svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ข่าว

โปรดเกล้าฯพระราชทาน รางวัลเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๖๕ 

31 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออกแทนพระองค์ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2565

โปรดเกล้าฯพระราชทาน รางวัลเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๖๕ 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออกแทนพระองค์ พระราชทานพระราชวโรกาสให้ ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล รองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๖๕ เฝ้าทูลละอองพระบาท รับพระราชทานรางวัล ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๖๖ เวลา ๑๖.๑๙ น.

โปรดเกล้าฯพระราชทาน รางวัลเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๖๕ 

ในปี ๒๕๖๕  มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลทั้งสิ้น ๘๘ ราย จาก ๓๔ ประเทศ ก่อนประกาศรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕  สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศ.นพ.ราล์ฟ เอ. ดีฟรอนโซ ศาสตราจารย์สาขาวิชาเบาหวาน ภาควิชาอายุรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเท็กซัส ซานอันโตนิโอ รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา และสาขาการสาธารณสุข ได้แก่ นพ.ดักลาส อาร์. โลวี รองผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ดร.จอห์น ที. ชิลเลอร์ นักวิจัยดีเด่น รองหัวหน้าห้องปฏิบัติการมะเร็งระดับเซลล์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา และ ศ.นพ.เอียน เอช. เฟรเซอร์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ เครือรัฐออสเตรเลีย แต่ละรางวัลประกอบด้วยเหรียญรางวัล ประกาศนียบัตร และเงินรางวัล ๑๐๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐ

เนื่องจาก ศ.นพ.เอียน เอช. เฟรเซอร์ ไม่สามารถมาเฝ้าทูลละอองพระบาทรับพระราชทานรางวัลได้ จึงขอพระราชทาน พระราชานุญาตเบิกผู้แทน คือ นางสาวแอนเจลา เจน แม็กดอนัลด์ เอกอัครราชทูตเครือรัฐออสเตรเลียประจำประเทศไทย เฝ้าทูลละอองพระบาทรับพระราชทานรางวัลแทน

การนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำรัส ความว่า

“ในการดูแลสุขภาพอนามัยของมวลมนุษยชาตินั้น การป้องกันไม่ให้เกิดโรคและภาวะแทรกซ้อนในบางโรค มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการรักษาโรคโดยตรง ดังเช่นผลงานของ ศ.นพ.ราล์ฟ เอ. ดีฟรอนโซ ที่ศึกษาพยาธิสรีรวิทยาโรคเบาหวาน ชนิดที่ ๒ จนสามารถรักษาและควบคุมโรคไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ กับผลงานของ นพ.ดักลาส อาร์. โลวี ดร.จอห์น ที. ชิลเลอร์ และ ศ.นพ.เอียน เอช. เฟรเซอร์

อันเป็นงานที่ต่อยอดจากผลงานของศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ฮารัลด์ ซัวร์ เฮาเซ่น ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการสาธารณสุข ประจำปี ๒๕๔๘ จากการค้นพบเชื้อไวรัสฮิวแมนแปบปิลโลมา หรือเอชพีวี ซึ่งเป็นสาเหตุการเกิดมะเร็งปากมดลูก โดยสามารถคิดค้นวัคซีนต้านไวรัสชนิดนี้สำเร็จ และนำไปใช้อย่างกว้างขวางทั่วโลกในปัจจุบัน

จึงขอแสดงความนิยมชื่นชมด้วยอย่างยิ่งที่ท่านได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๖๕  ทั้งเต็มใจยินดีที่จะกล่าวว่าผลงานอันเกิดจากความวิริยอุตสาหะและเสียสละอดทน ของทุกท่านเป็นการเสริมสร้างความเจริญก้าวหน้าอันยิ่งใหญ่ให้แก่การแพทย์และการสาธารณสุขของโลก ก่อให้เกิดประโยชน์อันไพศาลแก่มวลมนุษยชาติอย่างแท้จริง”

โปรดเกล้าฯพระราชทาน รางวัลเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๖๕ 

ต่อมาเวลา 18.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ไปในงานพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำเป็นเกียรติแก่ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ.2565 พร้อมคู่สมรส ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร ในพระบรมมหาราชวัง

ศ.นพ.ราล์ฟ เอ. ดีฟรอนโซ ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ สาขาการแพทย์ กล่าวว่า “สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีแก่วงการแพทย์ไทย ตัวผมน้อมนำพระองค์เป็นแบบอย่าง โดย ๒๐ ปีที่ผ่านมา คิดค้นยารักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ ๒ และสร้างศูนย์ช่วยผู้ป่วยยากลำบาก จึงเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เจริญรอยตามพระองค์”


โปรดเกล้าฯพระราชทาน รางวัลเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๖๕ 

ด้าน นพ.ดักลาส อาร์. โลวี พร้อมด้วย ดร.จอห์น ที. ชิลเลอร์ ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ สาขาการสาธารณสุข กล่าวร่วมกันว่า

วัคซีนป้องกันเอชพีวีที่เป็นสาเหตุการเกิดมะเร็งปากมดลูกที่เราพัฒนา ช่วงแรกคนไม่เชื่อมั่นเช่นกัน แต่สุดท้ายพิสูจน์จนคนยอมรับ คนเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกกันมาก ปัจจุบัน มีวิธีรักษาคือการฉีดวัคซีนป้องกันและการตรวจคัดกรองโรค หวังว่าหลังจากนี้ เด็กและสตรี จะได้รับการฉีดวัคซีนและตรวจ คัดกรองมะเร็งปากมดลูกมากขึ้น ขณะที่ประเทศไทยต้องถือว่าประสบความสำเร็จในการฉีดวัคซีนและตรวจคัดกรองเด็ก สตรี และผู้สูงวัย

 

“หลักการทำงานของเราคือการมีเพื่อนร่วมงานเก่งและมีความสามารถ จะทำให้ผลงานวิจัยได้รับการยอมรับและมีคุณภาพ อีกทั้งต้องหาสิ่งที่จำเป็นที่จะวิจัย เพราะจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่มนุษยชาติ รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับพระราชทานรางวัลนี้”

logoline