svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ประวิตร"ชงคำสั่งลับกฤษฏีกาชุด"มีชัย"ชี้อำนาจ กสทช. ปม"ควบรวมทรู-ดีแทค"

13 กันยายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เผย "ประวิตร วงษ์สุวรรณ" รักษาการนายกฯ ชงคำสั่งสำนักเลขาธิการนายกฯ ขอให้กฤษฏีกาคณะที่ 1 ชุด มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน พิจารณาอำนาจ กสทช. ปม"ควบรวมทรู-ดีแทค"

 

เมื่อวันที่ 13 ก.ย.65  ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า  สำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา ได้รับแจ้งให้มีการประชุมคณะกรรมการกฤษฏีกา คณะที่ 1 ในวันนี้  เพื่อพิจารณากรณีขอบข่ายอำนาจของ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  หรือ "กสทช." ต่อการ"ควบรวมธุรกิจ ทรู -ดีแทค" 

 

ทั้งนี้ มีรายงานว่า  ก่อนหน้านี้ กสทช. ได้สั่งให้สำนักงาน กสทช. ทำหนังสือที่ สทช 2402/38842 ลงวันที่ 25 ส.ค.65 เพื่อขอให้นายกฯ พิจารณาสั่งการให้คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นในประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ต่อดีลควบรวมธุรกิจทรู-ดีแทค 

 

อย่างไรก็ดี คราวนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา  มีหนังสือปฏิเสธการให้ความเห็นในกรณีดังกล่าวมาแล้ว เพราะถือเป็นอำนาจของ กสทช.ตามบทบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ทั้งยังเป็นกรณีที่กฤษฎีกาไม่อาจก้าวล่วงได้เนื่องจากประเด็นที่หารือ ยังเป็นคดีความอยู่ในชั้นศาล

 

ล่าสุด ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีถูกศาลรธน.สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีการวินิจฉัย ปม 8 ปี นายกฯ  จึงได้มอบหมาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ  รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่รักษาการนายกฯ ได้ใช้อำนาจรักษาการนายกฯ  สั่งการให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือ ลับ ที่ นร 0403 (กน)/12008 แจ้งสำนักงาน กสทช. ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความเห็นชอบตามที่สำนักงาน กสทช. เสนอ และสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาแจ้งข้อสั่งการของ พล.อ.ประวิตร ดังกล่าวแล้ว

 

ขณะที่สำนักงาน กสทช. ได้มีหนังสือ ลับ ด่วนที่สุด ที่ สทช 2402/40655 ลงวันที่ 5 ก.ย.2565 แจ้งข้อสั่งการของพล.อ.ประวิตร ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ทราบและพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง และต่อมาในวันที่ 9 ก.ย.2565 สำนักคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีหนังสือถึงรักษาการเลขาธิการ กสทช. ให้ตั้งผู้แทนร่วมชี้แจงข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ในวันที่ 13 ก.ย.นี้

 


 

 

ล่าสุด  คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1  ได้นัดประชุมเรื่องดังกล่าว ในวันที่ 13 ก.ย. 65 นี้  โดยขอให้สำนักงาน กสทช. ส่งผู้แทนเข้าร่วมชี้แจงต่อที่ประชุมด้วย ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้ส่ง นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. พร้อมนายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ กสทช.

 

สำหรับคณะกรรมการกฤษฏีกา คณะที่ 1  พบว่า "นายมีชัย ฤชุพันธุ์"    เป็นประธานกรรมการ  ส่วนคณะกรรมการ ประกอบด้วย นายอารีย์ วงศ์อารยะ    นายอาษา เมฆสวรรค์    นายสุรชัย ภู่ประเสริฐ    กรรมการ
นายปรีชา วัชราภัย   นายประสพสุข บุญเดช     นายดิสทัต โหตระกิตย์    นายทศพร ศิริสัมพันธ์   หม่อมหลวงไกรฤกษ์ เกษมสันต์   

 

ทั้งนี้ยังมีประเด็นที่น่าสนใจอีกประการ เกี่ยวกับการชี้อำนาจของกสทช. เพราะ ก่อนหน้านี้ "นายณภัทร วินิจฉัยกุล" อดีตกรรมการติดตามการปฏิบัติหน้าที่ หรือ "ซูเปอร์บอร์ด กสทช." ได้ยื่นหนังสือถึงศาลปกครอง ขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับหรือหยุดใช้ประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ลงวันที่ 4 ธ.ค.2565 เอาไว้จนกว่าจะมีคำพิพากษา

 

กระทั่ง ศาลปกครองมีคำสั่งให้ "ยกคำร้อง" ด้วยเหตุผลที่ว่า "หากผู้ถูกฟ้องคดี (กสทช.) พิจารณาเห็นว่าการรวมธุรกิจดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการโทรคมนาคม ผู้ถูกฟ้องคดี (กสทช.) ก็มีอำนาจสั่งห้ามการรวมธุรกิจได้"  ซึ่งเท่ากับว่าศาลปกครองกลางชี้ชัดว่า กสทช. มีอำนาจในการพิจารณากรณีควบรวม TRUE กับ DTAC

 

ขณะที่กลุ่มพลเมืองเสรีภาพและการสื่อสาร ได้ยื่นหนังสือถึงสำนักงาน กสทช. ขอให้พิจารณาการควบรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด  (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ตามอำนาจของ กสทช.อย่างถูกต้องและเป็นธรรม.

 

logoline