svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ชาวชัยนาทแห่ต้อนรับ “บิ๊กป้อม” ลงตรวจพื้นที่น้ำท่วม สั่งเร่งแก้ไข-เยียวยา

03 ตุลาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ชาวชัยนาทแห่ต้อนรับ “บิ๊กป้อม” ลงตรวจพื้นที่ ชัยนาท-อ่างทอง- อยุธยา สั่ง เร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว พร้อมหามาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ วางแผนการปลูกพืชในพื้นที่ลุ่มต่ำที่ใช้เป็นพื้นที่รับน้ำหลาก และเก็บกักน้ำไว้ใช้หน้าแล้ง

3 ตุลาคม 2565 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ตรวจราชการและติดตามการดำเนินการโครงการด้านทรัพยากรน้ำในพื้นที่จังหวัดชัยนาทและพระนครศรีอยุธยา โดยนายรังสรรค์ ตันเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท กล่าวต้อนรับ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รายงานสถานการณ์น้ำและสรุปการดำเนินการของศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง

 

ชาวชัยนาทแห่ต้อนรับ "บิ๊กป้อม" ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำท่วม

 

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน รายงานแนวทางการบริหารจัดการน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานสถานการณ์อุทกภัยในภาพรวมและการช่วยเหลือในพื้นที่อุทกภัย และผู้แทนกระทรวงกลาโหม รายงานสรุปการสนับสนุนศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลางและการช่วยเหลือในพื้นที่อุทกภัย ณ สำนักงานชลประทานที่ 12 อ.สรรพยา จ.ชัยนาท

 

หลังจากนั้น ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์เขื่อนป้องกันตลิ่งบริเวณอำเภอป่าโมก จ.อ่างทอง และสถานการณ์น้ำแม่น้ำน้อย บริเวณที่ว่าการอำเภอเสนา จ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมลงพื้นที่วัดโบสถ์(ล่าง) อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อรับทราบรายงานสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ และพบปะให้กำลังใจประชาชนที่ประสบอุทกภัย

พลเอกประวิตร กล่าวว่า จากอิทธิพลพายุ “โนรู” ทำให้ฝนตกหนักมากและเกิดน้ำหลากน้ำท่วมขังส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในหลายพื้นที่ของประเทศ รัฐบาลได้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมวางแผนป้องกันและรับมือล่วงหน้า โดยการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย จำนวน 2 ศูนย์ ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุบลราชธานี และภาคกลาง จ.ชัยนาท โดยในวันนี้(3 ต.ค.) ได้ลงพื้นที่ติดตามการทำงานของศูนย์ฯ ที่ จ.ชัยนาท เพื่อรับทราบผลการดำเนินงานและปัญหาอุปสรรคในการทำงานของศูนย์ฯ ทั้งนี้ รัฐบาลมีความเป็นห่วงประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

 

ชาวชัยนาทแห่ต้อนรับ "บิ๊กป้อม" ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำท่วม

 

จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว และขอให้ทุกหน่วยงานสนับสนุนการทำงานของศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการทำงานอย่างเป็นเอกภาพ เร่งแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

นอกจากนี้ได้สั่งการให้จังหวัด กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยเร็ว รวมถึงให้ทางจังหวัดบูรณาการร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง พิจารณามาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงให้วางแผนเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้าด้วย โดยให้ สทนช.ประสานงานกับกระทรวงเกษตรฯ พิจารณาแผนการปลูกพืชในพื้นที่ลุ่มต่ำที่ใช้เป็นพื้นที่รับน้ำหลาก

ชาวชัยนาทแห่ต้อนรับ "บิ๊กป้อม" ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำท่วม

 

เพื่อป้องกันความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร และเตรียมแผนการส่งน้ำเข้าทุ่ง เพื่อช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ รวมทั้งต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบล่วงหน้าด้วย ควบคู่การแก้ไขปัญหาด้านน้ำอย่างยั่งยืน โดยมอบหมายให้ สทนช.เร่งรัดขับเคลื่อนแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง-น้ำท่วม เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำในระดับพื้นที่ และมอบหมายกรมชลประทานเร่งรัดการก่อสร้างคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

 

ด้าน เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาล่าสุดวันนี้ ( 3 ต.ค.) มีปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต้นทุนทั้ง 4 เขื่อน คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำ 18,057 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็น 73% ของปริมาณการกักเก็บ และยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 6,814 ล้าน ลบ.ม. โดยการระบายน้ำ ณ สถานี C.13 เขื่อนเจ้าพระยา อยู่ที่ 2,643 ลบ.ม./วินาที ซึ่งพบว่าน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปี 54 ที่ระบายในอัตรา 3,628 ลบ.ม./วินาที และยังน้อยกว่าปี 64 อัตรา 2,776 ลบ.ม./วินาที

 

แม้ว่าปริมาณฝนปีนี้จะใกล้เคียงกับช่วงเวเลาเดียวกันในปี 2554 แต่ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ การกำหนดแผนปฏิบัติการป้องกันล่วงหน้าตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนที่ทุกหน่วยงานดำเนินการอย่างเข้มข้น ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำ เขื่อนทุกขนาด และพื้นที่แก้มลิง เพื่อชะลอน้ำหลากในพื้นที่ตอนบนให้ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้น้อยที่สุด

 

อย่างไรก็ตาม ยังอาจจะมีผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกันน้ำบ้าง ซึ่งได้มีการประชาสัมพันธ์แจ้งให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวม 32 จังหวัด อาทิ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงราย ลำปาง เชียงใหม่  สุโขทัย ชัยภูมิ ขอนแก่น อุบลราชธานี นครราชสีมา ลพบุรี เพชรบูรณ์ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ชัยนาท ชลบุรี และพังงา เป็นต้น

 

ธนพนธ์ รายงานจากจ.ชัยนาท

ชาวชัยนาทแห่ต้อนรับ "บิ๊กป้อม" ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำท่วม

 

ชาวชัยนาทแห่ต้อนรับ "บิ๊กป้อม" ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำท่วม

"บิ๊กป้อม" ติดตามสถานการณ์น้ำน้ำท่วม ชัยนาท-อยุธยา-อ่างทอง

logoline