svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

"ราคาน้ำมันของไทย" แพง!!...จริงหรือ?

16 กันยายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ส่งผลให้ราคาน้ำมันในประเทศไทยปรับตัวสูงขึ้น เช่นเดียวกัน จนทำให้คนไทยหลายคนรู้สึกว่าราคาน้ำมันประเทศไทยนั้นสูงกว่าประเทศอื่น

“ศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ (NEIC)” จะสรุปให้เข้าใจ โดยเทียบราคาน้ำมันในกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ลาว กัมพูชา  เมียนมาร์ เวียดนาม ไทย มาเลเซีย และบรูไน ซึ่งทั้ง 10 ประเทศนี้ มีเพียง 2 ประเทศที่ส่งออกน้ำมันเป็นหลัก ได้แก่ มาเลเซีย และบรูไน

โดยราคาขายปลีกน้ำมันของแต่ละประเทศในอาเซียน ทั้ง 10 ประเทศ ตามข้อมูล ณ วันที่ 4 กรกฎาคม 2565 สามารถเรียงลำดับราคาได้ดังนี้

 น้ำมันเบนซิน

1. สิงคโปร์ ราคา 98.12 บาทต่อลิตร

2. ลาว ราคา 71.87 บาทต่อลิตร

3. กัมพูชา ราคา 56.50 บาทต่อลิตร

4. ฟิลิปปินส์ราคา 55.90 บาทต่อลิตร

5. เวียดนาม ราคา 50.16 บาทต่อลิตร

6. เมียนมาร์ ราคา 46.18 บาทต่อลิตร

7. อินโดนีเซีย ราคา 47.77 บาทต่อลิตร

8. ไทย ราคา 44.55 บาทต่อลิตร 9. มาเลเซีย ราคา 16.59 บาทต่อลิตร และ

10. บรูไน ราคา 13.54 บาทต่อลิตร

 

 

น้ำมันดีเซล

1. สิงคโปร์ ราคา 80.23 บาทต่อลิตร

2. ฟิลิปปินส์ ราคา 58.75 บาทต่อลิตร

3. กัมพูชา ราคา 55.19 บาทต่อลิตร

4. ลาว ราคา 52.70 บาทต่อลิตร

5. อินโดนีเซีย ราคา 52.27 บาทต่อลิตร

6. เมียนมาร์ ราคา 51.54 บาทต่อลิตร

7. เวียดนาม ราคา 45.33 บาทต่อลิตร

8. ไทย ราคา 34.94 บาทต่อลิตร

9. มาเลเซีย ราคา 17.40 บาทต่อลิตร และ

10. บรูไน ราคา 7.92 บาทต่อลิตร

จากข้อมูลข้างต้นพบว่าประเทศที่มีราคาขายปลีกสูงสุด คือ สิงคโปร์ ซึ่งราคาน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 98.12 บาทต่อลิตร และ 80.23 บาทต่อลิตร ตามลำดับ ส่วนประเทศที่ราคาน้ำมันต่ำที่สุด คือกลุ่มประเทศที่ส่งออกน้ำมันเป็นหลัก คือ มาเลเซีย ซึ่งราคาน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 16.59 บาทต่อลิตร และ 17.40 บาทต่อลิตร ตามลำดับ และบรูไน ซึ่งราคาน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 13.54 บาทต่อลิตร และ 7.92 บาทต่อลิตร ตามลำดับ ขณะที่ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 8 โดยมีราคาน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 44.55 บาทต่อลิตร และ 34.94 บาทต่อลิตร ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี การเปรียบเทียบความถูก-แพงของราคาน้ำมันในแต่ละประเทศที่เหมาะสมและเท่าเทียมนั้น คือการเปรียบเทียบสัดส่วนกำลังซื้อหรือรายได้ต่อหัวประชากรต่อราคาน้ำมันของประเทศนั้น ๆ
ซึ่งเปรียบเทียบให้เห็นภาพอย่างง่ายว่า ประชากรในประเทศหนึ่ง ๆ สามารถใช้รายได้หนึ่งวันซื้อน้ำมันได้กี่ลิตร หากสัดส่วนดังกล่าวมีค่ามาก หมายความว่า น้ำมันในประเทศนั้นมีราคา “ถูก” สำหรับประชาชน
ในทางกลับกัน หากสัดส่วนดังกล่าวมีค่าต่ำ หมายความว่า น้ำมันในประเทศนั้น “แพง” สำหรับประชาชน
โดยกำลังซื้อหรือรายได้ต่อหัวประชากร/วัน อ้างอิงจากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว/วัน
(GDP Per Capita/วัน)

"ราคาน้ำมันของไทย" แพง!!...จริงหรือ?

เมื่อเทียบสัดส่วนรายได้ต่อหัวประชากรต่อราคาน้ำมันใน 10 ประเทศอาเซียนนี้ โดยอ้างอิงข้อมูลราคาน้ำมัน ณ วันที่ 4 กรกฎาคม 2565 เทียบกับรายได้ต่อหัวประชากรต่อวัน ปี 2564 พบว่าประเทศที่มีราคาน้ำมันแพงที่สุด คือ เมียนมาร์ โดยมีรายได้ 111 บาท/วัน ซึ่งจากรายได้ดังกล่าวจะสามารถซื้อน้ำมันเบนซินได้เพียง 2.4 ลิตร/วัน และดีเซล 2.2 ลิตร/วัน

รองลงมาคือ กัมพูชา มีรายได้ 149 บาท/วัน สามารถซื้อน้ำมันเบนซินได้ 2.6 ลิตร/วัน ดีเซล 2.7 ลิตร/วัน, ลาว มีรายได้ 239 บาท/วัน สามารถซื้อน้ำมันเบนซินได้ 3.3 ลิตร/วัน ดีเซล 4.5 ลิตร/วัน, ฟิลิปปินส์ มีรายได้ 333 บาท/วัน สามารถซื้อน้ำมันเบนซินได้ 6 ลิตร/วัน ดีเซล 5.7 ลิตร/วัน, เวียดนาม มีรายได้ 347 บาท/วัน สามารถซื้อน้ำมันเบนซินได้ 6.9 ลิตร/วัน ดีเซล 7.6 ลิตร/วัน, อินโดนีเซีย มีรายได้ 403 บาท/วัน สามารถซื้อน้ำมันเบนซินได้ 8.4 ลิตร/วัน ดีเซล 7.7 ลิตร/วัน, ไทย มีรายได้ 679 บาท/วัน สามารถซื้อน้ำมันเบนซินได้ 15.2 ลิตร/วัน ดีเซล 19.4 ลิตร/วัน, มาเลเซีย มีรายได้ 1,067 บาท/วัน สามารถซื้อน้ำมันเบนซินได้ 64.3 ลิตร/วัน ดีเซล 61.3 ลิตร/วัน,

สิงคโปร์ มีรายได้ 6,833 บาท/วัน สามารถซื้อน้ำมันเบนซินได้ 69.6 ลิตร/วัน ดีเซล 85.2 ลิตร/วัน และบรูไน มีรายได้ 2,978 บาท/วัน สามารถซื้อน้ำมันเบนซินได้ 219.9 ลิตร/วัน ดีเซล 375.9 ลิตร/วัน

 

โครงสร้างราคาน้ำมันของไทยเป็นอย่างไร?

ประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่ต้องนำเข้าน้ำมันมาใช้อุปโภคภายในประเทศ จึงมีต้นทุนเนื้อน้ำมัน
ไม่ต่างกันมากนัก เพราะราคาที่ซื้อ-ขาย จะอ้างอิงจากราคาตลาดโลก  แต่สิ่งที่ทำให้ราคามีความแตกต่างกันนั้น อยู่ที่การกำหนดโครงสร้างราคาน้ำมันของแต่ละประเทศ เช่น มาตรการภาษี และระบบการเก็บเงิน
เข้ากองทุนหรืออุดหนุนราคาพลังงานที่แตกต่างกัน ขณะที่ประเทศที่มีราคาน้ำมันถูกอย่าง มาเลเซีย และบรูไน ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันเป็นหลัก สามารถผลิตน้ำมันเองได้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ และยังมีนโยบายสนับสนุนราคาในประเทศ โดยรัฐบาลได้นำเงินที่ได้จากการขายน้ำมัน มาอุดหนุนราคาภายในประเทศ ส่งผลให้ราคาน้ำมันถูกกว่าประเทศอื่น ๆ ที่ต้องนำเข้าน้ำมัน

สำหรับโครงสร้างราคาน้ำมันของไทยนั้นประกอบด้วย 1. ต้นทุนเนื้อน้ำมันที่ผลิตจากโรงกลั่น ซึ่งอ้างอิงราคาตามตลาดกลางภูมิภาคเอเชีย กล่าวคือตลาดสิงคโปร์ บวกกับค่าใช้จ่ายต่างๆ ของโรงกลั่น
เช่น ค่าการกลั่น ต้นทุนค่าขนส่ง เป็นต้น 2. ภาษีต่างๆ ได้แก่ ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล และภาษีมูลค่าเพิ่ม 3. กองทุนต่างๆ เช่น กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง, กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน 4. ค่าการตลาด ซึ่งเป็นค่าดำเนินการและกำไรของผู้ประกอบการ

โดยอัตราในการเก็บตามส่วนประกอบต่างๆ ในโครงสร้างน้ำมัน จะปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก การจัดเก็บภาษีและกองทุน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงที่ราคาน้ำมันอยู่ในระดับปกติหรือระดับต่ำ ณ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 มีราคาอยู่ที่ 21.15 บาทต่อลิตร ประกอบด้วยราคา ณ โรงกลั่น 9.73 บาทต่อลิตร ภาษีต่างๆ 7.82 บาทต่อลิตร กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
0.62 บาทต่อลิตร กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน 0.1 บาทต่อลิตร ค่าการตลาด 2.88 บาทต่อลิตร

        ดีเซล (B7) มีราคาอยู่ที่ 21.49 บาทต่อลิตร ประกอบด้วยราคา ณ โรงกลั่น 9.88 บาทต่อลิตร
ภาษีต่างๆ 8 บาทต่อลิตร กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 1 บาทต่อลิตร กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
0.1 บาทต่อลิตร ค่าการตลาด 2.51 บาทต่อลิตร 

        ช่วงที่ราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูง ณ วันที่ 4 กรกฎาคม 2565 ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 มีราคาอยู่ที่ 44.55 บาทต่อลิตร จะประกอบด้วย ราคา ณ โรงกลั่น 31.57 บาทต่อลิตร ภาษีต่างๆ 9.34 บาทต่อลิตร กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 0.09 บาทต่อลิตร กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน 0.005 บาทต่อลิตร และค่าการตลาด 3.54 บาทต่อลิตร

        ดีเซล (B7) มีราคาอยู่ที่ 34.94 บาทต่อลิตร ประกอบด้วยราคา ณ โรงกลั่น 37.48 บาทต่อลิตร ภาษีต่างๆ 3.76 บาทต่อลิตร กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง -7.64 บาทต่อลิตร กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน  0.005 บาทต่อลิตร ค่าการตลาด 1.34 บาทต่อลิตร จะเห็นได้ว่าเมื่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะถูกนำมาใช้อุดหนุนราคาเพื่อลดภาระของประชาชน
ซึ่ง ณ เวลาดังกล่าวได้นำเงินกองทุนน้ำมันเข้ามาอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลถึง 7.64 บาทต่อลิตร

 

ทำไมราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่น ต้องอ้างอิงราคาน้ำมันจากต่างประเทศ?

โดยทั่วไปแล้ว การอ้างอิงราคาน้ำมันจากตลาดโลกเพื่อสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของน้ำมัน จะอาศัย
การอ้างอิงจากราคาตลาดหลัก 3 แห่ง ได้แก่ 1. ตลาด New York Mercantile Exchange (NYMEX)
เป็นราคาอ้างอิงในตลาดของอเมริกาเหนือ 2. ตลาด ICE Futures ตั้งอยู่ในกรุงลอนดอน ซึ่งเป็นราคาอ้างอิง
ในตลาดของยุโรป และ 3. ตลาดสิงคโปร์ หรือ Singapore International Monetary Exchange (SIMEX) ซึ่งเป็นราคาอ้างอิงในตลาดเอเชีย ประเทศไทยอ้างอิงจากราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่น จากตลาดสิงคโปร์ที่เป็นศูนย์กลางค้าน้ำมันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งแม้ว่าจะมีชื่อว่าราคาสิงคโปร์ แต่ก็ไม่ได้เกิดจากการกำหนดของรัฐบาลของสิงคโปร์แต่อย่างใด แต่เกิดจากตลาดซื้อขายน้ำมันสำเร็จรูปขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย
ที่มีผู้ซื้อขายน้ำมันมากกว่า 300 ราย และมีการตกลงซื้อขายกันเป็นปริมาณมหาศาล จึงทำให้ประเทศต่างๆ
ในภูมิภาคเอเชียอ้างอิงราคาตลาดสิงคโปร์นี้ แม้ว่าในภูมิภาคนี้ จะมีบรูไน และมาเลเซีย เป็นผู้ส่งออกน้ำมัน
แต่ก็กำหนดราคาน้ำมันดิบเองไม่ได้ เหมือนกับประเทศไทยที่เป็นผู้ส่งออกข้าวเบอร์ 1 ของโลก แต่ก็ไม่สามารถกำหนดราคาข้าวในตลาดโลกได้ อีกทั้งผู้ผลิตน้ำมันไม่ได้อยู่ภายใต้ข้อบังคับว่าต้องขายน้ำมันภายในประเทศเท่านั้น หากกำหนดราคาในประเทศต่ำกว่าราคาในต่างประเทศ ก็จะทำให้ผู้ผลิตน้ำมันเน้นการส่งออกไปยังต่างประเทศเพราะได้กำไรมากกว่า หรือเกิดการลักลอบค้าน้ำมันเถื่อนออกนอกประเทศเหมือนกับการลักลอบขายน้ำมันเถื่อนตามชายแดนไทย - มาเลเซีย หรือการลักลอบนำก๊าซแอลพีจีของไทยออกไปขายในประเทศเพื่อนบ้าน เพราะราคาแอลพีจีของไทยต่ำกว่า เป็นต้น ซึ่งทั้งสองกรณีอาจทำให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำมัน
ขึ้นในประเทศไทยได้

 

ไทยผลิตน้ำมันเองได้ทำไมต้องส่งออก และราคาส่งออกก็ถูกกว่า?

ประเทศไทยต้องนำเข้าน้ำมันดิบสูงถึง ร้อยละ 90 ของความต้องการน้ำมันของประเทศ ส่วนน้ำมันดิบที่ขุดเจาะได้ในไทย ที่มีสัดส่วนประมาณ ร้อยละ 10 มีบางส่วนที่นำมากลั่นภายในประเทศ และมีบางส่วนที่ส่งออกไปขายในต่างประเทศ เนื่องจากมีคุณสมบัติของน้ำมันดิบไม่ตรงกับโรงกลั่นน้ำมันของไทย ที่ปรับแต่งเครื่องจักรในโรงกลั่นให้รองรับคุณภาพน้ำมันในเกรดของตะวันออกกลาง ที่เป็นแหล่งนำเข้าน้ำมันส่วนใหญ่ของไทย ดังนั้นหากต้องปรับจูนเครื่องจักรให้กลั่นน้ำมันดิบในคุณภาพที่ต่างออกไป ก็จะไม่คุ้มค่าต่อการกลั่นน้ำมันในปริมาณที่น้อย

ในส่วนของน้ำมันสำเร็จรูปที่ต้องมีการส่งออก เนื่องจากในการกลั่นน้ำมันดิบแต่ละครั้ง จะได้ผลิตภัณฑ์ประเภทต่าง ๆ เช่น น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล ก๊าซแอลพีจี น้ำมันเตา และอื่น ๆ ในสัดส่วนที่ต่างกันออกไป โดยทั่วไปปริมาณการกลั่นน้ำมันดิบจะยึดการกลั่นเพื่อให้ครอบคลุมความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปทุกประเภท ซึ่งในการเติมเต็มปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปที่มีความต้องการใช้สูงที่สุด จะทำให้น้ำมันสำเร็จรูปประเภทอื่น ๆ ที่กลั่นออกมาได้มีปริมาณเกินความต้องการในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ น้ำมันสำเร็จรูป

ส่วนที่เกินจากความต้องการในประเทศจะถูกนำเข้าเก็บในคลังสำรองจนเต็มเป็นอันดับแรก และส่วนที่เหลือจากการเก็บสำรองจึงจำหน่ายให้กับประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่มีโรงกลั่น หรือมีโรงกลั่นน้ำมันไม่เพียงพอ เช่น ลาว กัมพูชา เมียนมา และเวียดนาม เป็นต้น

ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ขายให้กับประเทศเพื่อนบ้าน จะมีราคาต่ำกว่าราคาหน้าสถานีบริการของไทย เนื่องจากเป็นราคาตัวเนื้อน้ำมันเพียงอย่างเดียว ไม่รวมภาษีชนิดต่าง ๆ  กองทุนน้ำมัน จึงทำให้ราคาต่างจากหน้าสถานีบริการภายในประเทศ ส่วนผู้ซื้อต่างประเทศที่ซื้อน้ำมันไปจากประเทศไทย ก็จะมีการเรียกเก็บภาษี และ/หรือ กองทุนต่าง ๆ ตามโครงสร้างราคาน้ำมันของประเทศนั้น ๆ จนทบรวมกันเป็นราคาขายปลีกน้ำมันในแต่ละประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ราคาหน้าปั๊มน้ำมันในประเทศเพื่อนบ้านจะสูงกว่าประเทศไทยดังที่ได้แสดงไว้ข้างต้น

ท่านที่สนใจติดตามข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ราคาน้ำมัน สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://tabsoft.co/3RCEq2N

ร่วมตอบแบบสอบถามความเข้าใจเนื้อหาบทความ และ Data Visualization ได้ที่ https://forms.gle/VSkv6t7X9FHnghdU8

logoline