svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ปริญญา เทวานฤมิตรกุล" ชำแหละทุกแง่มุมก่อนพิพากษา"ประยุทธ์" ปม 8 ปีนายกฯ

29 กันยายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นับถอยหลัง 30 กันยา พิพากษา "พล.อ.ประยุทธ์" นายกรัฐมนตรีปม "8 ปีนายกฯ" ร่วมวิเคราะห์ทุกแง่มุมกับ "ปริญญา  เทวานฤมิตรกุล"  อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนวันชี้ขาดรอดหรือร่วง

 

"รายการคมชัดลึก" ทางสถานีโทรทัศน์เนชั่นทีวีออนไลน์  ดำเนินรายการโดย "วราวิทย์  ฉิมมณี" เชิญ "ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล" อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมวิเคราะห์สถานการณ์ก่อนวันศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย "พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี ปมวาระดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี "รอด" หรือ "ร่วง"

 

"วราวิทย์"  เปิดฉากประเด็นร้อน  สังคมไทยถกเถียงกันมาตลอดว่าตกลงวาระดำรงตำแหน่งนายกฯของ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" "ครบ 8 ปี" แล้วหรือไม่ ขอแยกเป็น 2 คำถาม  เชิงคำถามในมุมมองนักกฎหมาย ด้านนิติศาสตร์ และถามในเชิงความเป็นจริงในสังคมไทย 

 

"ผศ.ดร.ปริญญา" ยอมรับว่าคำถามว่า"พล.อ.ประยุทธ์" รอดหรือไม่รอดเป็นคำถามที่ตอบยากมากในเชิงความเป็นจริงของสังคมไทย เพราะ"ศาลรัฐธรรมนูญ"จะใช้หลักการวินิจฉัยจากเสียงข้างมาก  โดยจะใช้การวินิจฉัยตัดสินจากเสียงข้างมาก โดย 5 ท่านขึ้นไปจากทั้งหมด 9 ท่าน ประเด็นแรกของการวินิจฉัยว่า จะพ้นหรือไม่พ้น ซึ่งหากพ้นก็ต้องใช้เสียง  5 ต่อ 4 ยึดโยงกับการถูกสั่งปฏิบัติหน้าที่ หรือ รอดอาจเป็น 4 ต่อ 5 หรือ 6 ต่อ 3 เป็นการคาดเดากัน 
 

"ปริญญา เทวานฤมิตรกุล" ชำแหละทุกแง่มุมก่อนพิพากษา"ประยุทธ์" ปม 8 ปีนายกฯ

 

มีการวิเคราะห์กันหลายหลายทาง ว่า 9 ท่านจะมีทิศทางไปทางไหน 
หาก 5 คนขึ้นไปโหวตทางไหน ผลทางนั้น วิธีการตัดสินแบบนี้ก็มีปัญหาเพราะไม่ได้มีการวินิจฉัยให้ตกผลึกทางข้อกฎหมาย เพราะปัญหามาจากข้อกฎหมายล้วนๆ 

 

ตกลงว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 158(4) บอกว่า การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เกิน 8 ปีไม่ได้ และมาตรา 170 ให้เอาวาระ การพ้นตำแหน่ง 8 ปีมาใช้กับนายกรัฐมนตรีด้วย 

 

แต่ปัญหาเกิดขึ้นจาก ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้เขียนไว้ชัดว่าจะให้นับรวมอายุนายกรัฐมนตรีอย่างไร เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องไปวินิจฉัย จึงอยู่ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะวินิจฉัยไปทางไหน 

 

"วราวิทย์" ถามว่า ที่ผ่านมา "พล.อ.ประยุทธ์" รอดการวินิจฉัยมา 3 - 4 เรื่องแล้ว คดีนี้ทิศทางเป็นอย่างไร หากมองจากความเป็นจริง 
"ผศ.ดร.ปริญญา" กล่าวย้อนกลับว่า หากมองจากความเป็นจริง คดีนี้สังคมน่าจะรู้คำตอบ แต่ปัญหาของเรื่องคือข้อสังเกตในแวดวงวิชาการ สื่อมวลชน ประชาชน ว่ามีความยึดโยง ว่าฝ่ายตุลากรต้องมีความเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร แต่เป็นที่ทราบกันดีว่า ใน 9 คน มี 7 คน ที่ถูกแต่งตั้งยึดโยงกับอำนาจจากคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ คสช. หรือ สนช. หรือ ส.ว.  จึงทำให้ถูกมองว่าคดีที่ผ่านมารอดหมด มีครั้งนี้ที่ดูแปลกกว่าทุกครั้งที่"พล.อ.ประยุทธ์" ไม่เคยเพลี่ยงพล้ำในศาลรัฐธรรมนูญ แต่ครั้งนี้เพลี่ยงพล้ำ เพราะถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ และศาลไม่ได้รีบเร่งพิจารณาหากเทียบกับคดีที่ผ่านมา แต่จะพ้นหรือไม่พ้นต้องรอการวินิจฉัย 

 

"ปริญญา เทวานฤมิตรกุล" ชำแหละทุกแง่มุมก่อนพิพากษา"ประยุทธ์" ปม 8 ปีนายกฯ

 

แต่ได้ทำให้อำนาจหรืออิทธิพลของ"พล.อ.ประยุทธ์" ลดลง รวมถึงกระแสนิยม ก็ลดลงตั้งแต่ยึดอำนาจ หรือเป็นนายกรัฐมนตรีช่วงแรก   มีการวิเคราะห์กันส่วนใหญ่ว่า น่าจะรอด แต่ต้องรอคำสั่งศาลเป็นที่สิ้นสุด  ซึ่งไม่มีใครรู้แน่ 

 

นอกจากนี้ มุมมองของนักฎหมาย "ผศ.ดร.ปริญญา" ขอมองตามหลักวิชาด้านกฎหมายว่า หากมีการเขียนให้ชัดถึงอายุการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่จำเป็นต้องตีความ แต่เนื่องจากเขียนไว้ไม่ชัดเจน ให้คณะรัฐมนตรีที่อยู่ก่อนรัฐธรรมนูญ บริหารประเทศตามรัฐธรรมนูญนี้ เท่ากับว่านายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ต่อไปตามรัฐธรรมนูญฉบับ 60 และในมาตรา 158(4)  นายกรัฐมนตรีมีวาระการดำรงตำแหน่งรวมไม่เกิน  8 ปีแล้วต้องพ้นจากตำแหน่ง  

 

ซึ่งจุดนี้จะตีความได้ 2 อย่าง แบบแรก เมื่อเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ แล้วให้ ดำรงตำแหน่ง 8 ปี แล้วไม่มีการยกเว้นไว้ว่าไม่ได้ใช้กับนายกรัฐมนตรีที่เป็นมาก่อน ก็ต้องใช้เพราะไม่ได้ยกเว้นเอาไว้ ทุกบทบัญญัติก็ต้องใช้กับนายกรัฐมนตรี ซึ่งมาตรา 264 มีการเขียนยกเว้นหลายกรณี แต่ไม่มีในมาตรา 158(4)

 

"ปริญญา เทวานฤมิตรกุล" ชำแหละทุกแง่มุมก่อนพิพากษา"ประยุทธ์" ปม 8 ปีนายกฯ

 

แบบที่สอง เมื่อไม่ได้เขียนเอาไว้ให้ชัดเจน ว่า 8 ปี ให้ใช้กับนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมาหรือให้รวมกับตอนที่ดำรงตำแหน่งมาก่อน  ซึ่งเมื่อไม่ได้เขียนยกเว้นเอาไว้ จึงเท่ากับต้องรวม

 

"ผศ.ดร.ปริญญา" กล่าวถึงอำนาจและสิทธิเสรีภาพเป็นของคู่กัน เมื่ออำนาจยิ่งมาก สิทธิก็จะยิ่งน้อยลง หากให้สิทธิประชาชนมีมากอำนาจต้องยิ่งน้อย ซึ่งเจตนารมณ์แห่งความมุ่งหมาย ก็เขียนเอาไว้ว่าต้องการมุ่งควบคุมและจำกัดอำนาจของนายกรัฐมนตรี เว้นแต่มีการยกเว้น

 

"วราวิทย์" ถามว่า แต่ฝ่ายกฎหมายของ "พล.อ.ประยุทธ์" เขียนโต้แย้งในเอกสารที่หลุดออกมาว่า ตราบใดที่ท่านยังดำรงตำแหน่งด้วยความซื่อสัตย์สุจริตหรือเทียบเคียงว่าเป็นคนดีไม่ถือว่าผิดหลักสากลในแง่ของการผูกขาดอำนาจ ไม่ต้องสนใจว่ากี่ปี 

 

"ปริญญา เทวานฤมิตรกุล" ชำแหละทุกแง่มุมก่อนพิพากษา"ประยุทธ์" ปม 8 ปีนายกฯ

 

"ผศ.ดร.ปริญญา" มองว่าเอกสารที่ชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 20 กว่าหน้า บางประเด็นไม่ใช่นักกฎหมายเขียน เพราะเป็นการชี้แจงที่ไม่ใช่เรื่องกฎหมาย ซึ่งผิดจากความคาดหวังมากที่น่าจะเป็นการชี้แจงที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายที่มีน้ำหนัก แต่กลับเป็นประเด็นที่อ่อนกว่าที่คิด  โดยเฉพาะคำพูดของ อาจารย์ "วิษณุ เครืองงาม" รองนายกรัฐมนตรี ที่บอกว่าอ่านแล้วฟังขึ้น แต่สำหรับตนเอง อ่อนมาก และข้อที่ระบุว่า เป็นกี่ปีไม่สำคัญ เพราะเป็นคนที่ซื่อสัตย์สุจริต เพราะไม่ได้เล่นพรรคเล่นพวก ฟังแล้วเกิดคำถามสมมติว่าคนดี มีความซื่อสัตย์สุจริต แต่ไปขับรถฝ่าไฟแดง ซึ่งก็คือทำผิดกฎหมาย 

 

แต่กลับโต้แย้งว่า เป็นคนดีไม่ผิดกฎหมาย แบบนี้จะทำได้หรือ ซึ่งเข้าใจว่าทั้ง"พล.อ.ประยุทธ์" และทีมกฎหมายกำลังสับสนว่าการเป็นคนดีมีความซื่อสัตย์ต้องปฏิบัติตามกฎหมายเช่นกัน ควรจะสู้ว่า 8 ปีพ้นจากตำแหน่งหรือไม่  ไม่ใช่เอาประเด็น คนดี มาต่อสู้ เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจมาก และจะยิ่งประหลาดใจหากเหตุผลนี้ไปอยู่ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงประเด็นการชี้แจงว่า การดำรงตำแหน่งไม่ได้ต่อเนื่อง "ขาดตอน"  

 

เป็นเหมือนทนายความช่วยลูกความให้พ้นผิด ซึ่งการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะขาดตอนได้อย่างไร หากไปดูที่เงินเดือนก็มีการจ่ายต่อเนื่องใช่หรือไม่ ซึ่ง"พล.อ.ประยุทธ์" ได้ประโยชน์จากการทำงานอย่างต่อเนื่อง  

 

"ผศ.ดร.ปริญญา" กล่าวทิ้งท้ายว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า "พล.อ.ประยุทธ์" ไม่พ้นจากตำแหน่ง การเขียนคำวินิจฉัยจะเขียนยากมาก เพราะจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับคดีของ "สิระ เจนจาคะ" ที่พ้นจากตำแหน่งเพราะคุณสมบัติต้องห้ามจำคุก  แม้ว่าคดีจะผ่านมา  20 กว่าปีแล้ว เกิดขึ้นมานานกว่า 20 ปี แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้มีข้อยกเว้นเรื่องคุณสมบัติส.ส. ก่อนรัฐธรรมนูญจะประกาศบังคับใช้   


"วราวิทย์" ถาม บางคนบอกว่าหลังปี 66 ก็เลือกตั้งกันใหม่แล้ว เพราะฉะนั้น"พล.อ.ประยุทธ์"จะอยู่หรือไม่อยู่ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ 30 กันยายนนี้อย่าไปตื่นเต้น ยังไง"พล.อ.ประยุทธ์พ้น" พล.อ.ประวิตรก็รักษาการแทน คิดว่ามันเป็นเรื่องของพล.อ.ประยุทธ์ หรือว่าเดิมพันอะไร

 

"ผศ.ดร.ปริญญา" กล่าวว่า ผมคิดว่ามันมีผลต่อศาลรัฐธรรมนูญในทางความน่าเชื่อถือต่อประชาชนที่มีต่อศาล ผลที่ออกมามี 2 อย่าง คือพ้นกับไม่พ้นตำแหน่ง ถ้าพ้นตำแหน่งก็ตรงไปตรงมา แต่ถ้าไม่พ้นต้องรอฟังเหตุผลถ้าฟังได้ก็จบ ถ้าฟังไม่ขึ้นก็จะมีปัญหา เหตุผลที่ฝ่ายกฎหมายท่านนายกฯเสนอไปต่อศาลฯหยิบเอามาใช้ไม่ได้สักอันเลย เพราะมันอ่อนแล้วกลายเป็นว่าถ้าหยิบเอามาใช้จะกลายเป็นช่วย"พล.อ.ประยุทธ์"ทันที รอฟังเหตุผลอื่นๆที่หนักแน่นกว่านี้ถ้าเกิดว่าจะไม่พ้นขึ้นมา ในทางกฎหมายเราถือว่าเหตุผลสำคัญกว่าข้อกฎหมาย 

 

ผมพูดในภาพรวมเลยเราต้องเข้าใจว่าความยึดโยงที่คสช.มีต่อศาลตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 7 ท่าน ทำให้เกิดความแคลงใจขึ้นมา เรื่องนี้สำคัญมากเพราะว่าความยุติธรรมไม่เพียงแต่ต้องทำให้เกิดขึ้นมาแต่ต้องทำให้คนเห็นว่าที่ทำลงไปคือความเป็นธรรม แต่อันหลังเรามีปัญหาเพราะคนไม่ค่อยเชื่อ เหตุผลสำคัญคือความยึดโยงที่มีต่อท่านนายกรัฐมนตรี

 

ผมมองย้อนไป 8 ปีตั้งแต่ยึดอำนาจ ผลลัพธ์ของการยึดอำนาจทำให้เราได้การเมืองแบบไหน เป็นที่ยุติว่าการเมืองจะต้องตรวจสอบได้ และข้อสำคัญศาลที่เป็นอิสระที่ฝ่ายบริหารจะมาแทรกแซงยุ่งเกี่ยวไม่ได้ เราต้องการสิ่งนั้นแต่ไม่ได้ กลับแย่ลงด้วย ผมคิดว่านี่เป็นบทเรียนกับคนไทยทุกคน ให้การเมืองยึดโยงกับประชาชนและตรวจสอบได้ จะมาอ้างว่ามาจากประชาชนแล้วตรวจสอบไม่ได้ ต้องถูกตรวจสอบภายใต้หลักความโปร่งใสและการแบ่งแยกอำนาจ โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญเรื่องของที่มาจะเห็นว่า เราจะได้ศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นการเมืองมากกว่าศาลที่คำนึงถึงข้อกฎหมาย

 

ถามว่าเรื่องนี้จะกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ อาจารย์มีชัยออกแบบศาลรัฐธรรมนูญให้มีความเป็นศาลน้อยลงเป็นศาลการเมืองมากกว่าเดิม

 

"วราวิทย์" ถาม อาจารย์ผ่านการรัฐประหารมาแล้วอย่างน้อย 3 ครั้ง ความพยายามต่อเนื่องจากการรัฐประหาร จัดตั้งพรรคการเมือง และก็อยู่เป็นผู้นำจากการรัฐประหาร มองเห็นปลายทางอย่างไร

 

"ผศ.ดร.ปริญญา" กล่าวว่า ไม่เคยมีการสืบทอดอำนาจครั้งใดยาวนานเท่าอันนี้ ผมคิดว่าเป็นบทเรียนของคนไทย เราจะชอบหรือไม่ชอบพล.อ.ประยุทธ์อีกเรื่องหนึ่ง  แต่สุดท้ายเราต้องการการเมืองที่ตรวจสอบได้ การเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วม งบประมาณแผ่นดินที่เอามาจากภาษีอากรของประชาชน ต้องถูกใช้ในทางที่ตอบสนองต่อประชาชนให้มากที่สุด จากนี้ไปต้องเลิกการปฏิวัติเพราะไม่เคยได้สิ่งที่ดีกว่าขึ้นมาเลย เราจะคาดหวังกับการตรวจสอบถ่วงดุล จากการปฏิวัติไม่ได้เลย เราได้แต่หวังว่าจะกลับสู่ประชาธิปไตยได้อีกครั้งหนึ่ง แบบที่ไม่ต้องมีเหตุการณ์รุนแรงกันอีก

 

logoline