svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

อาลัย ‘ปิติ สิทธิอำนวย’ แม่ทัพขับเคลื่อนแบงก์กรุงเทพ

01 ตุลาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อาลัย ‘ปิติ สิทธิอำนวย’ แม่ทัพผู้ขับเคลื่อนแบงก์กรุงเทพ จนขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งในประเทศไทย

นับเป็นเรื่องเศร้าของคนในแวดวงการเงิน เมื่อ ‘ปิติ สิทธิอำนวย’ ประธานกรรมการ ธนาคารกรุงเทพ ได้ถึงแก่กรรมด้วยวัย 88 ปี ในช่วงเช้าของวันนี้ (1 ตุลาคม) โดย ปิติ นับเป็นแม่ทัพคนสำคัญของธนาคารกรุงเทพ เป็นหนึ่งในบุคคลที่ช่วยนำพาธนาคารที่มีอายุยาวนานกว่า 78 ปี ฝ่ามรสุมลูกต่างๆ มาได้ จนก้าวขึ้นเป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่สุดเป็นอันดับ 6 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังเป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่สุดในประเทศไทยด้วย

 

ปิติ เข้าทำงานที่ธนาคารกรุงเทพเมื่อปี 2505 เริ่มจากตำแหน่งเล็กๆ คือ ผู้จัดการสาขา ก่อนจะไต่เต้าขึ้นมาเป็น ประธานกรรมการ เมื่อปี 2561

ช่วงแรกของการทำงาน ปิติ ได้รับมอบหมายให้ดูแลสาขาของธนาคารกรุงเทพราว 10 สาขา ซึ่งนับเป็นโจทย์ที่ท้าทายเพราะส่วนตัวเขาไม่เคยบริหารสาขาของธนาคารพาณิชย์มาก่อนเลย แต่ด้วยความใจสู้ เขาจึงขอเลือกสาขาเอง และสาขาที่ว่านี้ คือ สาขาสีลม ซึ่งเป็นสาขาที่ใหญ่สุดในกรุงเทพมหานคร

อาลัย ‘ปิติ สิทธิอำนวย’ แม่ทัพขับเคลื่อนแบงก์กรุงเทพ

ปิติ ให้สัมภาษณ์กับทีมงานที่ทำหนังสือครบรอบ 50 ปี ของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรไว้ว่า เขาเริ่มเข้าไปบริหารสาขาเดือนกรกฎาคม ช่วงเวลานั้นสาขาสีลมมีเงินฝากอยู่ราว 650 ล้านบาท ตัวเขาตั้งเป้าไว้ว่าสิ้นปีจะต้องแตะ 1 พันล้านบาท

แต่ผู้จัดการสาขาในขณะนั้นบอกว่า ‘Impossible’ ด้วยความใจสู้ของ ปิติ จึงได้บอกกลับไปว่า Nothing is impossible และสุดท้ายเขาก็ทำได้จริง สิ้นปีนั้นตัวเลขในบัญชีมีเงินมากกว่า ‘หนึ่งพันล้านบาท’ ทั้งที่การทำงานในช่วงเวลานั้นยังไม่มีคอมพิวเตอร์ มีเพียงเครื่องแฟกซ์ธรรมดาๆ เท่านั้น

อาลัย ‘ปิติ สิทธิอำนวย’ แม่ทัพขับเคลื่อนแบงก์กรุงเทพ

นอกจากนี้ ปิติ ยังเป็นกำลังสำคัญในการนำพาธนาคารกรุงเทพฝ่ามรสุมเศรษฐกิจลูกที่ใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย นั่นก็คือ วิกฤตต้มยำกุ้ง

ปิติ เล่าว่า ช่วงเวลานั้นมีการอนุญาตให้เปิดกิจการางการเงินมากเกินไป เท่าที่จำได้มีบริษัทด้านการเงินเกือบ 100 แห่ง การแข่งขันก็สูง เมื่อมีการแข่งขันก็มักทำให้เกิดปัญหา

“มีสถาบันการเงินร้อยแห่งได้อย่างไร ทุกคนเป็นนายธนาคารเล็กๆ อยากทำธุรกิจ เพราะคิดว่าธุรกิจทำง่าย จริงๆ ธุรกิจทำยาก สุดท้ายก็พัง ทำให้ธนาคารมีปัญหาด้วย ช่วงนั้นเรามีเอ็นพีแอลสูงถึง 40% ใช้เวลาเกือบ 10 ปีเพื่อแก้ปัญหาหนี้” ปิติ ให้สัมภาษณ์ในหนังสือครบรอบ 50 ปี ของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

เขาบอกด้วยว่า ช่วงเวลานั้นแม้จะเป็นช่วงที่ยากที่สุดเท่าที่เคยประสบมา แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด ได้เห็นวิธีการบริหารสินเชื่อ วิธีที่จะคุยกับลูกค้าและพยายามช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทางแก้อย่างหนึ่งในช่วงนั้น คือ การตั้ง SAM หรือ Special Asset Management ขึ้นมา เพื่อให้ลูกค้าชำระหนี้ระยะยาว ขณะเดียวกันธนาคารกรุงเทพก็เปลี่ยนมากู้เป็นเงินบาทแทน เพราะการจะไปกู้เป็นดอลลาร์อย่างเดียวมีความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนสูง

หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง แน่นอนว่าย่อมมีการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน การแข่งขันก็สูงขึ้น การทำธุรกิจก็ยากขึ้น เพราะอัตราดอกเบี้ยผันผวนมาก และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากก็ยังต่ำมาก การจะปล่อยสินเชื่อและคิดอัตราดอกเบี้ยสูงมากทำไม่ได้ เมื่อก่อนดอกเบี้ยเคยสูงถึง 21% อยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ส่วนระดับปกติจะอยู่ประมาณ 15% ซึ่งถ้าเทียบกับปัจจุบันแทบต่างกันครึ่งหนึ่ง

แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ได้เปลี่ยนไปมากนัก คือ แนวทางในการปล่อยสินเชื่อ เพราะการปล่อยสินเชื่อขึ้นอยู่กับความพร้อมของธุรกิจนั้นๆ ถ้าธุรกิจดีธนาคารก็ช่วยเต็มที่ แต่ถ้าในมุมของธนาคารมองว่า ธุรกิจมีความพร้อมต่ำก็จะปฎิเสธไปถึงแม้ว่าจะมีหลักประกันก็ตาม เพราะการปล่อยสินเชื่อไม่ได้ขึ้นอยู่กับหลักประกัน แต่ขึ้นอยู่กับความเป็นไปได้ของโปรเจกต์(Viability)

ปิติ ยังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ประเทศไทยถ้าให้เปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ กล้าพูดได้ว่าเราโชคดี เพราะเรามีสิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่คนอื่นไม่มี คือ เรามีอาหารสมบูรณ์ที่สุด

“ผมมองว่าเศรษฐกิจของเรามีแต่จะโตขึ้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะเน้นตรงส่วนไหนเพื่อให้โต ปัจจุบันเรากำลังพัฒนา EEC ผมมองว่า EEC จะเป็นอนาคตของประเทศไทย ลูกค้ามาผมก็จะชี้ให้ดูเลยว่าอนาคตของไทยอยู่ตรงนี้ และก็จะบอกว่าให้ซื้อที่ดินบริเวณนั้นไว้เชื่อว่าอีก 10-20 ปีข้างหน้า ลูกหลานจะได้ประโยชน์จากที่ลงทุนไป”

 

ประวัติการศึกษา

ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต

Diploma in Business Administration, Hutching’s Commercial College ประเทศมาเลเซีย

Matriculation “A” Level, Cambridge University (Overseas) ประเทศสหราชอาณาจักร

Advanced Management Program จาก Harvard Business School, Harvard University, Boston ประเทศสหรัฐอเมริกา

Management Development Program, Asian Institute of Management ประเทศฟิลิปปินส์

อาลัย ‘ปิติ สิทธิอำนวย’ แม่ทัพขับเคลื่อนแบงก์กรุงเทพ

ประสบการณ์การทำงาน

25 ตุลาคม 2561 - ปัจจุบัน: ประธานกรรมการ บมจ. ธนาคารกรุงเทพ

26 ธันวาคม 2562 - ปัจจุบัน: ประธานกรรมการกำกับดูแลกิจการ บมจ. ธนาคารกรุงเทพ

1 กุมภาพันธ์ 2528 - ปัจจุบัน: กรรมการ บมจ. ธนาคารกรุงเทพ

มีนาคม 2560 - ตุลาคม 2561: รองประธานกรรมการ บมจ. ธนาคารกรุงเทพ

2556 - เมษายน 2561: ประธานกรรมการ บางกอก แบงค์ เบอร์ฮาด ประเทศมาเลเซีย

มีนาคม 2551 - ธันวาคม 2552: ประธานกรรมการบริหารร่วม บมจ. ธนาคารกรุงเทพ

2549 - กุมภาพันธ์ 2551: ประธานกรรมการบริหาร บมจ. ธนาคารกรุงเทพ

2546 - 2548: ประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง บมจ. ธนาคารกรุงเทพ

2536 - 2543: ประธานกรรมการ Asian Finance Corporation Limited ประเทศสิงคโปร์

2535 - 2549: รองประธานกรรมการบริหาร บมจ. ธนาคารกรุงเทพ

2534 - 2544: ประธานกรรมการ บมจ. เบอร์ลี่ยุคเกอร์

2532 - 2543: ประธานกรรมการ บจ. สยามสแควร์ทาวเวอร์

2530 - 2543: กรรมการ บจ. กรุงเทพซากุระลีสซิ่ง

อาลัย ‘ปิติ สิทธิอำนวย’ แม่ทัพขับเคลื่อนแบงก์กรุงเทพ

ครั้งหนึ่ง ปิติ เคยกล่าวไว้ว่า 


“… การปล่อยสินเชื่อไม่ได้ขึ้นอยู่กับหลักประกัน แต่ขึ้นอยู่กับความเป็นไปได้ของโปรเจกต์”

คำบอกเล่าของคุณปิติ สิทธิอำนวย ส่วนหนึ่งจากหนังสือ 50 Years: The Making of the Modern Thai Economy โดย #KiatnakinPhatra
 

อาลัย ‘ปิติ สิทธิอำนวย’ แม่ทัพขับเคลื่อนแบงก์กรุงเทพ

 

logoline