svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ภูมิภาค

"พายุโนรู" เคลื่อนเข้าไทย เป้าอีสานหลายจังหวัดเตรียมรับมือ

28 กันยายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หลายจังหวัดภาคอีสานพร้อมรับมือ "พายุโนรู" โคราช เร่งพร่องน้ำในอ่างเก็บน้ำ อุดรฯ เฝ้าติดตามสถานการณ์ 24 ชม. ขณะที่ มหาสารคาม ตั้งศูนย์บัญชาการรองรับ

28 กันยายน 2565 จากประกาศกรมอุตุวิทยา เรื่องพายุโนรู ที่เคลื่อนเข้าภาคอีสาน ในวันที่ 29 กันยายนนี้  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลายจังหวัดได้เตรียมตัวรับมือพายุดังกล่าว โดยที่จังหวัดสกลนคร เริ่มมีฝนตกกำลังแรงปกคลุมพื้นที่ทั่วจังหวัด จากการตรวจสอบสภาพอากาศผ่านเรดาห์ สถานีอุตุนิยมวิทยาจังหวัดสกลนคร พบมีกลุ่มฝนในบริเวณกว้าง โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดอีสานตอนล่างตามคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเตือน

 

ในขณะที่นางจุรีรัตน์ เทพอาสน์  ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร ได้สั่งการให้ทุกภาคส่วนเตรียมพร้อมสรรพกำลังและเครื่องมือและติดตามสถานการณ์แหล่งน้ำและอ่างเก็บน้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในส่วนของเขตเทศบาลนครสกลนคร บริเวณหนองสนมจุดรับน้ำกลางเมือง ได้มีการเดินเครื่องสูบน้ำเต็มกำลังเพื่อระบายน้ำออกจากตัวเมืองลงสู่หนองหาร ป้องกันน้ำท่วมฉับพลัน

 

สถานการณ์น้ำโคราช

 

ส่วนจังหวัดนครราชสีมา สำนักชลประทานที่ 8 ได้เปิดประตูระบายน้ำ อ่างลำเชียงไกร ตอนล่าง ในอำเภอโนนไทย จำนวน 2 บาน เพื่อระบายน้ำภายในอ่างเก็บน้ำลงสู่ลำเชียงไกรในพื้นที่ อำเภอโนนไทย อำเภอโนนสูง ทำให้ชาวบ้าน ในพื้นที่ ตำบลจันอัด ตำบลมะค่า ตำบลเมืองปราสาท ตำบลพลสงคราม ได้เร่งช่วยกันกรอกกระสอบทรายจำนวนกว่า 5,000 กระสอบ

 

โคราชชาวบ้านเร่งช่วยกันบรรจุถุงทรายสร้างแนวป้องน้ำท่วม

 

เพื่อเตรียมพร้อมรับมือพายุโนรู ที่จะทำให้มีฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลาก และที่สำคัญ พายุโนรู จะส่งผลทำให้ปริมาณน้ำ ภายในอ่างเก็บน้ำหลายแห่งในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา มีปริมาณน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจจำเป็นต้องเร่งระบายน้ำภายในอ่างเก็บน้ำออกเป็นรอบที่ 2 อีก เพราะก่อนหน้านี้ อ่างเก็บน้ำขนาดกลางหลายแห่ง ได้มีการพร่องน้ำออกมาแล้วรอบหนึ่ง จนส่งผลกระทบทำให้มีน้ำท่วมขังนาข้าว และ บ้านเรือนของชาวบ้าน ที่อยู่ติดกับฝั่งแม่น้ำมูล และลำเชียงไกร ได้รับผลกระทบอย่างหนัก

นายวิชัย จาตุรงค์กร ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำบำรุงรักษาห้วยหลวง จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า อ่างห้วยหลวงมีความจุ 135.6 ล้าน ลบม. ปีนี้ฝนดีมีน้ำไหลเข้าขณะนี้ 105.2 ล้าน ลบม. หรือ 77.6 % สูงกว่าปีก่อนที่มีน้ำ 61.9 ล้าน ลบม. หรือ 45.6 % ซึงถือว่าสูงเกินกว่า 100 ล้าน ลบม.ในรอบ 5 ปี สภาพอ่างฯมีความมั่นคงแข้งแรงดี สามารถรองรับน้ำช่วงท้ายฤดูได้อีก 30 ล้านลบม.

 

นายวิชัย จาตุรงค์กร ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำบำรุงรักษาห้วยหลวง

 

“จากคำเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่องพายุโนรูจะพัดผ่านเวียดนาม เข้าภาคอีสานของไทย น่าจะเป็นพายุที่มีความรุนแรงมาก ซึ่งเมื่อมาถึงภาคอีสานก็จะอ่อนตัวเป็นดีเปรสชัน และความกดอากาศต่อไป แต่จากอากาศเย็นที่แผ่ลงมาจากจีน อาจจะทำให้พายุจะเอียดลงทางอีสานใต้ แต่เราก็ประมาทไม่ได้ ต้องเฝ้าดูอยู่ตลาด 24 ชม. เพื่อใหการบริหารจัดการน้ำดีที่สุดตามแผน ”

 

ในขณะที่อ่างเก็บน้ำหลายแห่งใน จ.อุดรธานี มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ มากกว่าทุกปี ทำให้เราเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งเหลือเวลาราวครึ่งเดือนฤดูฝนจะสิ้นสุด อ่างฯของกรมชลประทาน มีการระบายน้ำออก 8 อ่างเก็บน้ำ คือ อ่างเก็บน้ำหนองหาน หรือฝายกุมภวาปี หรือทะเลบัวแดง ,อ่างเก็บน้ำลำพันชาด,อ่างเก็บน้ำลำพันชาดน้อย ,อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำม้า,อ่างเก็บน้ำห้วยตะคองใหญ่ ,อ่างเก็บน้ำบ้านจั่น,อ่างเก็บน้ำหนองสำโรงจะระบายน้ำเพื่อรักษาสมดุลน้ำในอ่าง และอ่างเก็บน้ำห้วยสามพาดจะระบายเพื่อการเกษตร โดยมีอ่างเก็บน้ำบ้านจั่นจะเพิ่มปริมาณการระบาย เพราะมีน้ำอยู่มากถึง 86 % ของความจุ และอยู่ใกล้ตัวเมืองอุดรธานี

 

และมีอ่างเก็บน้ำปริมาณน้ำใกล้ถึง 80 % ของความจุ นอกจากอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง ก็คืออ่างเก็บน้ำกุดลิงง้อมีปริมาณน้ำ 5.03 ล้าน ลบม. หรือ 78 % ของความจุ ยังรับน้ำได้อีก 1.4 ล้าน ลบม. แต่อยู่ใกล้ตัวเมืองอุดรธานี ส่วนอ่างเก็บน้ำคำลิ้นควาย ของ อบต.แสงสว่าง อ.หนองแสง ความจุ 1.8 ล้าน ลบม.ที่พบรอยรั่วซึมต้องลดระดับ โดยเปิดประตูน้ำ-ติดท่อกาลักน้ำ-ตั้งเครื่องสูบน้ำไปแล้ว 2 เครื่อง แต่ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯยังมีมาก จึงเพิ่มเครื่องสูบน้ำอีกรวมเป็น 4 เครื่อง เร่งระบายออกให้มากกว่านี้ พร้อมตั้งเวรยามเฝ้าอ่างฯและภาพรวม 24 ชม

 

นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า ได้ตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัยจังหวัดมหาสารคาม พ.ศ.2565 เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ จากอิทธิพลของพายุโนรู รวมถึงประเมินสถานการณ์และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ โดยกำชับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เตรียมความพร้อมด้านอุปกรณ์ อาทิ เรือท้องแบน เครื่องสูบน้ำ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมงหากเกิดภัย พร้อมแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย หากสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงให้อพยพประชาชนให้ไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย และขอให้ติดตามสถานการณ์จากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด

 

ผู้ว่าฯ มหาสารคาม ลงตรวจพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ

 

ผู้ว่าฯ มหาสารคาม ลงตรวจพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ

logoline