svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

โยนหินถามทาง "นิรโทษกรรม" ทุกสีเสื้อ ยกเว้น "คดี 112" แบบไหนสังคมต้องการ

14 พฤศจิกายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จู่ๆ มีเสียงดังออกจากสภาผ่าน "นพ.ระวี มาศฉมาดล" ต้องการผลักดัน "ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม" ทุกสีเสื้อ แต่ไม่นิรโทษคนต้องคดี 112 นี่เป็นการโยนหินถามทางวัดกระแสจะเป็นไปได้หรือไม่ ติดตามได้จากที่นี่ (มีคลิป)

 

"รายการคมชัดลึก" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เนชั่นทีวี  โดย"วราวิทย์ ฉิมมณี" ได้สัมภาษณ์ "นพ.ระวี มาศฉมาดล" หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ และ "พรรณิการ์ วานิช" กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า  ต่อความพยายามของนพ.ระวี ผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมแต่ไม่นิรโทษคดี112  เห็นด้วยหรือไม่อย่างไร 

  

"วราวิทย์"  มีคนถามยังไม่เข็ดใช่หรือไม่ กับการผลักดันร่างกม.นิรโทษกรรม

 

"หมอระวี" กล่าวว่า ท่านรองวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ออกมาถาม คิดว่าท่านคงยังไม่ได้อ่านเนื้อหารายละเอียดท่านก็คงเป็นห่วง ผมแถลงไปแล้วว่า วันนี้พยายามติดต่อท่านแล้วจะไปพบกับรองนายกฯวิษณุ เพื่อจะปรึกษาหารือประเด็นทางกฎหมาย การนำเสนอเพราะ มีรายละเอียดเป็นบางข้อที่ต้องทำให้รอบคอบ แล้วก็ไปเรียนให้ท่าน ทราบว่าทำไมต้อง"เสนอนิรโทษกรรม"

 

โยนหินถามทาง "นิรโทษกรรม" ทุกสีเสื้อ ยกเว้น "คดี 112" แบบไหนสังคมต้องการ

 

"วราวิทย์"  แต่ถ้าเราฟังคุณวิษณุบอกว่าไม่ใช่ร่างกฎหมายของรัฐบาลและพล.อ.ประยุทธ์ไม่เคยพูดตลอด 4 ปีนี้เลย ทำให้ความเป็นไปได้ที่จะเสนอร่างกฎหมายนี้ผ่านในสภาผู้แทนราษฎรยากขึ้นหรือไม่  ถ้าไม่ใช่ร่างกฎหมายของรัฐบาล รัฐบาลยังไม่มีท่าทีในการสนับสนุน

 

"หมอระวี"  รัฐบาลเคยคุยกันหรือไม่  อาจเป็นไปได้ที่ไม่เคยคุยกัน แต่แกนนำเกือบทุกพรรคล้วนได้คุยกับแกนนำเสื้อเหลืองและแกนนำเสื้อแดง เราได้ไปหารือกันหมด ข้อเสนอของผมทุกคำพูดไม่ใช่ผมคิดเอง มาจากแกนนำเหลืองแดงเราได้หารือ ใครจะเป็นหน่วยกล้าตายยอมเจ็บตัว

 

"วราวิทย์"  คุณหมอเล่าให้ฟังว่ามีความพยายามที่จะสร้างความปรองดองแบบนี้ตั้งแต่เป็นคสช.ด้วยซ้ำ ขนาดเป็นคสช.อำนาจเต็มมือมีมาตรา 44 เขายังล้มเลยครับ ตั้งมากี่ชุดแล้วคณะกรรมการปรองดองนำมาสู่ข้อเสนอว่าจะออกกฎหมายนิรโทษกรรมทุกฝ่ายสุดท้ายก็ไปไม่สำเร็จ แล้วคุณหมอมาทำโอกาสสำเร็จจะมีมากน้อยแค่ไหน

 

โยนหินถามทาง "นิรโทษกรรม" ทุกสีเสื้อ ยกเว้น "คดี 112" แบบไหนสังคมต้องการ

 

"หมอระวี"  จังหวะเวลา โอกาสเงื่อนไขก็ต่างกัน ขอเรียนว่ารัฐบาลได้ตั้งศูนย์ปรองดองแห่งชาติขึ้นมาเดินหน้าจนถึงทุกวันนี้มีรูปธรรมอะไรหรือไม่  รัฐบาลเคยประกาศใช่หรือไม่  "รักสงบจบที่ลุงตู่"  มีรูปธรรมอะไรหรือไม่ ไม่มีเลยครับ มีแต่ใช้หาเสียงตอนปี 62 ณ วันนี้อาจจะถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีรูปธรรมจริงๆ เพราะก่อนนั้นเป็นการขัดแย้งระหว่างฝ่ายเอาทักษิณกับไม่เอา"ทักษิณ" ขนาดสองฝ่ายขัดแย้งกันทั้งประเทศ แต่ถึงตอนนี้เป็นอย่างไร หลังปี 62 เกิดข้อขัดแย้งกลุ่มใหม่ขึ้นอีกคนรุ่นใหม่กับรัฐบาล แล้วรัฐบาลปรองดองอะไรครับ

 

"วราวิทย์"  รัฐบาลอาจจะคิดอยู่เพียงแต่ว่ารอใครที่จะเป็นหน่วยกล้าตาย เป็นกองหน้าให้เขาคุณหมอยังคาดหวังแบบนั้น

"หมอระวี" ใช่ครับ

 

"วราวิทย์"  การนิรโทษกรรมนี้หมายความว่าอะไร ครอบคลุมคดีอะไรบ้าง คนกลุ่มไหน ยกเว้นคดีอะไรครับ

 

"หมอระวี" นิรโทษกรรมคดีการเมืองประกอบด้วยคดีที่เกิดจากการชุมนุมทางการเมือง นิรโทษกรรมคดีการเมืองซึ่งไม่ได้ชุมนุมแต่แสดงความคิดเห็นออกมาทางไหนก็แล้วแต่ นิรโทษทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา นิรโทษทั้งแกนนำแต่ประชาชน เห็นมั้ยว่าม็อบรุ่นใหม่ไม่มีแกนนำเพราะเขาเห็นตัวอย่างของเหลืองกับแดง ข้อต่อมาการนิรโทษครั้งนี้นิรโทษตั้งแต่ 19 กันยายน 49 ในยุคที่บิ๊กบังยึดอำนาจ ก็นิรโทษตั้งแต่นั้นมา ก่อนหน้านั้นไม่เกี่ยว ผมคาดว่าผมจะยื่นพ.ร.บ.เข้าได้ก่อนสิ้นเดือนนี้

 

โยนหินถามทาง "นิรโทษกรรม" ทุกสีเสื้อ ยกเว้น "คดี 112" แบบไหนสังคมต้องการ

 

ไม่นิรโทษตรงไหนไม่ใช่ว่าการเมืองแล้วนิรโทษหมดมันจะกลายเป็นสุดซอย เรามีการเขียนชัดเจนว่าไม่รวม 3 ข้อ

ข้อแรกคือทุจริตคอร์รัปชัน เช่น คดีท่านทักษิณ ยิ่งลักษณ์ ไม่รวมนิรโทษ

ข้อสอง ความผิดทางอาญาที่รุนแรงซึ่งอันนี้มีประเด็นที่เห็นตรงกันระหว่างเหลืองแดงก็คือความผิดที่ถึงขั้นยิงกันตาย แม้ว่าจะอยู่ในการเมือง

ข้อที่สาม  เราคิดว่าไม่น่าจะไปยุ่งเลยก็คือประเด็น 112 ถ้าเราเสนอนิรโทษ 112 ด้วย พรรคร่วมรัฐบาลน่าจะไม่มีพรรคไหนเห็นด้วย พ.ร.บ.นี้ก็จะตกไม่ได้มีโอกาสคุยในสภาได้แต่เขียนเข้าเสนอ สภาจะไม่ยกมือให้เป็นเรื่องด่วน ถ้าไม่เป็นเรื่องด่วนจนปิดสมัยประชุมยังไม่เข้าเลยครับ

 

"วราวิทย์"  สมมติอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี ผลของมันคือจะไม่มีคดีนี้เลย จำหน่ายคดีออกไป

 

"หมอระวี" ใช่ครับ หลุดหมดครับ

"วราวิทย์"  สิทธิ์อะไรที่เขาเคยถูกจำกัดต้องโทษในคดีทางการเมืองชุมนุมหลุดหมดเหมือนล้างประวัติให้เขาเลย ถ้ามันไม่ร้ายแรงเข้าเกณฑ์หมด

"หมอระวี" ใช่ครับ เข้าเกณฑ์หมด

 

"วราวิทย์"  ถามว่าคนที่ไม่ได้ทำการชุมนุมเลยแสดงความเห็นทางโซเชียลมีเดียผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หมิ่นประมาทแต่ว่ามีแรงจูงใจทางการเมือง ก็รวมทั้งหมด

 

"หมอระวี" ใช่ครับ รวมทั้ง 116 ด้วย เท่าที่หารือกันทุกคนก็เห็นร่วมกันว่าควรจะนิรโทษให้ 116 ยกเว้น 112 เท่านั้นที่เกือบทุกฝ่ายเห็นชอบว่าไม่ควรที่จะไปนิรโทษให้ ปล่อยเป็นตามกระบวนทางกฎหมาย

 

oooooooooooooo


ฟังมุมมอง ของการออก"กฎหมายนิรโทษกรรม" จากตัวแทนคณะก้าวหน้า "พรรณิการ์  วานิช"  หนึ่งในกรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ว่าทำไมถึงเห็นว่าการนิรโทษกรรม ควรมีคดี 112 ร่วมอยู่ด้วย
  

โยนหินถามทาง "นิรโทษกรรม" ทุกสีเสื้อ ยกเว้น "คดี 112" แบบไหนสังคมต้องการ
 

"วราวิทย์"  ถามว่า ในฐานะอดีตพรรคอนาคตใหม่ วิธีคิดก็จะคล้ายกับพรรคก้าวไกล คนของก้าวไกลบอกว่าไม่เห็นด้วยหาก มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม แต่ไม่รวมคดี 112 คิดเห็นอย่างไร 

 

"ช่อ พรรณิการ์" มองว่า เรื่องของ"การนิรโทษกรรมทางการเมือง" จุดเริ่มต้นมาจากหลักการว่า ทำไมต้องมีการออกกฎหมายฉบับนี้ก่อน เพราะประเทศไทยมีบาดแผลที่ใหญ่ จากการชุมนุมที่คัดค้าน นิรโทษกรรมเหมาเข่ง  ฉะนั้น ข้อแรกที่ต้องคำนึงคือสิ่งใดที่ทำให้คนยอมรับได้ว่า "นิรโทษกรรม"คือความจำเป็น ไม่ใช่การปล่อยให้คนผิดลอยนวล แม้ว่าที่ผ่านมาคนที่ได้รับ"การนิรโทษกรรม" ส่วนใหญ่ คือคนมีอำนาจ แต่ประชาชนไม่ได้กระผิดแต่กลับโดนลงโทษ  

 

เพราะฉะนั้นการเสนอ"กฎหมายนิรโทษกรรม" ต้องก้าวผ่านความขัดแย้งที่ผ่านมาเพื่อมองอนาคตและปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมามีคดีการเมืองเกิดขึ้นเยอะมาก และยิ่งมีคดีเหล่านี้เกิดขึ้นเยอะเท่าไหร่ ความขัดแย้งก็จะยิ่งร้าวลึก และไม่สามารถพูดคุยกันได้ ซึ่งทำให้นิรโทษกรรมต้องรวมถึงคดีการเมือง จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงต้องรวม 112

 

ที่ผ่านมาก็เป็นอย่างที่ "น.พ.ระวี" กล่าวว่า "คดี 112" เป็นเรื่องสำคัญ ยอมไม่ได้ หรือถ้ารวม "คดี112" จะทำให้ กฎหมายฉบับนี้ไม่ผ่าน จึงเห็นว่าหากไม่รวม "คดี112" เข้าไปจะไปเกี่ยวข้องกับคดีการเมืองได้อย่างไร เพราะในประเทศไทย ทั้งคนที่เห็นด้วยและเห็นต่าง ย่อมเข้าใจว่า 112 คือ คดีการเมือง  เพราะคดีนี้นักโทษไม่ได้ทำอาชญกรรม แต่เพราะคุณมีความคิดที่แตกต่าง จึงถูกลงโทษ ซึ่งหากนิรโทษกรรมคดีการเมือง แต่ไม่รวม "คดี 112" ก็จะไม่สามารถคลี่คลายความขัดแย้งได้ สุดท้ายก็แค่การพยายามให้คนบางกลุ่มพ้นผิด แต่ไม่ใช่การแก้ไขความขัดแย้ง เพื่อให้สังคมเดินหน้า ซึ่งหากไม่ใช่เพื่อคะแนนนิยมทางการเมืองหรือความอยู่รอดทางการเมือง  คงไม่มีพรรคการเมืองใดกล้าเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษ 
 

"วราวิทย์"  ถามว่า แต่หากรวม 112 ไปด้วยอาจทำให้ กฎหมายทั้งฉบับ เป็นไปได้น้อยมากที่จะผ่านสภาผู้แทนราษฎร และจะทำให้คนจำนวนมากพลาดโอกาสจากนิรโทษกรรมไป หาก พัก 112 ไว้ก่อนเพื่อผลักดันให้คนส่วนใหญ่ จะได้หรือไม่ 

 

"ช่อ พรรณิการ์" ถามกลับว่า คุณรู้มั้ยว่า มีเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่โดนคดี 112 เท่าไหร่ จะบอกให้ว่า มีจำนวนเกือบสองร้อยคน  ถามว่าเป็นจำนวนที่น้อยหรือไม่ สำหรับประเทศหนึ่งที่มีจำนวนนักโทษทางการเมือง นักโทษทางความคิด ขอบอกว่า ไม่ใช่น้อย  แต่นี่คือการใช้กฏหมาย ใส่ร้ายป้ายสี คดีที่ใช้กฎหมายเป็น "นิติสงคราม" แต่หากยกเว้น ไม่นำ 112 ร่วมใน กฎหมายนิรโทษ จะยิ่งเกิดการตั้งคำถามว่า ตกลง คดี 112 มีสถานะพิเศษอย่างไร  เชื่อว่าจะส่งผลร้ายมากกว่าผลดี ซึ่งจะไม่สามารถตอบคำถามได้ว่าการ "นิรโทษกรรมคดีการเมือง" เพื่อคลี่คลายความขัดแย้ง เพื่อให้สังคมกลับมาพูดคุยในความเห็นที่แตกต่าง เพราะว่าคดีการเมืองที่เกิดขึ้นทั้งหมด  ไม่เกี่ยวข้องกับคดี 112 ได้อย่างไร 

 

"วราวิทย์" ถามอีกว่า ในทางการเมือง หากมีจุดยืนแบบนี้  จะทำให้ พรรคก้าวไกล ยิ่งถูกผลักออกไป หรือกลายเป็น "แกะดำ" ในสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ 

 

"ช่อ พรรณิการ์" มองว่าประเทศไทยอยู่กับความสุดโต่งมากจนเกินไป และกลายเป็นความเคยชิน  ทั้งที่ อนาคตใหม่ และก้าวไกล ที่ทำต่อเนื่องกันมา เราต้องการทำให้ประเทศเป็นปกติ เช่น การยุติวงจรรัฐประหารทุก 7 ปี ให้เลิก หรือทหารมาเกี่ยวข้องการเมือง  หรือการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร  แต่สิ่งเหล่านี้กลับถูกมองว่าสุดโต่ง ทั้งที่เป็นเรื่องปกติ ที่พยายามทำให้กลับมาสู่ตรงกลางให้มาทางฝั่งประชาชนไม่ใช่ผู้ที่มีอำนาจ ซึ่งหากทุกพรรคการเมืองทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องพิเศษ จะยิ่งทำให้ส่งผลในทางกลับกัน เป็นทางร้ายมากกว่าทางดี ซึ่งการนิรโทษ 112 ควรทำให้เป็นเรื่องปกติ  อย่ามองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ทำ เพราะจะยิ่งเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้  ทั้งที่ในหลายประเทศ ได้แก่ เดนมาร์ก หรือ สวีเดน ก็ทำกัน 

 

ชมคลิป>>>


logoline