลคนไข้ได้ คาดว่าจะเริ่มให้บริการรูปแบบนี้ได้ภายใน 100 วัน ตั้งใจให้เป็นของขวัญปีใหม่ประชาชน” นพ.ชลน่าน กล่าว
นพ.ชลน่าน กล่าวด้วยว่า
ส่วนการเชื่อมประสานรูปแบบนี้ไปยังสถานพยาบาลนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขนั้น ในอนาคตเมื่อมีคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และนพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นเลขานุการ ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่ดูนโยบายระบบสุขภาพของประเทศที่บูรณาการทุกหน่วยงาน ก็จะพิจารณาดำเนินการในส่วนเชื่อมต่ออื่นๆ