svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ธ.ก.ส.ลุยช่วยเกษตรกร 'แก้หนี้' ให้พ้นความยากจน

21 พฤศจิกายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ธ.ก.ส.เสริมศักยภาพเกษตรกรขอนแก่นรุ่นใหม่เป็นต้นแบบในการปรับเปลี่ยนความคิดจากการทำการเกษตรแบบเดิม สู่เกษตรที่นำเทคโนโลยีรอบตัวมาใช้ ให้มีรายได้ พร้อมวางแผนการเงินให้เป็นระบบมีพอทั้งใช้หนี้และจุนเจือครอบครัว

นายไพศาล หงษ์ทอง ผู้ช่วยผู้จัดการและโฆษกธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร นายศรัทธา อินทรพรหม และนายสุภาษิต ศุภวุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. ลงพื้นที่เยี่ยมชมงานสวนลุงทิด (เพาะความสุข) ของนายอาทิตย์ แสงโลกีย์ เกษตรกรรุ่นใหม่ ที่ใช้เวลาว่างจากการทำงานประจำ หันมาปลูกพืชผักที่เน้นปลูกง่าย ได้ราคาและระยะเวลาการปลูกสั้น  เพื่อให้เกษตรกรได้มีรายได้ทุกวัน สม่ำเสมอ  ควบคู่ไปกับการแนะนำให้วางแผนเรื่องการเงิน คือ การจัดการเงินที่หามาได้ทั้งการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน  เงินเก็บออม และเงินใช้หนี้ด้วย

นายไพศาล  กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19  ทำให้ประชาชนประสบปัญหาการว่างงาน  สินค้าขายไม่ได้  ไม่มีเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน จึงทำให้ประสบปัญหาหนี้สินมากขึ้น  ทาง ธ.ก.ส.เล็งเห็นว่า เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน จึงมีโครงการที่ต้องการให้มีการจัดการแก้ปัญหาหนี้สินในพื้นที่โดยให้เกษตรกรในชุมชนเป็นตัวหลักในการแก้ปัญหา จึงบูรณาการการออกแบบ-การจัดการเชิงพื้นที่ แก้หนี้-แก้จนเน้นเชื่อมโยงตามแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เกิดกระบวนการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ   สำหรับที่ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ธ.ก.ส. ที่สวนลุงทิด บ้านห้วยเสือเต้น อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น  ถือเป็นพื้นที่ต้นแบบการใช้โมเดล D&MBA  Design & Manage by Area คือโมเดลแก้หนี้  แก้จน   ภายใต้แผนงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยโมเดลนี้คนในชุมชนเป็นผู้ขับเคลื่อน

“สิ่งที่รัฐบาลเน้นย้ำคือการแก้ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน  ธกส.จึงนำมาทำนโยบายจากภาครัฐมาดำเนินโครงการแก้หนี้แก้จน   มีหนี้ต้องใช้หนี้และแก้ปัญหาความยากจนได้ โดยการ ปรับโครงสร้างหนี้สิน กำหนดระยะเวลาการใช้หนี้ให้เหมาะสม ให้เกษตรกรสามารถส่งใช้หนี้ได้  โดยการยืดระยะเวลาการใช้หนี้  ควบคู่ไปกับการสร้างรายได้จากอาชีพหลัก ทาง ธ.ก.ส.สนับสนุนเกษตรกรที่ต้องการพัฒนา ปรับเปลี่ยนให้เป็นแกนนำเกษตรกรในการรวมกลุ่ม ถ่ายทอดความรู้ กับเกษตรกรด้วยกัน รวมกันซื้อได้ถูก รวมกันขายได้แพง  สำหรับการเดินทางลงพื้นที่ครั้งนี้ ทางธนาคารต้องการนำเสนอโมเดลสำเร็จรูปแบบอย่างที่ดี  ตัวอย่างเช่นการปลูกผักยกแคร่ของสวนลุงทิดที่เกิดการนำความรู้ การนำวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น มาผลิต มาพัฒนาอาชีพ รวมกลุ่มกันผลิต  ธ.ก.ส.สนับสนุนแหล่งทุนในอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรมและถูก คือดอกเบี้ยร้อยละ .01 ต่อปี  เชื่อว่โมเดลแก้หนี้  แก้จน จะตอบโจทย์การแก้ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนของรัฐบาลได้อย่างเป็นรูปธรรม”นายไพศาล  กล่าว

ด้านนายอาทิตย์ แสงโลกีย์ เกษตรกรรุ่นใหม่ เจ้าของสวนลุงทิด (เพาะความสุข) เกษตรกรในอำเภอน้ำพอง จ.ขอนแก่น  กล่าวว่า  ทำการเกษตรแบบผสมผสานโดยมี  ไผ่หวานเป็นสินค้าที่สร้างรายได้หลัก นอกจากนี้ยังได้ต่อยอดนำผลผลิตในสวนเช่น กล้วย หญ้าหวานมาแปรรูป การเลี้ยงไข่ไก่พื้นเมืองไก่แดงดอกคูณ  ต่อยอดมาเป็นการปลูกผักยกแคร่ โดยเน้นการปลูกผักสลัด ซึ่งเป็นผักที่ปลูกง่าย ได้ราคา อายุการปลูกสั้น ก็สามารถเก็บขายได้ ซึ่งทั้งหมดเน้นการลดต้นทุนด้านการผลิต

จึงเน้นการทำเกษตรอินทรีย์ และการแปรรูปผลผลิตสร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม สนับสนุนคนรุ่นใหม่เป็นหัวขบวนในการรวบรวมและจำหน่ายผลผลิตที่ได้มาตรฐาน พร้อมเติมทุนต่อยอดธุรกิจสู่มาตรฐาน  สิ่งสำคัญคือการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเงิน ที่ต้องวางแผน การบริหารจัดการเงินที่ได้มา เพื่อให้เพียงพอกับการใช้หนี้สิน ใช้จ่ายประจำวัน  และการเก็บออมไว้ใช้ด้วย

“การปรับเปลี่ยนแนวคิดในการทำการเกษตรถือเป็นเรื่องสำคัญ รวมไปถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการลดต้นทุน การทำปุ๋ยใช้เอง และการให้ความรู้ การอบรมเรื่องการทำการตลาด ซึ่งทั้ง 3 ข้อนี้ ถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้เกษตรกรมีรายได้ต่อเนื่อง สม่ำเสมอ  การเกษตรแบบผสมผสานจะตอบโจทย์ให้กับเกษตรกรได้  แม้ว่าจะมีรายได้น้อย แต่สิ่งที่จะมีแน่นอนคืออาหารในพื้นที่เพาะปลูกของเรา  นอกจากนี้มีเรื่องการวางแผนเพาะปลูกที่ต้องเน้นเรื่องความต้องการของตลาด เพื่อให้สินค้าของเราขายได้ราคา  ที่สำคัญคือ ต้องการให้เกษตรกรไม่มีหนี้สิน  ซึ่งเกษตรกรที่มีหนี้สินส่วนใหญ่มาจากต้นทุนที่ใช้ในการเพาะปลูกสูงขึ้น  แต่ราคารับซื้อกลับตกต่ำ การปรับเปลี่ยน รวมทั้งการบริหารจัดการการเงินที่หามาได้ ทำให้เชื่อว่าจะทำให้เกษตรกรไม่มีหนี้สินได้” นายอาทิตย์ กล่าว

สำหรับสวนลุงทิดได้รับคัดเลือกเป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ธ.ก.ส. และเครือข่ายศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ของสำนักงานเกษตรจังหวัดขอนแก่น ที่เปิดสวนให้เข้าเยี่ยมชมงาน พร้อมถ่ายทอดความรู้ ฝึกอบรมทักษะด้านเกษตรอินทรีย์ เพื่อสร้างอาชีพให้แก่เกษตรกรในชุมชนและผู้ที่สนใจการทำเกษตรอินทรีย์ นอกจากนี้ ยังมีการขยายต้นพันธุ์พืชจำหน่ายให้กับผู้สนใจเพื่อเป็นการสร้างรายได้เสริมและขยายเครือข่ายการเกษตรควบคู่ไปด้วย

logoline