svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เช็กสุขภาพ ประเมินตนเอง เราป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หรือยัง 

24 ตุลาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แบบประเมินกรมสุขภาพจิต 9 คำถามจะช่วยคัดกรองในเบื้องต้น ถึงภาวะความเสี่ยงโรคซึมเศร้า ทั้งนี้ หากได้รับการวินิจฉัยว่า "ป่วย" สามารถเข้ารับการรักษาได้ฟรี ทุกสิทธิประกันสุขภาพภาครัฐ แต่คงจะดีกว่า หากป้องกันโดยยึดหลักสื่อสารเชิงบวกระหว่างกัน 

อีกหนึ่งโรคฮิต จนไม่แน่ใจว่า โรคซึมเศร้า โรคนี้ เรา หรือ คุณป่วยเป็นโรคซึมเศร้ากันหรือยัง?

“โรคซึมเศร้า” ถือเป็นภัยเงียบที่พบมากขึ้นในสังคมปัจจุบันอันตึงเครียด และเป็นที่น่ากังวลไม่แพ้กับการเจ็บป่วยทางร่างกาย ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกพบว่า ในคน 20 คน จะมีคนที่กำลังเผชิญกับภาวะซึมเศร้า 1 คน ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลย

แม้บางคนจะมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคนี้ แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่เข้าใจว่า โรคซึมเศร้าสามารถรักษาได้ด้วยการปรับความคิดก็พอแล้ว หรือ มองว่าถ้าเข้มแข็งขึ้นก็จะหายได้เอง ซึ่งบางครั้งอาจไม่ใช่หนทางรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยเสมอไป 

โรคซึมเศร้าจัดว่าเป็น “โรค” ที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกาย เมื่อเป็นแล้วสามารถเข้ารับการรักษา และวินิจฉัยโดยแพทย์ เพื่อระบุสาเหตุและนำไปสู่การรักษาอย่างถูกต้อง เช่นเดียวกับโรคอื่น ๆ 

  เช็กสุขภาพ ประเมินตนเอง เราป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หรือยัง 

โรคซึมเศร้าคืออะไร??


สำหรับคนส่วนใหญ่แล้วคำว่าโรคซึมเศร้าฟังดูไม่คุ้นหู ถ้าพูดถึงเรื่องซึมเศร้าเรามักจะนึกกันว่าเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดจากความผิดหวัง หรือการสูญเสียมากกว่าที่จะเป็นโรค ซึ่งตามจริงแล้ว ที่เราพบกันในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกธรรมดาๆ ที่มีกันในชีวิตประจำวัน มากบ้างน้อยบ้าง อย่างไรก็ตามในบางครั้ง ถ้าอารมณ์เศร้าที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอยู่นานโดยไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น หรือเป็นรุนแรง มีอาการต่างๆ ติดตามมา เช่น นอนหลับๆ ตื่นๆ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงมาก หมดความสนใจต่อโลกภายนอก ไม่คิดอยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป ก็อาจจะเข้าข่ายของโรคซึมเศร้าแล้ว

 

คำว่า “โรค” บ่งว่าเป็นความผิดปกติทางการแพทย์ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาเพื่อให้อาการทุเลา ต่างจากภาวะอารมณ์เศร้าตามปกติธรรมดาที่ถ้าเหตุการณ์ต่างๆ รอบตัวคลี่คลายลง หรือมีคนเข้าใจเห็นใจ อารมณ์เศร้านี้ก็อาจหายได้ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้านอกจากมีอารมณ์ซึมเศร้าร่วมกับอาการต่างๆ แล้ว การทำงานหรือการประกอบกิจวัตรประจำวันก็แย่ลงด้วย คนที่เป็นแม่บ้านก็ทำงานบ้านน้อยลงหรือมีงานบ้านคั่งค้าง คนที่ทำงานนอกบ้านก็อาจขาดงานบ่อยๆ จนถูกเพ่งเล็ง เรียกว่าตัวโรคทำให้การประกอบกิจวัตรประจำวันต่างๆ บกพร่องลง หากจะเปรียบกับโรคทางร่างกายก็คงคล้ายๆ กัน เช่น ในโรคหัวใจ ผู้ที่เป็นก็จะมีอาการต่างๆ ร่วมกับการทำอะไรต่างๆ ได้น้อยหรือไม่ดีเท่าเดิม


 
ดังนั้น การเป็นโรคซึมเศร้าไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่เป็นเป็นคนอ่อนแอ คิดมาก หรือเป็นคนไม่สู้ปัญหา เอาแต่ท้อแท้ ซึมเซา แต่ที่เขาเป็นนั้นเป็นเพราะตัวโรค กล่าวได้ว่าถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม โรคก็จะทุเลาลง เขาก็จะกลับมาเป็นผู้ทีจิตใจแจ่มใส พร้อมจะทำกิจวัตรต่างๆ ดังเดิม

เช็กสุขภาพ ประเมินตนเอง เราป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หรือยัง 

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมค่อนข้างมาก การเปลี่ยนแปลงหลักๆ จะเป็นในด้านอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด พฤติกรรม ร่วมกับอาการทางร่างกายต่างๆ ดังจะได้กล่าวต่อไป

เช็กสุขภาพ ประเมินตนเอง เราป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หรือยัง 

จะรู้ได้อย่างไรว่า(เรา)ป่วยเป็นโรคนี้หรือเปล่า????

 

อาการซึมเศร้านั้นมีด้วยกันหลายระดับตั้งแต่น้อยๆ ที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน ไปจนเริ่มมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวัน และบางคนอาจเป็นถึงระดับของโรคซึมเศร้า อาการที่พบร่วมอาจเริ่มตั้งแต่รู้สึกเบื่อหน่าย ไปจนพบอาการต่างๆ มากมาย 
 

แบบสอบถามภาวะอารมณ์เศร้า (Patient Health Questionnaire; PHQ9) เป็นแบบสอบถามทีใช้เพื่อช่วยในการประเมินว่าผู้ตอบมีมีภาวะซึมเศร้าหรือไม่ รุนแรงมากน้อยเพียงใด เป็นมากจนถึงระดับที่ไม่ควรจะปล่อยทิ้งไว้หรือไม่ แบบสอบถามนี้ไม่ได้บอกว่าเป็นโรคอะไร เพียงแต่ช่วยบอกว่าภาวะซึมเศร้าที่มีอยู่ในระดับไหนเท่านั้น ในการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่นั้น ผู้ที่มีอารมณ์ซึมเศร้ายังต้องมีอาการที่เข้าตามเกณฑ์การวินิจฉัยด้านล่าง
 

ข้อดีอย่างหนึ่งของแบบสอบถามนี้คือสามารถใช้ช่วยในการประเมินระดับความรุนแรงของอาการได้ ว่าแต่ละขณะเป็นอย่างไร อาการดีขึ้นหรือเลวลง การรักษาได้ผลหรือไม่ ผู้ป่วยอาจทำและจดบันทึกไว้ทุก 1-2 สัปดาห์ โดยถ้าการรักษาได้ผลดีก็จะมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นโดยมีค่าคะแนนลดลงตามลำดับ


 

สาเหตุ
ปัจจุบันแนวคิดเกี่ยวกับสาเหตุของโรคซึมเศร้านั้น เชื่อกันว่าสัมพันธ์กับหลายๆ ปัจจัย ทั้งจากด้านกรรมพันธุ์ การพลัดพรากจากพ่อแม่ในวัยเด็ก พัฒนาการของจิตใจ รวมถึงปัจจัยทางชีวภาพ เช่น การเปลี่ยนแปลงของระดับสารเคมีในสมองบางตัวเป็นต้น
 
ปัจจัยสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคซึมเศร้าได้แก่

 

กรรมพันธุ์ พบว่ากรรมพันธุ์มีส่วนเกี่ยวข้องสูงในโรคซึมเศร้าโดยเฉพาะในกรณีของผู้ที่มีอาการเป็นซ้ำหลายๆ ครั้ง
 

สารเคมีในสมอง พบว่าระบบสารเคมีในสมองของผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติอย่างชัดเจน โดยมีสารที่สำคัญได้แก่ ซีโรโทนิน (serotonin) และนอร์เอพิเนฟริน (norepinephrine) ลดต่ำลง รวมทั้งอาจมีความผิดปกติของเซลล์รับสื่อเคมีเหล่านี้ ปัจจุบันเชื่อว่าเป็นความบกพร่องในการควบคุมประสานงานร่วมกัน มากกว่าเป็นความผิดปกติที่ระบบใดระบบหนึ่ง ยาแก้ซึมเศร้าที่ใช้กันนั้นก็ออกฤทธิ์โดยการไปปรับสมดุลย์ของระบบสารเคมีเหล่านี้
ลักษณะนิสัย บางคนมีแนวคิดที่ทำให้ตนเองซึมเศร้า เช่น มองตนเองในแง่ลบ มองอดีตเห็นแต่ความบกพร่องของตนเอง หรือ มองโลกในแง่ร้าย เป็นต้น บุคคลเหล่านี้เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่กดดัน เช่น ตกงาน หย่าร้าง ถูกทอดทิ้งก็มีแนวโน้มที่จะเกิดอาการซึมเศร้าได้ง่าย ซึ่งหากไม่ได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสมอาการอาจมากจนกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้

โรคซึมเศร้านั้นไม่ได้มีสาเหตุจากแต่เพียงปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเท่านั้น เหมือนกับการป่วยเป็นไข้หวัด ก็มักเป็นจากร่างกายอ่อนแอ จากพักผ่อนน้อย ไม่ได้ออกกำลังกาย ขาดสารอาหาร ถูกฝน อากาศเย็น ร่วมกับการได้รับเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดไข้หวัด ถ้าเราแข็งแรงดี แม้จะได้รับเชื้อหวัดก็ไม่เป็นอะไร ในทำนองเดียวกัน ถ้าร่างกายเราอ่อนแอ แต่ไม่ได้รับเชื้อหวัดก็ไม่เกิดอาการ การเริ่มเกิดอาการของโรคซึมเศร้านั้นมักมีปัจจัยกระตุ้น มากบ้างน้อยบ้าง บางครั้งอาจไม่มีก็ได้ซึ่งพบได้น้อย 


อย่างไรก็ตาม การมีสาเหตุที่เห็นชัดว่าเป็นมาจากความกดดันด้านจิตใจนี้ มิได้หมายความว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดาของคนเราไม่ว่าจะรุนแรงแค่ไหน การพิจารณาว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นผิดปกติหรือไม่ เราดูจากการมีอาการต่าง ๆ และความรุนแรงของอาการเป็นหลัก ผู้ที่มีอาการเข้ากับเกณฑ์การวินิจฉัยโรคซึมเศร้านั้น บ่งถึงภาวะของความผิดปกติที่จำต้องได้รับการช่วยเหลือ
 

เผยยอดตัวเลขคนไทยป่วยโรคซึมเศร้า

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในประเทศไทยกว่า 1.5 ล้านคน เป็นสาเหตุของการเสียชีวิต 4,000 รายต่อปี และพยายามคิดสั้นถึง 53,000 คนต่อปี

ขณะที่ ข้อมูลรายงานการเข้าถึงบริการโรคซึมเศร้า อายุ 15 ปีขึ้นไป จาก HDC ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่1 ตุลาคม 2565  ใน 76 จังหวัด (ไม่รวมกรุงเทพมหานคร)
พบว่า ทั่วประเทศ จำนวนผู้ป่วยคาดประมาณจากความชุกที่ได้จากการสำรวจ  89,684 คน จำนวนผู้ป่วยสะสมทั้งหมดที่ได้รัยการวินิจฉัยและรักษา 97,202 คน อัตราการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยและรักษา เทียบกับคาดประมาณผู้ป่วย อยู่ที่ 108. 38 
ไม่ได้คิดไปเอง! ผลสแกนชี้ สมองผู้ป่วย "โรคซึมเศร้า" ต่างจากสมองคนปกติ


9 คำถามประเมิน(โรค)ซึมเศร้า

กรมสุขภาพจิต ได้จัดทำ แบบประเมินโรคซึมเศร้าออนไลน์(9Q) สำหรับให้ประชาชนประเมินตนเองเบื้องต้นผ่านออนไลน์ โดยสามารถทำแบบประเมินได้ ที่นี่

แบบประเมินจะประกอบด้วย 9 คำถาม:  " ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมารวมทั้งวันนี้ คุณมีอาการเหล่านี้บ่อยแค่ไหน "

รู้สึกแย่ เศร้า หงุดหงิด หรือสิ้นหวัง
รู้สึกเหนื่อยล้า ไม่ค่อยมีเรี่ยวแรง
ไม่สนใจหรือไม่มีความสุขเวลาทำอะไร (ถึงแม้จะเป็นสิ่งที่เคยชอบ)
รู้สึกแย่กับตัวเอง
นอนไม่หลับหรือหลับมากไป
จดจ่อกับอะไรได้ยาก เช่น อ่านหนังสือ
เบื่ออาหาร หรือ กนมากกว่าปกติ
พูดหรือทำอะไรช้า หรือกระวนกระวายมาก

 


ทำอย่างไรเมื่อรู้สึก'ซึมเศร้า'

โรคซึมเศร้า สามารถรักษาให้หายได้   หากผลประเมินเบื้องต้น พบว่า มีความเสี่ยง  สามารถโทรปรึกษาเบื้องต้น ได้ฟรี ที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323

สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต ได้ออกคำแนะนำ  เรื่อง ฉันควรทำอย่างไรเมื่อเป็นโรคซึมเศร้า ดังนี้


เอาใจใส่ดูแลตัวเอง
เริ่มต้นด้วยการดูแลตัวเองให้ดี กินให้พอ นอนให้พอ เพราะคนซึมเศร้ามักกินไม่ได้นอนไม่หลับ ทำให้สภาพร่างกายอ่อนเพลียและอารมณ์จะแย่ตาม แต่บางคนอาจกินหรือนอนมากไปซึ่งจะทำให้อารมณ์แย่ลงได้เช่นเดียวกันควรกินนอนพอดีๆให้เป็นเวลา

หาอะไรทำกับชีวิตให้มีความสุข
อารมณ์เศร้าจะทำให้อยากอยู่เฉยๆ ไม่อยากทำอะไร ไม่อยากออกไปไหน แต่สุดท้ายถ้าเราทำตามอารมณ์ก็จะยิ่งเศร้ามากขึ้น

คำแนะนำที่ดี 
คือให้ฝืนทำกิจกรรมที่ควรทำ หรือจำเป็นต้องทำต่อไปแม้จะไม่อยากทำ ให้คิดไว้เสมอว่า “ต้องทำตามแผน...อย่าทำตามอารมณ์"

ถ้าสามารถเพิ่มกิจกรรมให้ Active มากยิ่งขึ้นกว่าปกติได้ยิ่งดี เช่น ออกกำลังกาย จัดห้อง เก็บกวาดทำความสะอาดบ้าน กลับไปทำงานอดิเรกที่ตัวเองชอบการ ทำตัวให้กระฉับกระเฉง จะเป็นวิธีต้านอารมณ์เศร้าที่ดีมาก และทำให้หายจาก โรคซึมเศร้า ได้เร็วขึ้น

หากเป็นโรคนี้ควรพบหรือปรึกษาจิตแพทย์
การไปพบจิตแพทย์เพื่อรักษาโรคซึมเศร้า ไม่ใช่เรื่องน่าอาย คนเราป่วยกายก็ไปหาหมอตรวจร่างกาย ถ้าจิตใจไม่สบายก็ไปให้จิตแพทย์รักษา เริ่มแรกจิตแพทย์จะพูดคุย รับฟัง แนะนำการปฏิบัติตัวให้เราและพ่อแม่ฟัง แล้วนัดมาดูอาการบางครั้งโรคซึมเศร้าสามารถหายเองได้เพียงแค่ดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม

จิตบำบัด
จิตแพทย์อาจให้เราทำจิตบำบัด (psychotherapy) ซึ่งก็คือการไปนั่งคุยกันเพื่อประโยชน์ในการทำความเข้าใจตัวเราเองและหาวิธีจัดการอารมณ์ความรู้สึกในใจของเราให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเนื้อหาในการพูดคุยจะถือว่าเป็นความลับ

ยาต้านเศร้า
ยาจะช่วยปรับสารเคมีในสมองของเราให้กลับสู่สมดุลภายใน 2-4 เดือน ควรกินยาสม่ำเสมอตามแพทย์สั่งและไม่ควรหยุดกินยาเองแม้จะอาการดีขึ้นแล้ว

พูดคุยกับคนที่ไว้ใจ
การพูดคุยกับคนที่เราไว้ใจจะช่วยให้เราได้ระบายความรู้สึก ไม่ต้องเก็บเอาไว้คนเดียว ลองนึกดูว่าเราคุยกับใครได้บ้าง อาจจะเป็นคุณพ่อคุณแม่พี่น้องครูอาจารย์หรือเพื่อนที่เข้าใจการพูดคุยจะทำให้เราได้แบ่งปันความรู้สึกกันได้รู้ว่าไม่ได้มี แต่เราที่ทุกข์อยู่คนเดียวนอกจากนี้คนอื่นอาจมีวิธีแก้ปัญหาดีๆที่เรานึกไม่ถึงแนะนำให้เราก็ได้ (อย่าลืมว่าเวลาซึมเศร้าเราจะคิดอะไรไม่ค่อยออกเหมือนตอนปกติ)

รู้หรือไม่ว่า..หากป่วยซึมเศร้ารักษาฟรี

เมื่อเข้าพบจิตแพทย์แล้วได้รับการวินิจฉัยป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาได้ฟรี ทุกสิทธิประกันสุขภาพภาครัฐทั้งประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ และหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง

ผู้ที่อยู่ในสิทธิบัตรทอง หากไม่แน่ใจในสิทธิการรักษาพยาบาลของตัวเอง สามารถสอบถามได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 ซึ่งจะแจ้งหน่วยงานบริการประจำ (ใกล้บ้าน) ว่าอยู่ที่ไหน เพื่อเดินทางไปรักษา

สิทธิสวัสดิข้าราชการ ครอบคลุมทั้งข้าราชการและครอบครัว  ตรวจสอบสิทธิเพิ่มเติมที่ กรมบัญชีกลาง โทร. 02-127-7000

ประกันสังคม คุ้มครองการรักษาโรคซึมเศร้าและโรคจิตเวชทุกประเภท สามารถใช้สิทธิในโรงพยาบาลที่กำหนดไว้ในระบบประกันสังคม โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ตรวจสอบสิทธิเพิ่มเติม สายด่วนประกันสังคม 1506

8 ทักษะสื่อสารป้องกันซึมเศร้า

ศูนย์ความรู้เทคโนโลยีโรคซึมเศร้าไทย  รพ.พระศรีมหาโพธิ์ กรมสุขภาพจิต เผยแพร่ “ทักษะการสื่อสาร ป้องกันซึมเศร้า” โดยเป็นเทคนิควิธีการสื่อสารทางบวก ซึ่งเป็นการสื่อสารที่ทำให้เกิดความเข้าอกเข้าใจกัน และนำไปสู่การเติมเต็มความรู้สึกนึกคิดที่ดีต่อกัน 8 ข้อ อ้างอิงจาก

Veridian E-Journal, Slipakorn University ฉบับภาษาไทย สาขามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ ปีที่ 8 ฉบับที่ 2 เดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2558 ดังนี้

  1. การบอกความรู้สึกนึกคิดของตนเอง หรือ I Message เป็นการสื่อสารที่ทำให้อีกฝ่ายเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องว่าเรามีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร
  2. การถามและการรับฟังความคิดเห็นของอีกฝ่าย เป็นการสื่อสาร 2 ทาง (Two-way communication)
  3. มีการแสดงความชื่นชมและขอบคุณกันในโอกาสที่เหมาะสม เช่น การชมลูกเมื่อลูกช่วยทำงานบ้าน เป็นต้น รวมทั้งให้กำลังใจกันเมื่อสมาชิกในครอบครัวประสบปัญหาบางอย่างในชีวิต
  4. ใช้การสื่อสารที่มีเนื้อหาชัดเจน และตรงต่อบุคคลเป้าหมายตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
  5. พึงระลึกไว้เสมอว่าการกระทำเสียงดังกว่าคำพูด (Actions speak louder than words) ดังนั้นคำพูดและการกระทำควรสอดคล้องกัน
  6. ใช้คำพูดเชิงบวกที่ให้เกียรติกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ แม้แต่กับคนที่มีอายุน้อยกว่า
  7. ใช้คำพูดที่ชัดเจนและเฉพาะเจาะจงในเรื่องที่ต้องการสื่อสาร
  8. หลีกเลี่ยงการสื่อสารทางลบ ได้แก่ การใช้สีหน้าบึ้งตึง เฉยเมย เย็นชา การใช้วิธีเงียบไม่พูดเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง การพูดที่คลุมเครือไม่ชัดเจนซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้และการพูดที่มีลักษณะสั่งสอน ติเตียน ประชดประชัน
     

เปิดแนวทางคำแนะนำสำหรับญาติ


ญาติมักจะรู้สึกห่วงผู้ที่เป็น ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงได้ซึมเศร้ามากขนาดนี้ ทั้งๆ ที่เรื่องที่มากระทบก็ดูไม่หนักหนานก ทำให้บางคนพาลรู้สึกโกรธ ขุ่นเคือง เห็นว่าผู้ป่วยเป็นคนอ่อนแอ เป็นคน “ไม่สู้” ทำไมเรื่องแค่นี้ถึงต้องเศร้าเสียใจขนาดนี้ ท่าทีเช่นนี้กลับยิ่งทำให้ผู้ที่เป็นรู้สึกว่าตัวเองยิ่งแย่ขึ้นไปอีก เกิดความรู้สึกว่าตนเองเป็นภาระแก่ผู้อื่น ทำให้จิตใจยิ่งตกอยู่ในความทุกข์


 
แต่ทั้งนี้ ภาวะที่เขาเป็นนี้ไม่ใช่อารมณ์เศร้าธรรมดา หรือเป็นจากจิตใจอ่อนแอ หากแต่เป็นภาวะของความผิดปกติ เขากำลัง “เจ็บป่วย” อยู่ หากจะเปรียบกับโรคทางกายเช่น โรคปอดบวม อาจจะทำให้พอเห็นภาพชัดขึ้น คนเป็นโรคปอดบวมจะมีการอักเสบของปอด เสมหะเหนียวอุดตันตามหลอดลม ทำให้มีอาการหอบเหนื่อย เจ็บหน้าอก มีไข้ สิ่งที่เขาเป็นนั้นเขาไม่ได้แกล้งทำ หากแต่เป็นเพราะมีความผิดปกติอยู่ภายในร่างกาย เขากำลังเจ็บป่วยอยู่ กับโรคซึมเศร้าก็เป็นเช่นเดียวกัน ความกดดันภายนอกที่รุมเร้าร่วมกับปัจจัยเสี่ยงหลายๆ อย่างในตัวเองทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีและระบบฮอร์โมนต่างๆ ในสมอง เกิดมีอาการต่างๆ ตามมาทั้งทางกายและใจนอกเหนือไปจากความเศร้าโศก ณ ขณะนั้น

 

นอกจากอารมณ์ที่เปลี่ยนไปแล้ว ยังพบมีอาการทางร่างกาย ต่างๆ นาๆ รวมด้วย ความคิดเห็น มุมมองต่อสิ่งต่างๆ ก็เปลี่ยนไปด้วย การมองสิ่งต่างๆ ในแง่ลบ ก็กลับจะยิ่งไปส่งเสริมให้จิตใจเศร้าหมอง กลัดกลุ้มมากขึ้นไปอีก เขาห้ามให้ตัวเองไม่เศร้าไม่ได้ ทั้งหมดนี้เป็นปรากฏการณ์ของความเจ็บป่วย ซึ่งเมื่อได้รับการรักษาหายแล้ว อารมณ์เศร้าหมองก็จะดีขึ้น จิตใจแจ่มใสขึ้น การมองสิ่งรอบตัวก็จะเปลี่ยนไป อาการต่างๆ จะค่อยๆ หายไป
 

หากญาติมีความเข้าใจผู้ที่เป็น โรคซึมเศร้า มองว่าเขากำลังไม่สบาย ความคาดหวังในตัวเขาก็จะลดลง ความหงุดหงิด คับข้องใจก็ลดลง เรามักจะให้อภัยคนที่กำลังไม่สบาย มีข้อยกเว้นให้บางอย่าง เพราะเราทราบดีว่าเขาไม่ได้แกล้งทำ ไม่มีใครอยากป่วย

การรักษาด้วยยาแก้ซึมเศร้า
 

ยาแก้ซึมเศร้ามีส่วนช่วยในการรักษาโรคนี้ แม้ผู้ที่ป่วยบางคนอาจรู้สึกว่าความทุกข์ใจหรือปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตนเองนั้นเป็นเรื่องของจิตใจ แต่ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ถ้าเป็นโรคซึมเศร้าแล้วแสดงว่าได้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในร่างกายของคนเราจนทำให้เกิดมีอาการต่างๆ เช่น น้ำหนักลด อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ร่วมอีกหลายๆ อาการ ไม่ใช่มีแต่เพียงอารมณ์เศร้าอย่างเดียว ซึ่งยาจะมีส่วนช่วยในการบำบัดอาการต่างๆ เหล่านี้ อีกทั้งยังสามารถทำให้อารมณ์ซึมเศร้า ความวิตกกังวลใจทุเลาลงได้ด้วย

 

จากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้า 10 คนหากได้รับการรักษาด้วยยาแก้ซึมเศร้าอาการจะดีขึ้นจนหายถึง 8-9 คน ในขณะที่หากไม่รับการรักษานั้นอาการจะดีเองขึ้นเพียง 2-3 คนเท่านั้น (เฉพาะในรายที่อาการไม่รุนแรง หากอาการรุนแรงอาจจะกล่าวได้ว่ายากที่จะหายเอง)

 

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้มักรู้สึกว่าตนเองไม่มีค่า ไม่มีใครสนใจ ต้องรับความกดดันต่างๆ แต่ผู้เดียว รู้สึกสิ้นหวัง ไม่อยากจะสู้ปัญหาอะไรๆ อีกแล้ว แต่ขอให้ความมั่นใจว่าความรู้สึกเช่นนี้ไม่ได้เป็นอยู่ตลอดไป โรคนี้รักษาให้หายขาดได้ เมื่ออาการของโรคดีขึ้น มุมมองต่อสิ่งต่างๆ ในแง่ลบจะเปลี่ยนไป ความมั่นใจในตนเองจะมีเพิ่มขึ้น มองเห็นปัญหาต่างๆ ในมุมมองอื่นๆ ที่แตกต่างออกไปจากเดิมมากขึ้น
 

ข้อควรทราบ :

โรคนี้ไม่ได้อาการดีขึ้นทันทีที่กินยา การรักษาต้องใช้เวลาบ้าง ส่วนใหญ่จะเป็นสัปดาห์ อาการจึงจะดีขึ้นอย่างเห็นชัด จึงไม่ควรคาดหวังจากผู้ป่วยมากเกินไป
การรักษาด้วยยามีความสำคัญ ควรช่วยดูแลเรื่องการกินยา โดยเฉพาะในช่วงแรกที่ผู้ป่วยยังซึมเศร้ามาก หรืออาจมีความคิดอยากตาย
การตัดสินใจในช่วงนี้จะยังไม่ดี ควรให้ผู้ป่วยเลี่ยงการตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ ไปก่อนจนกว่าจะเห็นว่าอาการเขาดีขึ้นมากแล้ว
 
เช็กสุขภาพ ประเมินตนเอง เราป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หรือยัง 

ขอขอบคุณที่มาข้อมูล : โรคซึมเศร้าโดยละเอียดโดยศาสตราจารย์นายแพทย์มาโนช หล่อตระกูล

logoline