svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

นักวิชาการ แนะจับตา AIS ร้องศาลสั่งห้ามควบรวม "ทรู-ดีแทค"

16 พฤศจิกายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ดร.สุชาติ แนะจับตา เกมต่อสู้ เพื่อความอยู่รอดของค่ายมือถือ หลังบริษัทลูก AIS ร้องศาลสั่งห้ามควบรวมทรู-ดีแทค ชี้ การให้รายเล็กคืนคลื่น-จำกัดการใช้คลื่นความถี่ ไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด

16 พฤศจิกายน 2565 รศ.ดร.สุชาติ ไตรภพสกุล อาจารย์ประจำ คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ให้ความเห็นกรณีกระแสข่าว บริษัท Advanced Wireless Network (AWN) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ AIS  อาจจะยื่นคำร้องขอให้ ศาลมีคำสั่งห้ามการควบรวมกิจการการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรู และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ว่า ปัจจุบันก่อนการควบรวมผู้ที่มีคลื่นมากที่สุดคือ เอไอเอส แต่หลังจากการควบรวมจะทำให้ผู้ประกอบการค่ายมือถือทั้งสองรายคือ เอไอเอส และ ทรูดีแทค ถือครองคลื่นในจำนวนใกล้เคียงกัน

ดังนั้นการร้องศาลฯ ขอให้คู่แข่งลดจำนวนคลื่น จึงถือเป็นยุทธศาสตร์ที่น่าจับตา โดยมีการอ้างถึงคำร้องต่อ ศาลฯ ระบุว่า มติของ กสทช.ขัดแย้ง กับเงื่อนไขการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ในอดีตที่ห้ามผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ถือแบนด์วิธ รวมของคลื่นความถี่ในหลายช่วงความถี่ที่เกินหลักเกณฑ์ เนื่องจากการจำกัดคลื่นความถี่ซึ่งอาจนำไปสู่การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ทั้งที่จริง ๆ แล้วผู้ที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดคือ ลูกค้า ที่จะได้บริการที่ดี และที่สำคัญ ผู้เล่นทุกรายก็จะมีจำนวนคลื่นที่ใกล้เคียงกัน  

รศ.ดร.สุชาติ กล่าวอีกว่า การที่ผู้นำตลาดเดิม ก่อนควบรวม ซึ่งยังถือคลื่นความถี่มากที่สุด เรียกร้องบอกให้รายเล็กกว่า ต้องคืนคลื่น และจำกัดการใช้งานประโยชน์จากคลื่นความถี่ในการให้บริการประชาชนนั้น อาจจะทำให้ผู้บริโภคเสียประโยชน์  และจะมีเพียงผู้นำตลาดเดิมที่จะได้ประโยชน์จากคู่แข่งที่ถูกตัดกำลังลง  

ดังนั้นหากวิเคราะห์  ในภาพใหญ่ของอุตสาหกรรมการให้ผู้ควบรวมกิจการคืนคลื่น ก็ควรต้องกำหนด spectrum cap ทั้งอุตสาหกรรม ซึ่ง  AIS ในฐานะที่มีคลื่นมากที่สุดก็ต้องโดนกำกับด้วยตามหลักการแข่งขันที่เป็นธรรม และเท่าเทียม เพราะการให้รายเล็กกว่า คืนคลื่น เพื่อที่ตนเอง จะได้ครองความได้เปรียบต่อไปเหมือนที่ทำมาตลอด 30 กว่าปี อาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด ดังนั้นจึงต้องจับตามองถึง เกมการต่อสู้ เพื่อความอยู่รอดของค่ายมือถือของไทยกันต่อไปว่า ใครคือผู้ได้ประโยชน์ตัวจริง 

logoline