svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ฐิติวุฒิ"ผ่า 6 ข้อการเมือง"บิ๊กตู่"ลาพปชร.กระจายเสี่ยงก่อนร่วมรบ.ใหม่

26 พฤศจิกายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร"ผ่าฉากทัศน์ 6 ข้อ "บิ๊กตู่" ย้ายพ้นพปชร. แค่กระจายความเสี่ยง แต่ยังร่วมจัดตั้งรัฐบาลได้ในอนาคต ขณะที่แลนด์สไลด์เพื่อไทยอาจถูกดับฝัน แม้มีเสียงข้างมากแต่ชวดแกนนำ รบ. ชี้ระบบการเมืองปัจจุบันทำพรรคอ่อนแอ ส่งผลอำนาจนิติบัญญัติย่ำแย่

26 พฤศจิกายน 2565 "ผศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร" อาจารย์ประจำสำนักวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้วิเคราะห์ถึงทิศทาง "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม โดยเฉพาะการตัดสินใจบนเส้นทางการเมืองหลังจากนี้ ว่าจะยังอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ หรือย้ายบ้านร่วมค่ายใหม่

 

 "ผศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร" อาจารย์ประจำสำนักวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

1.หากเกิดกรณีนายกฯ ตัดสินใจไปร่วมกับพรรคการเมืองใหม่ โอกาสในการจัดตั้งรัฐบาลนั้น มีโอกาสเป็นไปได้ เนื่องจากวัฒนธรรมทางการเมืองไทยในยุคหลังๆ มีแนวโน้มเปลี่ยนไปนั่นคือ แกนนำจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ขึ้นอยู่กับการที่พรรคการเมืองที่ได้รับเสียงชนะเป็นอันดับ 1 อีกต่อไป แต่ขึ้นอยู่กับ การประสานเสียงเครือข่าย ของพรรคการเมืองที่ได้อันดับ 2-3-4

 

ดร.ฐิติวุฒิ ขยายความต่อว่า อีกทั้ง หากกลไกในการปลูกฝังเรื่องของงูเห่า หรือการฝากเลี้ยงในพรรคการเมืองอื่นๆ เกิดขึ้นจริง ย่อมทำให้การสร้างเครือข่ายเพื่อได้รับชัยชนะย่อมเป็นไปได้ แต่มีข้อสังเกตว่า หากพรรคการเมืองที่นายกฯไปสังกัด ทำได้ ฝ่ายตรงกันข้ามก็สามารถทำได้ในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน ซึ่งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบการเมืองทั้งหมด คือ การใช้เวลาในการจัดตั้งรัฐบาล การบ่มเพาะ และสร้างคลื่นความขัดแย้งต่อเนื่อง 

2.พรรคพลังประชารัฐ จะไม่เกิดกระแสของแพแตก เนื่องจากกลไกของพลังประชารัฐนั้น การแบ่งสรรการควบคุมแบบกลุ่มก้อน มีความจำเป็นที่บางกลุ่มจะต้องยังอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ โดยเฉพาะการมีเงื่อนไขพิเศษ อาทิ คดีความ หรือ ข้อกฎหมาย ที่ต้องใช้บารมีทางการเมืองในการคุ้มครอง แต่มีข้อสังเกตว่า โอกาสในการพัฒนาเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีความเข้มแข็ง และมีฐานการเมืองที่ ครอบคลุมหลายพื้นที่ มีแนวโน้มประสบปัญหายุ่งยาก อีกทั้ง ยังอาจกลายเป็นพรรคการเมือง ที่มี ส.ส.ในระดับกลาง 

 

3.แม้ว่าภาพที่ออกมาจากสาธารณะ มีบางครั้งที่พี่น้อง 2ป. อาจมีข้อขัดแย้งหรือจุดยืนในแต่ละเรื่องไม่ตรงกันแต่ในทางยุทธศาสตร์แล้ว ทั้ง 2 คนนี้ ไม่สามารถที่จะแบ่งแยกทางเดินกันได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด นั่นคือโอกาสในการเข้ามาร่วมมือจัดตั้งรัฐบาล ภายหลังการเลือกตั้ง ย่อมมีสูงด้วย เพราะความสัมพันธ์ระหว่าง 2 คนนี้มีมากกว่า ระบบอุปถัมภ์ แต่การแยกกันไปสังกัดพรรค คือ การกระจายความเสี่ยง ทั้งในแง่การเปิดโอกาส เข้าไปสร้างกลไกสมานฉันท์กับพรรคเพื่อไทย และความพยายามที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นภายในพรรคเดิม ซึ่งส่วนใหญ่ คือ บุคคลที่รายล้อม 2ป.

 

"ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว ภายหลังจากการเลือกตั้ง พรรคใหม่ของ 2ป. มีโอกาสเข้าร่วมรัฐบาลทั้งสองขั้ว ทั้งการจัดตั้งรัฐบาล โดยเครือข่ายของตนเองหรือแม้แต่กระทั่งการเข้าไปร่วมมือ กับฝ่ายตรงกันข้าม จัดตั้งรัฐบาลในลักษณะสมานฉันท์ ซึ่งไม่ว่าทั้งสองพรรคจะเลือกทางใดก็ตาม ในท้ายที่สุด สายสัมพันธ์ จะไม่ถึงขั้นแตกหัก …. ยุทธศาสตร์ จึงมีทั้งแยกกันเดินร่วมกันตี และ การลดทอนความเสี่ยง ซึ่งหมายความว่า ในท้ายที่สุด ไม่ว่าขั้วการเมืองใดจะเป็นฝ่ายชนะ 2ป. ยังคงอยู่ในเครือข่ายของอำนาจ ทั้งเปิดเผยและไม่เปิดเผย" นักวิชาการด้านการเมืองและการปกครอง ระบุ
 

4.โอกาสของพรรคเพื่อไทย ที่สมาารถชนะการเลือกตั้งไม่ได้เป็นรัฐบาลนับว่ามีโอกาส เนื่องจากในท้ายที่สุดแล้ว การต่อสู้ที่เข้มข้น อาจทำให้วัฒนธรรมทางการเมืองที่เคยมีมา โดยเฉพาะการที่พรรคการเมืองได้รับชัยชนะสูงสุด และมีโอกาสจะตั้งรัฐบาลก่อนนั้น อาจจะถูกละเลย หรือไม่ให้ความสำคัญ นอกจากนั้นแล้ว หากจำนวนเสียงที่พรรคการเมืองอันดับ 1 และอันดับ 2 ได้รับใกล้เคียงกัน ย่อมหมายความว่า โอกาสที่จะมีพรรคการเมืองอันดับ 2 จะแย่ง เพื่อจัดตั้งรัฐบาลย่อมมีโอกาสได้มาก ข้อสังเกตที่สำคัญคือ ในบริบทเงื่อนไขปัจจุบัน ยุทธศาสตร์แลนด์สไลด์ท้ายที่สุดแล้ว ยังมีความจำเป็นที่ต้องการเรื่องพรรคพันธมิตรด้วยเช่นเดียวกัน 

 

5.จากบริบทในปัจจุบันทั้งการวางตัวผู้สมัคร เงื่อนไขผลงานในอดีตที่ชนะใจรากหญ้า พรรคเพื่อไทย มีโอกาสได้รับชัยชนะ ในฐานะพรรคการเมืองที่ได้รับเก้าอี้สูงสุด แต่โอกาสที่จะได้รับชัยชนะถึงขั้นแลนด์สไลด์นั้น เงื่อนไข ณ ปัจจุบัน มีความท้าทายเป็นอย่างมาก เพราะยุทธศาสตร์แลนด์สไลด์ อีกความหมายหนึ่ง คือ การสู้อย่างโดดเดี่ยว ซึ่งในทางการเมืองการ สู้อย่างโดดเดี่ยวและไม่มีพันธมิตรนั้น มีความเสี่ยงสูงมาก ฉะนั้น การมีพันธมิตรพรรคการเมืองจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยควบคู่ไปกันกับแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่จะต้องมีคุณสมบัติโดดเด่นที่พรรคการเมืองอื่นไม่มี และการมีนโยบายโดนใจกลุ่มฐานมวลชนที่หลากหลาย 

 

6.ข้อสังเกตสำคัญต่อการปรับตัวของยุทธศาสตร์ของแต่ละพรรคการเมืองในห้วงปัจจุบันนั้น คือ ส่วนใหญ่ ยังไม่พบว่าการสร้างสถาบันทางการเมืองที่เข้มแข็งด้วยตัวพรรคการเมืองเอง การจะพัฒนาไปได้ในทิศทางใด โดยเฉพาะในปัจจุบัน การสร้างพรรคใหม่ การยุบรวมพรรค คือ การทำให้พรรคการเมือง จำกัดอยู่เฉพาะในระบบอุปถัมภ์ของนักเลือกตั้ง และเครือข่ายกลุ่มผลประโยชน์มากกว่าการยึดโยงอยู่กับฐานทางอุดมการณ์ และประชาชนที่ครอบคลุมไปทั้งประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อพรรคการเมืองไม่ได้เป็นสถาบันทางการเมืองที่เข้มแข็งในระบอบประชาธิปไตย ท้ายที่สุดเมื่อมีการเลือกตั้ง ผลประโยชน์จะถูกจัดสรรอยู่ในเฉพาะนักเลือกตั้ง อีกทั้ง เมื่อระบบพรรคอ่อนแอ การทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติของ ส.ส. จึงไม่เข้มแข็งตามไปด้วย

 

ฉะนั้น ภายหลังจากการเลือกตั้ง นอกจากจะต้องสนใจว่า พรรคการเมืองใดได้รับชัยชนะหรือไม่แล้ว ยังจะต้องสนใจด้วยเช่นกันว่า สภาจะล่มหรือไม่ ส.ส.จะเข้าประชุมสภาด้วยหรือไม่ นี่คือสิ่งที่เรียกว่า เมื่อระบบพรรคอ่อนแอระบบนิติบัญญัติของประเทศ ก็ยอมอ่อนแอตามไปด้วย และประการสำคัญการเลือกตั้งในอนาคตที่กำลังจะถึงนี้ ประชาชนควรพกโพยไปด้วยว่า ผู้สมัคร คนใดขาดประชุมสภากี่ครั้ง

logoline