svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

สภาพัฒฯ คาด "จีดีพี" ไตรมาส 3 เติบโต 4.5% แรงหนุนจากการบริโภค ภาคเอกชน-ส่งออก

21 พฤศจิกายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สภาพัฒฯ ระบุ "จีดีพี" ไตรมาส 3 ปี 2565 ขยายตัว 4.5% จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ส่งผลการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่ ปีหน้าคาดกว่า "จีดีพี" ขยายตัว 3-4% จากแรงหนุนภาคการท่องเที่ยว

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปี 65 ขยายตัว 4.5% เทียบกับไตรมาส 2 ที่โต 2.5%  โดยมีปัจจัยบวกจากการผ่อนคลายมาตรการในการควบคุม โรคโควิด-19  รวมทั้งนโยบายเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ทำให้เศรษฐกิจไทย ในงวด 9 เดือนแรก 2565 ขยายตัว 3.1%

สำหรับด้านการใช้จ่าย และการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 9% เป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 39 ไตรมาส โดยเฉพาะหมวดบริการ เช่น การใช้จ่ายในกลุ่มโรงแรม และ ภัตตาคาร และบริการด้านอาหาร ขยายตัว 53.6% ขณะที่อัตราการเข้าพักโรงแรมเฉลี่ยอยู่ที่ 48% รวมถึงภาคการส่งออกมีมูลค่า 71,980 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัว 6.7% 

นอกจากนี้ สภาพัฒน์ฯ ปรับประมาณการเติบโต เศรษฐกิจ ในปีนี้ เติบโต 3.2% จากเดิมอยู่ที่ประมาณ 2.7-3.2 % ซึ่ง เศรษฐกิจที่ขยายตัว มาจากแนวโน้มการบริโภคของภาคเอกชนที่มากขึ้น และ การลงทุนของภาครัฐ-เอกชน รวมถึงเม็ดเงินภาคท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น โดยคาดว่า ปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ เข้าประเทศไทย 10.2 ล้านคน สร้างรายได้ 5.7 แสนล้านบาท

ขณะที่ภาพรวมการส่งออก ปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ 7.5% ซึ่งต่ำกว่าประมาณการเดิมอยู่ที่ 7.9% เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว โดยเฉพาะแถบยูโรโซน

นายดนุชา  กล่าวต่อว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 คาดว่า จะขยายตัวในช่วง 3– 4% จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่า จะมีนักท่องเที่ยวทั้งปี 23.5 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 1.2 ล้านล้านบาท, การขยายตัวของการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ และการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ รวมถึงภาคการเกษตร ที่มีการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี 

สำหรับหนี้ครัวเรือน สภาพัฒน์ฯ มองว่า ยังคงกลุ่มที่มีความเปราะบาง ที่ต้องจับตาเป็นอันดับต้นๆ แม้สัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อ ยังไม่เกินเกณฑ์ แต่ต้องปรับโครงสร้างหนี้ควบคู่อย่างต่อเนื่อง เพราะไม่อาจแก้ปัญหาได้ทันที ซึ่งเปรียบเสมือนระเบิดเวลาของระบบเศรษฐกิจไทย  

“ในช่วงปลายปี คงจะไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ แต่คงออกมาในรูปแบบ ของขวัญปีใหม่ เพื่อกระตุ้นการจับจ่าย รวมไปถึง มาตรการช่วยค่าของชีพ ซึ่งทั้งสองส่วน คงเป็นแบบพุ่งเป้าเฉพาะกลุ่ม เช่น มาตรการที่จะเกี่ยวข้องกับระบบภาษีในปีหน้า”

logoline