svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ภูมิภาค

นายกเล็กเชียงยืน แจงวงจรปิดแยกเชียงยืนเสียเพราะมรสุม ล่าสุดซ่อมแซมแล้ว

23 กันยายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นายกเทศมนตรีเชียงยืน แจงวงจรปิดแยกเชียงยืนเสียเพราะมรสุม ล่าสุดซ่อมแซมแล้ว ขณะที่เนชั่นเปิดแนวปฏิบัติการขับรถพยาบาลฉุกเฉิน ยืนยันฉุกเฉินไม่ได้หมายถึงขับรถเร็วเพื่อความปลอดภัยทุกฝ่าย

ความคืบหน้า กรณีที่วานนี้ (22 ก.ย.) รถพยาบาลของโรงพยาบาลยางตลาด ขับฝ่าไฟแดงมาชน นายบุญยงค์ กายขุนทด วัย 60 ปี กลางสี่แยกอำเภอเชียงยืน จ.มหาสารคาม ก่อนเกิดไฟลุกท่วม เสียชีวิตไฟ ซึ่งภายจากกล้องหน้ารถผู้เห็นเหตุการณ์ สามารถบันทึกไว้ได้อย่างชัดเจน โดยวันนี้ (23 ก.ย.) ญาติร้องขอความเป็นธรรม พร้อมจี้คนขับขมาศพ ขณะที่คนถ่ายคลิปยันรถพยาบาลวิ่งมาด้วยความเร็วสูงแต่ไม่ได้เปิดสัญญาณไฟฉุกเฉิน (อ่านข่าว)

 

นายกเล็กเชียงยืน แจงวงจรปิดแยกเชียงยืนเสียเพราะมรสุม ล่าสุดซ่อมแซมแล้ว

 

 

วันเดียวกัน นายชาญวิทย์ พูดบุรี นายกเทศบาลตำบลเชียงยืน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบกล้องวงจรปิด จุดที่เกิดเหตุ พร้อมเผยว่า หลังเกิดเหตุได้ให้เจ้าหน้าที่ ตรวจสอบกล้องวงจรปิดบริเวณสี่แยก ซึ่งติดตั้งไว้ 4 ตัวปรากฏว่า ไม่สามารถบันทึกภาพได้ จึงได้แจ้งประสานไปยังช่างซ่อมในพื้นที่ ให้เข้าดำเนินการซ่อมแซม เนื่องจากที่ผ่านมาอำเภอเชียงยืน มีฝนตกและพายุเข้ามา ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคมจนถึงปัจจุบัน ทำให้กล้องวงจรปิดทั้ง 47 ตัวที่ติดตั้งภายในเขตเทศบาลตำบลเชียงยืนหลายจุด ไม่สามารถบันทึกภาพได้ 

 

โดยขณะนี้ได้ดำเนินการแก้ไขแล้ว กล้องบางส่วนสามารถบันทึกภาพได้แล้ว ซึ่งยอมรับว่า ระบบของกล้อง ยังเป็นรุ่นเก่า ยังเป็นการลากสาย เมื่อตัวใดตัวหนึ่งมีปัญหา กล้องบริเวณใกล้เคียงก็จะมีปัญหาตามไปด้วย ซึ่งอายุการใช้งานค่อนข้างนานแล้ว ได้รับงบอุดหนุนมาตั้งแต่ปี 57
 

 

ทั้งนี้หากใครจะมองว่า เป็นเรื่องวัวหายแล้วล้อมคอก ก็ขอให้เป็นมุมมองของแต่ละบุคคล เพราะทางเทศบาลเมื่อทราบปัญหา ก็จะเข้าดำเนินการแก้ไขตลอด โดยในปี 66 ได้ตั้งงบประมาณ เพื่อเตรียมจัดทำ และติดตั้งกล้องวงจรปิดแบบใหม่ให้ครบวงจร เพื่อให้สามารถบันทึกเหตุการณ์ และช่วยป้องปรามปัญหาอาชญากรรม ที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ได้
 

 

นายชาญวิทย์ พูดบุรี นายกเทศบาลตำบลเชียงยืน

วงจรปิดบริเวณแยกเชียงยืนที่เกิดเหตุ

บริเวณแยกเชียงยืนที่เกิดเหตุ

สำหรับกรณีที่เกิดขึ้น ทางผู้สื่อข่าวเนชั่น ได้ตรวจสอบถึงแนวปฏิบัติ ของการขับขี่รถพยาบาลฉุกเฉิน พบว่า ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 4 บัญญัติให้ผู้ขับขี่ขับรถฉุกเฉินไปปฏิบัติหน้าที่ มีสิทธิดังนี้

 

1. ใช้ไฟสัญญาณแสงวับวาบ ใช้เสียงสัญญาณไซเรน หรือเสียงสัญญาณอย่างอื่นตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนดไว้

2. หยุดรถหรือจอดรถ ณ ที่ห้ามจอด

3. ขับรถเกินอัตราความเร็วที่กำหนดไว้

4. ขับรถผ่านสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรใด ๆ ที่ให้รถหยุด แต่ต้องลดความเร็วของรถให้ช้าลงตามสมควร

5. ไม่ต้องปฏิบัติตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือข้อบังคับการจราจรเกี่ยวกับช่องเดินรถ ทิศทางของการขับรถหรือการเลี้ยวรถที่กำหนดไว้ ในการปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ผู้ขับขี่ต้องใช้ความระมัดระวังตามควรแก่กรณี
 

 

นายกเล็กเชียงยืน แจงวงจรปิดแยกเชียงยืนเสียเพราะมรสุม ล่าสุดซ่อมแซมแล้ว

อย่างไรก็ตาม สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้มีข้อแนะนำในการขับขี่รถพยาบาลฉุกเฉินการแพทย์และรถพยาบาล ระบุว่า ในการตัดสินใจเลือกใช้สัญญาณไฟฉุกเฉิน และความเร็วในการขับรถปฏิบัติการฉุกเฉิน หรือรถพยาบาล ต้องปฏิบัติอยู่บนพื้นฐานของความไม่ประมาท และต้องประเมินว่า การใช้ระบบการขับแบบฉุกเฉินนั้นมีความจำเป็นแค่ไหนที่ต้องใช้ อาการของผู้ป่วยที่กำลังไปรับหรือกำลังเคลื่อนย้ายนั้นเป็นอย่างไร , ผู้ขับขี่ได้ใช้สัญญาณเตือนแก่ผู้ร่วมใช้ถนนเพื่อขอให้หลีกทางหรือไม่ , หากมีการชนกันเกิดขึ้น อุปกรณ์สัญญาณฉุกเฉินได้ถูกเปิดใช้ก่อนการชนหรือไม่ , การใช้อุปกรณ์สัญญาณฉุกเฉินเป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักการ และข้อหนดปฏิบัติหรือไม่ , ใช้ความเร็วเกินกว่าจำเป็นสำหรับการควบคุมรถในสภาพการจราจร สภาพถนน และสภาพอากาศขณะนั้นหรือไม่

 

สิ่งที่ผู้ขับรถปฏิบัติการฉุกเฉิน หรือรถพยาบาล ต้องตระหนักเสมอ คือการขับรถปฏิบัติการฉุกเฉินและรถพยาบาล เพื่อตอบสนองสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น “ไม่ได้หมายถึงการขับรถเร็ว” การขับรถเพื่อตอบสนองเหตุการณ์โดยใช้ความรวดเร็วนั้น เป็นภาวะที่มีความกดดัน และความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสูง แม้ว่าความจริงในบางสถานการณ์ที่ฉุกเฉินนั้น เวลาทุกวินาทีมีความหมาย แต่เวลาเพียงไม่กี่นาทีที่ไปถึงเร็วขึ้น ก็อาจไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยงของตัวพนักงานขับรถ ทีมบุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ในรถ และผู้ร่วมใช้ถนน

 

ทั้งนี้ยังมีมาตรการกำหนดว่า เมื่อขับผ่านทางแยก จะต้องไม่ใช้ความเร็วเกินกำหนด ไม่ว่าจะเป็นรหัสสีอะไรก็ตาม (หมายถึงอาการของผู้ป่วย) , เมื่อขับผ่านทางแยกไม่ว่าจะมีสัญญานไฟจราจรหรือไม่ จะต้องขับผ่านด้วยความระมัดระวัง , เมื่อขับผ่านทางแยกที่เป็นสัญญานไฟแดง หรือผ่านทางรถไฟ จะต้องหยุด ก่อนที่จะขับต่อไปด้วยความระมัดระวัง , ในถนนที่มีหลายเลน การเปลี่ยนเลน ให้ปฏิบัติเหมือนการขับรถผ่านทางแยก และเมื่อมีความจำเป็นต้องขับรถย้อนศร ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 30 กม./ชม.

 

 

นายกเล็กเชียงยืน แจงวงจรปิดแยกเชียงยืนเสียเพราะมรสุม ล่าสุดซ่อมแซมแล้ว

logoline