svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ข่าว

"เลือกตั้ง66" จุดยืน"พรรคการเมือง"ต่อปม"ธุรกิจน้ำเมา"ชี้วัดคุณภาพสังคม

01 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ในขณะที่จะมีการ"เลือกตั้ง66" พรรคการเมืองต่างๆเปิดนโยบาย ท่ามกลางคำถามของกลุ่มผู้รณรงค์ให้เห็นถึงพิษภัยจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปถึงพรรคการเมืองต่างๆ มีจุดยืนต่อธุรกิจน้ำเมาอย่างไร

1 มกราคม 2566   "การเลือกตั้ง 66"  กำลังจะมีขึ้นเร็วๆนี้ ในฐานะที่ผู้เขียนทำงานรณรงค์แก้ปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มามากกว่า 10 ปี ได้ติดตามการดำเนินงานของธุรกิจและนโยบายทางการเมืองเพื่อจะได้รู้เขารู้เรา ประเมินสถานการณ์และเป็นปากเสียงให้กับผู้ได้รับผลกระทบนั้น ร่องรอยสำคัญที่หาได้ง่าย คือ ในรายงานผลประกอบการของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่ ที่ทำให้เราเห็นและมีคำถามต่อสิ่งที่ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมด ได้ประกาศต่อสาธารณะ กับความเป็นจริงที่เห็น

 

กรณีศึกษาของธุรกิจแอลกอฮอล์รายใหญ่  ที่จะหยิบยกมาอธิบายเพราะมีหลักฐานชัดเจน 

 

เริ่มจากการประกาศนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร มีหัวข้อหลักในการรับผิดชอบสังคม ข้อที่ 1 คือ "ยึดมั่นว่าความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรเป็นหัวใจของธุรกิจ"  ซึ่งได้แสดงว่าจะแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นข้อที่หนึ่ง และในข้อย่อยต่างๆ ที่เป็นสาระสำคัญ คือ ข้อที่ 2  ประกาศว่าจะเป็นองค์กรที่ร่วมใน "เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ" และข้อ 3 "เป็นบรรษัทพลเมืองที่ดีของโลก ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายมีคุณภาพชีวิตที่ดี” ส่วนข้อ 6 ได้อ้างถึงสิทธิมนุษยชน ว่า ดำเนินการให้แน่ใจว่าไม่มีการ กระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน"


อย่างไรก็ตาม ในเมื่อสินค้าชนิดนี้เป็นสินค้าไม่ปกติธรรมดา เป็นสารเสพติดเหมือนกับบุหรี่ กัญชา สร้างปัญหาสุขภาพและสังคม จึงขอตั้งคำถามว่า บริษัททั้งหลายมีธรรมาธิบาลในการรับผิดชอบต่อปัญหาของตนเอง อย่างไร? 

 

"เลือกตั้ง66" จุดยืน"พรรคการเมือง"ต่อปม"ธุรกิจน้ำเมา"ชี้วัดคุณภาพสังคม

 

เพราะเรายังเห็นการทำการตลาดที่ไม่มีความรับผิดชอบตามที่กล่าวอ้าง โดยกฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์ยกเว้นให้สามารถโฆษณาได้แต่ไม่ใช้ แต่ทำการตลาดโดยใช้ตราโลโก้แบบเดียวกันกับเบียร์แต่โฆษณาแทนในน้ำแร่  และโซดา ของธุรกิจรายใหญ่ หรือ น้ำดื่มของธุรกิจเหล้าต่างประเทศชื่อดัง 

ที่ทราบจากเรื่องเล่าว่า สั่งผลิตแค่ล็อตเดียว อย่างนี้เรียกว่ากำลังรับผิดชอบต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือสิทธิมนุษยชน หรือ? เพราะการกระทำดังกล่าว คือการโฆษณาอำพรางสินค้าตนเองไม่ให้ประชาชนสงสัยว่าสินค้าแอลกอฮอล์นั้นมีส่วนในการสร้างความยากจน สร้างความไม่เท่าเทียมในการศึกษา ทำลายสุขภาพประชาชนและระบบสาธารณสุข สร้างความไม่เท่าเทียมให้เพิ่มขึ้น เป็นต้น

 

สร้างปัญหาเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนกว่า 13 ข้อใน 17 ข้อเป้าหมาย ซึ่งองค์กร Movendi International  ได้เปิดโปงให้เห็นเบื้องหลังดังกล่าว แต่เรื่องที่ย้อนแย้ง เมื่อกรณีศึกษาเฉพาะธุรกิจรายใหญ่  ได้ใช้ช่องทางสร้างภาพลักษณ์โดยเข้าเป็นสมาชิกธุรกิจเพื่อเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ แล้วนำเอาผลการทำกิจกรรมสร้างภาพลักษณ์ต่างๆ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน  คำถามก็คือ ธุรกิจยักษ์ใหญ่ ควรจะนำเสนอผลกระทบต่อสินค้าตนเองที่มีผลต่อเป้าหมายความยั่งยืน ด้วยหรือไม่ ?
   

ทั้งนี้ ผลกระทบที่ว่านั่น ดูได้จากรายงานวิจัยการศึกษาต้นทุนผลกระทบทางสังคมจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย  โดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา รศ.ดร.ภญ.มนฑรัตม์ ถาวรเจริญทรัพย์ และคณะ ที่ประเมินในปี 2564 มีมูลค่าสูงถึง 165,450 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.02 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และคิดเป็นมูลค่า 2,500 บาทต่อหัวประชากร แสดงว่า สิ่งที่ธุรกิจน้ำเมารายใหญ่  (กำไร 3 หมื่นล้าน) และบริษัทใหญ่เล็กต่างๆ (คาดว่าจะกำไร รวม 1หมื่นล้านบาท)  ประกาศผลกำไรรวมคิดง่ายๆ ที่ 40,000 ล้านบาท จะมีสัดส่วนค่าความสูญเสียในอัตรา กำไร 1 บาท ค่าความสูญเสีย 4 บาท โดยที่สังคมและรัฐจะต้องจ่ายทั้งเป็นเม็ดเงิน ชีวิตลมหายใจและคราบน้ำตาแผลในใจ


ถ้าเรายอมรับว่าแอลกอฮอล์ยังต้องมีผลิตและขายต่อไป แต่อะไรคือความเป็นธรรม ความเท่าเทียม การลดความเหลื่อมล้ำที่สังคมได้รับจากบริษัทที่ผลิตสินค้าเหล่านี้ ?

 

"เลือกตั้ง66" จุดยืน"พรรคการเมือง"ต่อปม"ธุรกิจน้ำเมา"ชี้วัดคุณภาพสังคม

กล่าวมาถึง"นโยบายพรรคการเมือง" เพื่อแก้ปัญหาการผูกขาด การลดความเหลื่อมล้ำ หรือสร้างความเป็นธรรม หรือความเท่าเทียม โดยการเปิดเสรีสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงมีคำถามว่า คงไม่ใช่เฉพาะการแก้กฎหมายเพื่อให้สามารถผลิตได้เสรี รายย่อยก็ผลิตได้เพื่อจะลดการผูกขาด หรือ จะแก้กฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์เพื่อจะให้สามารถโฆษณาลดแลกแจกแถมดื่มขายที่ไหนก็ได้ เพื่อให้รายย่อยจะได้ขายสู้กับบริษัทผูกขาดเหล่านี้ แค่นั้นใช่หรือที่จะแก้ไขความเหลื่อมล้ำได้?
 

นี่คือความเป็นธรรม หรือความเท่าเทียมที่สังคมเรียกร้องอย่างแท้จริง อย่างนั้นหรือ? หรือนี่คือความเท่าเทียมที่เราอยากได้ คือ แค่เท่าเทียมที่จะผลิตและโฆษณาให้ได้เท่ากันกับรายใหญ่ และความเท่าเทียมของผู้ได้รับผลกระทบและสังคมที่ได้รับความสูญเสีย อยู่ที่ไหน?

 

ความเป็นธรรมหรือเท่าเทียมในด้านคุ้มครองประชาชน คือ ผู้บริโภคที่ดื่ม และผู้บริโภคที่ไม่ได้ดื่ม ทั้งคู่ที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าของบริษัทเหล่านี้ ที่จะได้รับการคุ้มครอง และการได้รับการเยียวยาจากสินค้าที่ผลิตออกมาทั้งรายใหญ่และรายย่อย มีหรือไม่?

 

คงไม่ใช่แค่ผู้ผลิตรายย่อยไม่กี่พันรายที่นักการเมืองหลายพรรคได้ยกมาอภิปรายในสภาฯ ว่าจะได้ประโยชน์จากการผลิตที่เสรี !! ที่น่าเศร้าใจ คือ ไม่มีใครคัดค้านหรืออภิปรายเสนอข้อมูลผลกระทบเพื่อช่วยถ่วงดุลผลกระทบที่ตามมา

 

ทำไม เราไม่เสนอให้บริษัทที่ทำกำไรบนปัญหาทุกขภาวะสังคม ต้องเอากำไรเหล่านี้มาจ่ายให้กับผู้ได้รับผลกระทบ?

 

ทำไม เรามุ่งแก้ไขกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้อ่อนแอลงเพื่อประโยชน์คนกลุ่มเล็กๆ โดยละเลยประชาชนทั้งประเทศที่กฎหมายฉบับนี้คุ้มครองอยู่ ?

 

ทำไม เราไม่หามาตรการที่จะจำกัดการผูกขาด โดยกฎหมายการแข่งขันทางการค้าที่ต้องนำไปสู่ภาคปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การลดการผูกขาดที่แท้จริง ?

 

และความเหลื่อมล้ำทางนโยบายที่รัฐบาลและพรรคการเมือง เอื้อประโยชน์ให้กับทุนขนาดใหญ่ เช่น การที่ผู้บริหารบริษัทรายใหญ่ นั่งหัวโต๊ะในโครงการรัฐ ที่อาจจะเกิดการเอื้อประโยชน์ต่อภาคธุรกิจหรือไม่ เช่น อาจทำให้ไม่ขึ้นภาษีเหล้าขาว เพราะเป็นเจ้าของธุรกิจเหล้าขาวรายใหญ่และทำกำไรมากมาย หรืออาจจะเกิดความเกรงใจละเลยไม่บังคับใช้กฎหมาย จนสร้างความเหลื่อมล้ำโดยทุนใหญ่ได้

 

ประโยชน์ ซึ่งลักษณะแบบนี้ ทางฝั่งการเมืองได้วิเคราะห์และนำเสนอนโยบายแก้ปัญหานี้หรือไม่ ?

 

ดังนั้น ในกระแสของการพัฒนาประเทศในท่ามกลางวิกฤตนี้ ในโอกาสปีใหม่ 2566 นี้ ขอเราลดการซ้ำเติมคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยการแก้กฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์ให้อ่อนแอลง และขอให้มองผลกำไรมหาศาลที่ไทยเบฟและบริษัทอื่นๆ ได้รับ หาทางทำอย่างไรเอากำไรนั้นกลับมาเยียวยาลูกค้าและประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

 

รวมทั้ง ขอให้มุ่งมั่นที่จะลดความผูกขาดโดยการใช้มาตรการกฎหมาย พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 นี่คือความเป็นธรรม และความเท่าเทียมที่เราต้องทำให้เกิดขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำที่มีประชาชนเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่หรือ?


ปล.ผู้เขียนใช้คำว่า เท่าเทียม, เป็นธรรม และความเหลื่อมล้ำ ไปพร้อมๆ กัน เพราะสังเกตว่าฝ่ายที่ต้องการเปิดเสรีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะใช้คำทั้งสามตามที่ต้องการเกิดขึ้น เช่น ถ้าต้องการแก้ไขกฎหมายการผลิตเสรีเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม ที่รายย่อยจะได้โอกาสผลิตเท่ารายใหญ่ แต่ถ้าจะเสนอแก้ไขอัตราการเสียภาษีก็ใช้คำว่า เสนอให้เก็บภาษีที่เป็นธรรม รายย่อยควรเก็บคนละอัตรากับรายใหญ่เพราะฐานรายได้ไม่เท่ากัน ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ในมุมมองที่มาจากฝั่งธุรกิจที่ค้ากำไร ซึ่งแตกต่างจากมุมมองของภาคผู้ได้รับผลกระทบ
 

อ้างอิง


อ้างอิงข่าว :  www.prachachat.net/marketing/news-1130767ไทยเบฟ เปิดรายได้ปี'65 กำไรเบียร์พุ่ง 143% (prachachat.net)

 

นโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร “ไทยเบฟ”.https://sustainability.thaibev.com/th/about_sustainability_policies_statements.php#Social_Responsibility

แอลกอฮอล์อุปสรรคต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ดู link : https://movendi.ngo/wp-content/uploads/2020/02/Alcohol-and-SDGs-Movendi.pdf

รายงานผลการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทยเบฟ ดู link : https://sustainability.thaibev.com/th/main_aboutsustainability.php

รายงานวิจัยการศึกษาต้นทุนผลกระทบทางสังคมจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย ปี 2564 โดย รศ.ดร.ภญ.มนฑรัตม์ ถาวรเจริญทรัพย์ และคณะ , ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา พิมพ์ปี 2565   ดูข้อมูลจาก ข้อเท็จจริงและตัวเลข เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย ปี 2562 – 2564, ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ดู link : https://cas.or.th/?tag=%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B9%87%E0%B8%88%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%82

 

พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 : กฎหมายเพื่อผู้บริโภค โดย อานันท์ เกียรติสารพิภพ ดู link : https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/ewt_dl_link.php?nid=42416&filename=index
 

logoline