กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ขอเชิญชวนเยาวชนสายอาชีพ ที่จบการศึกษา ปวช. ปวส. / อนุปริญญา และสถานศึกษาร่วมสมัคร-เสนอชื่อผู้ขอรับทุนโครงการทุนพัฒนาเต็มศักยภาพสายอาชีพ "ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ" ปีการศึกษา 2566 ตั้งแต่วันนี้ ถึง 10 มิถุนายน 2566
"ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ" เป็นนามที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทุนนี้เป็นทุนแรกของประเทศไทยที่เติมเต็มโอกาสให้แก่เด็กช้างเผือกสายอาชีพ/อาชีวศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาทุนมนุษย์ โดยสร้างโอกาสให้เยาวชน อายุ 15-24 ปี ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสให้ได้เรียนต่อในระดับปริญาตรีขึ้นไป ในสาขาที่ตลาดแรงงานต้องการ ควบคู่กับการพัฒนาทุนมนุษย์สายอาชีพให้มีคุณภาพสูง และแก้ปัญหาความยากจนข้ามรุ่น
"ศาสตราจารย์นักสิทธ์ คูวัฒนาชัย" ประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับสูงกว่าภาคบังคับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2562 มีผู้ได้รับทุนไปแล้ว 138 ทุน ในสถาบันต่าง ๆ จำนวน 45 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งทุนนี้มองภาพใหญ่ ด้วยการพัฒนาเยาวชนที่มีศักยภาพสูงจากสายอาชีวศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ให้ได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก ในสาขาที่เป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ เพื่อเป็นกำลังสำคัญให้ประเทศไทยไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง
จากการทำงานของ กสศ. พบว่าเยาวชนที่มาจากครัวเรือนยากจน ด้อยโอกาส ร้อยละ 15 ล่างสุดของประเทศ จะมีโอกาสได้เรียนในระดับปริญญาตรีค่อนข้างน้อย เนื่องจากสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาที่เกินกว่าการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ จากโจทย์นี้ กสศ. จึงได้พัฒนาระบบทุนการศึกษาขึ้นมา เพื่อสร้างโอกาสให้เยาวชน
"นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์" ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ มุ่งสร้างค่านิยมและสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของอาชีวศึกษาให้กับประเทศ โดยมองว่า ถ้าสามารถมีระบบการส่งเสริมและบ่มเพาะนักศึกษาที่มาจากสายอาชีวศึกษาที่ดี
เขาจะสามารถเป็นกำลังสำคัญของประเทศได้ในสายอุตสาหกรรม เป็นบุคลากรชั้นนำผ่านการศึกษาในระดับปริญญาตรี โท หรือ เอก จะสามารถกลับมาพัฒนาประเทศในกลุ่มต่าง ๆ ได้มากขึ้น รวมถึงหลายคนมีแรงบันดาลใจในการเป็นครูอาชีวศึกษาด้วย ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญต่อไป
นอกจากนี้ ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ เป็น LAB ซึ่งเป็นบทบาทของกสศ.ในแง่ของการจุดประกาย และสร้างการเปลี่ยนแปลงในลักษณะตัวแบบที่เป็นการทดลอง วิจัยเชิงปฏิบัติการและข้อเสนอเชิงนโยบายไปพร้อมกัน ที่จะทำให้เห็นว่า การศึกษาที่ไร้รอยต่อตั้งแต่ ปวช. ปวส. ตรี โท เอก มีเส้นทางอย่างไร ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ ต้องการให้เยาวชนที่เรียกว่า ช้างเผือก ประสบความสำเร็จมากที่สุด ถือเป็นการลดความเหลื่อมล้ำอย่างหนึ่ง รวมถึงข้อค้นพบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น กสศ.จะนำเสนอสู่ภาคนโยบาย เพื่อให้เห็นว่า ไม่ใช่แค่ให้เด็กเข้าเรียน แต่ต้องให้รอดและประสบความสำเร็จ ควรเป็นอย่างไร
"เราเชื่อว่า ถ้าเยาวชนที่มาจากครอบครัวที่ฐานะยากจน ยากลำบาก สามารถเข้าเรียนในระดับปริญญาตรีได้มากขึ้น ก็จะนำไปสู่การยุติความยากจน และเป็นการพัฒนาทุนมนุษย์ด้วย ทุนที่เราให้แม้จำนวนไม่เยอะ ปีละ 40 ทุน แต่เป็นทุนที่พยายามทำตัวแบบ เรื่องของระบบทุนการศึกษาที่จะช่วยยุติความยากจนข้ามรุ่นด้วย" นางสาวธันว์ธิดา กล่าว
"นางสาวกนกอร ชมชาติ" ครูวิทยาลัยการอาชีพอัมพวา นักศึกษาทุนพระกนิษฐา รุ่นที่ 1 และนางสาวปาริษา ชายกุล นักศึกษาปริญญาโท สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยศิลปากร นักศึกษาทุนพระกนิษฐา รุ่นที่ 2 ซึ่งได้ร่วมแชร์ประสบการณ์นักศึกษาทุน "โอกาสทางการศึกษา ชีวิตและความฝัน" บอกว่า ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพช่วยพลิกชีวิต เติมเต็มความฝันและเสริมศักยภาพให้ความตั้งใจในการศึกษาต่อในระดับปริญญาได้กลายเป็นความจริง พร้อมฝากถึงน้อง ๆ เยาวชนที่จะสมัครเข้ารับทุนในปีนี้ว่าขอให้ตั้งใจและมุ่งมั่นในการทำตามความฝัน พยายามเตรียมเอกสารและเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการสัมภาษณ์ทุน เพราะนี่อาจทำให้ความฝันได้กลายเป็นความจริง เช่นเดียวกับเธอทั้ง 2 คน
ด้าน"ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปานเพชร ชินินทร" อนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับสูงกว่าภาคบังคับ เปิดเผยถึงคุณสมบัติของผู้ขอรับทุน ดังนี้
1. เป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ มีรายได้เฉลี่ยครัวเรือนต่อคนต่อเดือน ไม่เกิน 6,000 บาท หรือเป็นผู้ด้อยโอกาส และอายุไม่เกิน 25 ปีบริบูรณ์
2. สำเร็จการศึกษา ปวช.หรือ ปวส. / อนุปริญญา ในปีการศึกษา 2565
3. ต้องมีผลการเรียนเฉลี่ยสะสม ไม่ต่ำกว่า 3.00 และมีผลการเรียนอยู่ในลำดับไม่เกินร้อยละ 20 บน ของสาขาที่จบการศึกษา
4. มีประวัติดีเด่น หากมีผลงานนวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับชาติหรือระดับภาค จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ
5. ได้รับการคัดเลือกให้เข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีหลักสูตร 4 ปี หรือหลักสูตรต่อเนื่องหรือเทียบโอน 2 – 3 ปี ภาคปกติ ชั้นปีที่ 1 ในปีการศึกษา 2566 ในสาขาต่อไปนี้
1. สาขาที่เป็นเป้าหมายหลักในการพัฒนาประเทศ เช่น อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ (First S-Curve) อุตสาหกรรมยานยนต์ใหม่, อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ, เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ, อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม, การบินและโลจิสติกส์, การแพทย์ครบวงจร และ ดิจิทัล
2. สาขาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science, Technology, Engineering, Mathematics: STEM) และเทคโนโลยีดิจิทัล
โดยสามารถสมัครได้ 2 รูปแบบ คือ 1. สมัครด้วยตนเอง และ 2. สถานศึกษาในระดับอาชีวศึกษา เป็นผู้เสนอชื่อผู้ขอรับทุน โดยเสนอได้สาขาละไม่เกิน 5 คน ที่ www.ทุนพระกนิษฐา.com หากได้รับคัดเลือกผู้รับทุน จะได้รับค่าใช้จ่ายรายเดือน 10,000 บาท/เดือน , ค่าธรรมเนียมการศึกษา 40,000 บาท/ปี , ค่าอุปกรณ์การเรียน 10,000 บาท (เบิกจ่ายตามจริง) และสนับสนุนการทำโครงงาน/วิจัย ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี
ดาวน์โหลด เอกสารประกาศสํานักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เรื่อง โครงการทุนพัฒนาเต็มศักยภาพสายอาชีพ “ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ” ปีการศึกษา 2566
https://bit.ly/ทุนพระกนิษฐา