svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

เงินบาทแข็งค่า ! จับตารายงานประชุมเฟด

23 พฤศจิกายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เงินบาทเปิดตลาด 36.07 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ตลาดเปิดรับความเสี่ยง หลังถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด สาย “Hawkish” ไม่ได้ส่งสัญญาณสนับสนุนการเร่งสปีดขึ้นดอกเบี้ย จับรายงานประชุมเฟด หรือ fed minutes

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.07 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.13 บาทต่อดอลลาร์

โดยแนวโน้มค่าเงินบาท แม้ว่าจะแข็งค่าสวนทางกับแนวโน้ม ที่เราคาดการณ์ไว้ (คาดว่ามาจากแรงขายของผู้เล่นในตลาด อาทิ ผู้ส่งออกในจังหวะที่เงินบาทอ่อนค่าใกล้ระดับ 36.30 บาทต่อดอลลาร์) และบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาด ก็อาจช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อได้บ้าง

แต่เราคงมุมมองเดิมว่า ควรระมัดระวังแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทที่เริ่มเพิ่มมากขึ้น โดยเราเห็นแรงขายทำกำไรสินทรัพย์ไทย จากนักลงทุนต่างชาติที่เพิ่มมากขึ้น (ขณะที่การปรับตัวขึ้น ของตลาดหุ้นไทย ก็เริ่มมีสัญญาณอ่อนแรงลง)

นอกจากนี้ ควรจับตารายงานดัชนี PMIs ภาคการผลิตและภาคการบริการของสหรัฐฯ เพราะหากออกมาดีกว่าคาดไปมาก ก็อาจทำให้ตลาดมองว่า ภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ไม่ได้ชะลอตัวลงหนัก

อาจจะหนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย หรือ “Good news could be Bad news for the market” (อนึ่ง หากออกมาแย่ไปมาก ก็อาจทำให้ตลาดกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งก็จะช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้)

นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดควรระมัดระวัง รายงานการประชุมเฟดล่าสุด ซึ่งอาจส่งผลให้ตลาดผันผวนได้ในช่วงระหว่างที่รับรู้และตีความรายงานการประชุมดังกล่าว

โดยประเด็นสำคัญที่ตลาดจะให้ความสนใจ คือ จุดสูงสุดของดอกเบี้ยเฟดจะอยู่ที่เท่าใด หลังประเด็นอัตราการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด เริ่มชัดเจนมากขึ้นว่า เฟดอาจชะลออัตราการเร่งขึ้นดอกเบี้ยลงเหลือ +0.50%

ทั้งนี้เราประเมินว่า โซนแนวต้านของเงินบาทยังอยู่ในช่วง 36.30 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าบรรดาผู้ส่งออกต่างรอจังหวะทยอยขายเงินดอลลาร์ในช่วงดังกล่าว ในขณะที่โซนแนวรับก็จะอยู่ในช่วง 35.90 บาทต่อดอลลาร์ โดยเราคาดว่าผู้นำเข้าอาจทยอยเข้ามาซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงปลายเดือนตามภาระที่ต้องจ่าย

สำหรับการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ผันผวนสูงในช่วงที่ผ่านมาได้สะท้อนถึงความจำเป็นของการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้เราคงแนะนำ ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น

โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนักมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.95-36.20 บาท/ดอลลาร์

ส่วนบรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) อีกครั้ง หลังถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด สาย “Hawkish” ไม่ได้ส่งสัญญาณสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด (แต่ยังคงสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ)

นอกจากนี้ผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตา รายงานผลการประชุมเฟดล่าสุด (FOMC Meeting Minutes) ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลดลงสู่ระดับ 3.76% หนุนให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนกลับเข้ามาซื้อหุ้นกลุ่มเทคฯ

และหุ้นสไตล์ Growth ที่ปรับตัวลงแรงในช่วงก่อนหน้า อาทิ Nvidia +4.7%, Apple +1.5% ส่งผลให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq และดัชนี S&P500 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +1.36%

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากการรีบาวด์ขึ้นของราคาหุ้นกลุ่มพลังงาน (Exxon Mobil +2.9% และ Chevron +2.6%) ตามการปรับตัวขึ้นของ ราคาน้ำมันดิบ WTI และ Brent หลังซาอุฯ ออกมายืนยันว่า ยังไม่ได้หารือกับบรรดาสมาชิกกลุ่ม OPEC+ ในประเด็นการเพิ่มกำลังการผลิต ตามที่มีข่าวออกไปก่อนหน้า

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.73% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นแรง ของบรรดาหุ้นกลุ่มพลังงาน เช่นเดียวกันกับในฝั่งสหรัฐฯ (Equinor +4.5%, Total Energies +4.4%)

นอกจากนี้ การส่งสัญญาณต่อแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายที่ไม่ชัดเจนของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ช่วยหนุนให้หุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ของยุโรปยังสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ อาทิ ASML +1.2%

ขณะที่ตลาดค่าเงิน ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ ได้กดดันให้ เงินดอล ลาร์อ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ส่งผลให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลง -0.2% สู่ระดับ 107.2 จุด อย่างไรก็ดี แม้ว่าเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลง ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด

ทว่าผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานการประชุมของเฟดล่าสุด ทำให้เงินดอลลาร์มีแนวโน้มแกว่งตัว Sideways และผันผวนมากขึ้นในช่วงตลาดรับรู้รายงานการประชุมเฟดดังกล่าวได้


อนึ่ง การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ และการปรับตัวลงของ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยพยุงให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ไม่ได้ปรับตัวลดลงไปมาก จากแรงขายทำกำไรในช่วงตลาด เปิดรับความเสี่ยง ทำให้ราคาทองคำ ย่อตัวลงเล็กน้อย ใกล้โซนแนวรับแถว 1,750 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ (S&P Global Manufacturing & Services PMIs) ในเดือนพฤศจิกายน

โดยตลาดคาดว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการอาจปรับตัวลดลงสู่ระดับ 49.9 จุด และ 47.7 จุด (ดัชนี น้อยกว่า 50 จุด หมายถึง ภาวะหดตัว) สะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐ กิจในภาค การผลิตและภาคการบริการ ที่ยังคงซบเซาต่อเนื่อง จากผลกระทบของการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และภาวะเงินเฟ้อ/ค่าครองชีพสูง

รวมถึงภาพการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานการประชุมเฟดล่าสุด (FOMC Meeting Minutes) ในช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสฯ

โดยผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานการประชุมเฟดอย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด โดยเฉพาะระดับดอกเบี้ยสูงสุดของเฟด หรือ Terminal Rate หลังบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างออกมาสนับสนุนอัตราการขึ้นดอกเบี้ยที่อาจชะลอลงจากช่วงก่อนหน้า (จาก +0.75% เหลือ +0.50%)

ด้านยุโรป ตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปผ่านรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการในเดือนพฤศจิกายน โดยตลาดมองว่า แนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปอาจยังคงซบเซาต่อเนื่อง ท่ามกลางแรงกดดันจากทั้งปัญหาเงินเฟ้อและค่าครองชีพสูง

รวมถึงต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และความไม่แน่นอนของสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยภาพดังกล่าวจะสะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการของยูโรโซนที่จะปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 46 จุด และ 48.1 จุด ตามลำดับ

เช่นเดียวกันกับฝั่งอังกฤษ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการก็อาจปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 45.7 จุด และ 48 จุด ตามลำดับเช่นกัน

ส่วนในฝั่งไทย ตลาดคาดว่า การค้าระหว่างประเทศของไทยอาจได้รับผลกระทบจากภาพเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง โดยยอดการส่งออก (Exports) อาจโตเพียง 5.5%y/y ส่วนยอดการนำเข้า (Imports) ยังโตกว่า +10%y/y ทำให้ดุลการค้า (Trade Balance) ในเดือนตุลาคมอาจกลับมาขาดดุลถึง -1.4 พันล้านดอลลาร์

logoline