svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

"เจียง เจ๋อหมิน" อดีตปธน.จีนถึงแก่อสัญกรรมในวัย 96 ปี

30 พฤศจิกายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

โลกอาลัย "เจียง เจ๋อหมิน" อดีตประธานาธิบดีจีน ถึงแก่อสัญกรรมในวัย 96 ปี สำนักข่าวต่างประเทศเผย สาเหตุมาจากโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว

สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน นายเจียง เจ๋อหมิน อดีตประธานาธิบดีจีน ถึงแก่อสัญกรรมแล้วด้วยวัย 96 ปี โดยสำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานว่า นายเจียง เสียชีวิตจากโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและอวัยวะหลายส่วนล้มเหลวในนครเซี่ยงไฮ้เมื่อเวลา 11.13 น.ของวันนี้ตามเวลาในไทย

 

นายเจียง เจ๋อหมิน เป็นอดีตผู้นำจีน ที่ก้าวขึ้นสู่อำนาจหลังเหตุการณ์ปราบปรามประชาชนที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 2532 (ค.ศ. 1989) และได้นำพาสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งมีประชากรมากที่สุดในโลก ให้ผงาดในฐานะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจบนเวทีโลก

 

เจียง เจ๋อหมิน ขึ้นเป็นประธานาธิบดีจีน และปกครองประเทศยาวนาน 1 ทศวรรษ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536-2546

 

โดยเมื่อครั้งที่ นายเจียง ขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดของจีนต่อจากนายเติ้ง เสี่ยวผิง ในปี 2532 ประเทศจีนยังอยู่ในช่วงต้นของการพัฒนาเศรษฐกิจให้มีความทันสมัย และมีภาพลักษณ์ในเชิงลบอย่างมากจากเหตุการณ์ในจตุรัสเทียนอันเหมิน อย่างไรก็ตามภายใต้การนำของนายเจียง ประเทศจีนมีการพัฒนาขึ้นอย่างมากจนก้าวเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอิทธิพลอย่างมากบนเวทีโลก

"เจียง เจ๋อหมิน" อดีตปธน.จีนถึงแก่อสัญกรรมในวัย 96 ปี

หนึ่งในผลงานที่ดีที่สุดของนายเจียงในฐานะผู้นำสูงสุดของจีนคือการที่อังกฤษส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนให้กับจีนในปีพ.ศ. 2540 ที่เป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย รวมถึงการที่ประเทศจีนได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ในปีพ.ศ. 2544 และการได้เป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ที่จัดขึ้นในกรุงปักกิ่งเมื่อปีพ.ศ. 2551

ขณะที่หลายคนก็มองว่า "นายเจียง" ล้มเหลวกับการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่จากการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น ปัญหาคอร์รัปชั่นและปัญหาความไม่เท่าเทียม ความเสี่อมโทรมของสภาพสิ่งแวดล้อม และการปฏิรูปทางภาครัฐซึ่งส่งผลให้เกิดการปลดพนักงานจำนวนมาก รวมถึงต้องพบกับเสียงวิจารณ์จากกรณีที่ทางการของจีนรับมือกับลิทธิฟาหลุนกง 

 

ก่อนหน้านี้ ในเดือนตุลาคม 2560 เคยมีข่าวลือในโลกออนไลน์ว่า อดีตประธานาธิบดีผู้นี้ กลับมาปรากฏตัวในที่ประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนในปีดังกล่าว เพื่อสยบกระแสข่าวลือเรื่องที่ว่าเขาถึงแก่อสัญกรรมเมื่อหลายเดือนก่อนหน้านั้น โดยนายเจียง ได้นั่งถัดจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และลุกขึ้นยืนขณะมีการบรรเลงเพลงชาติ ช่วงเปิดการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ ครั้งที่ 19 ในมหาศาลาประชาชน ณ กรุงปักกิ่ง

 

งานนั้นมีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ทำให้การปรากฏตัวของเขาในที่ประชุมพรรคฯ จุดกระแสในโลกออนไลน์ที่พากันตื่นเต้น เมื่อเห็น นายเจียง เจ๋อหมิน เจ้าของฉายา “กบอาวุโส” ปรากฏตัวเหนือความคาดหมาย

 

ฉายา “กบอาวุโส” นั้น เป็นคำเรียกด้วยความรักใคร่จากบรรดากัลยาณมิตรและผู้ใกล้ชิด เนื่องจากบุคลิกของเขาที่มักจะสวมแว่นตาอันใหญ่และฉีกยิ้มกว้างอยู่เสมอ หลายคนอยากรู้เคล็ดลับการมีอายุยืนของเขา และด้วยวัยกว่า 90 ปีนี้เอง ที่ทำให้อดีตประธานาธิบดีผู้นี้ มักตกเป็นข่าวลือเรื่องถึงแก่อสัญกรรม ซึ่งรวมถึงข่าวลือในปี 2560 ที่ว่าเขาเสียชีวิตเพราะภาวะเส้นเลือดสมองในนครเซี่ยงไฮ้

 

"เจียง เจ๋อหมิน" อดีตปธน.จีนถึงแก่อสัญกรรมในวัย 96 ปี

นายเจียง เจ๋อหมิน เข้ามาแทนที่ เติ้ง เสี่ยวผิง ในฐานะผู้นำในปี 2532 จีนยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาเศรษฐกิจให้ทันสมัย และเมื่อถึงเวลาที่เขาเกษียณจากตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2546 จีนก้าวขึ้นเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก, กรุงปักกิ่งได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 2551 และประเทศจีนเริ่มก้าวไปสู่สถานะมหาอำนาจอย่างเต็มตัว

ทางการจีนสั่งลดธงครึ่งเสาทั่วประเทศ เพื่อร่วมแสดงความไว้อาลัยต่อการจากไปของอดีตผู้นำ

"เจียง เจ๋อหมิน" อดีตปธน.จีนถึงแก่อสัญกรรมในวัย 96 ปี

เปิดประวัติโดยย่อ

นายเจียง เจ๋อหมิน (จีนตัวย่อ: 江泽民; จีนตัวเต็ม: 江澤民; พินอิน: Jiāng Zémín; ภาษากวางตุ้ง, อักษรโรมัน: gong1 zaak6 man4) (17 สิงหาคม พ.ศ. 2469 – 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565) เป็นบุคคลหลักของ "ผู้นำรุ่นที่สาม" ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ระหว่าง พ.ศ. 2532 (ค.ศ. 1989) ถึง พ.ศ. 2545 (ค.ศ. 2002) และประธานาธิบดีระหว่าง พ.ศ. 2536 (ค.ศ. 1993) ถึง พ.ศ. 2546 (ค.ศ. 2003) 

 

เจียง เจ๋อหมิน เป็นชาวเมืองหยางโจว มณฑลเจียงซู หลังจากเติ้งเสี่ยวผิงได้แตกหักกับจ้าวจื่อหยาง เนื่องจากเหตุชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เมื่อ พ.ศ. 2532 (ค.ศ. 1989) เติ้งเสี่ยวผิงจึงเลือกเจียง เจ๋อหมินเป็นทายาททางการเมืองของเขาแทน

 

เขายังได้รับความชื่นชมในฐานะเป็นผู้คิดทฤษฎีสามตัวแทน (Theory of Three Represents) ซึ่งนำมาใช้ในรัฐธรรมนูญของประเทศ และของพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วย

logoline