svasdssvasds
logo-pwa

เพิ่ม nation online

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด
เนชั่นทีวี

สังคม

กรมการแพทย์ โต้งานวิจัยฯ ย้ำ "ฟาวิพิราเวียร์" ลดความรุนแรง "โควิด" ได้

12 กันยายน 2565
272

กรมการแพทย์ ตอบโต้ผลงานวิจัย "ฟาวิพิราเวียร์" รักษาโควิดไม่ได้มีช่องโหว่ ยืนยันการรักษาในประเทศไทย พบ "ฟาวิพิราเวียร์" ทำให้ผู้ป่วยโควิด ที่มีความเสี่ยงต่ำ ป่วยไม่รุนแรง มีอาการดีขึ้นได้เร็วขึ้น

12 กันยายน 2565 จากกรณี "ฟาวิพิราเวียร์" ถูกหลายฝ่ายออกมาระบุว่า รักษาโควิดไม่ได้ พร้อมขอรัฐเปิดกว้างให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ล่าสุด กรมการแพทย์ โดยนพ.สมศักดิ์ อรรคฆศิลป์ เปิดข้อมูลงานวิจัย ยืนยัน "ฟาวิพิราเวียร์" สามารถลดอาการรุนแรงจาก "โควิด" ได้

ฟาวิพิราเวียร์

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เนื่องจากมีประเด็นการนำเสนอข้อมูลว่าการใช้ยาฟาร์วิพิราเวียร์ไม่ได้ผลในการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยอ้างอิงจากการศึกษาวิจัยแบบหลายสถาบัน (รายละเอียดเพิ่มเติม : https://academic.oup.com/cid/advance-article/doi/10.1093/cid/ciac712/6692456?login=false) จำนวน 40 แห่งในทวีปอเมริกาเหนือ จำนวน 3 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก และบราซิล มีอาสาสมัครในโครงการวิจัยจำนวน 1,187 คน (เป็นผู้ป่วยอ้วนร้อยละ 70 ผู้ป่วยสูงอายุร้อยละ 15) ซึ่งเป็นการใช้ยาฟาร์วิพิราเวียร์เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม


อย่างไรก็ตามการศึกษานี้ได้ใช้ยาฟาร์วิพิราเวียร์ โดยมิได้มีการปรับขนาดยาตามน้ำหนักตัวผู้ป่วย ผู้ป่วยเกือบทุกรายได้รับยาประมาณวันที่ 3 ภายหลังเริ่มมีอาการ ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยเคยได้รับวัคซีนหรือเคยป่วยเป็นโควิด 19 มาก่อน รวมถึงการประเมินความรุนแรงของผู้ป่วยด้วยเกณฑ์ที่แตกต่างกับที่ใช้ในประเทศไทย 

 

นอกจากนี้ การรายงานผลลัพธ์การรักษาทำโดยผู้ป่วยเป็นผู้รายงานเองผ่านระบบโทรศัพท์ ซึ่งมิได้เป็นการวัดด้วยเครื่องมือเฉพาะโดยบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งอาจส่งผลต่อการวัดประสิทธิผลของยาฟาร์วิพิราเวียร์ได้

ฟาวิพิราเวียร์ ได้รับการรับรองในการใช้รักษาโควิด จากกระทรวงสาธารณสุข

ในส่วนของประเทศไทย ได้มีการศึกษาเปรียบเทียบการใช้ ยาฟาร์วิพิราเวียร์ เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม (รายละเอียดเพิ่มเติม : https://www.tandfonline.com/doi/full/10.1080/22221751.2022.2117092) โดยมีผู้ป่วยโควิด ทั้งหมดจำนวน 93 คนในโรงพยาบาล 3 แห่ง (ทุกคนอายุน้อยกว่า 60 ปี ไม่มีโรคประจำตัว เป็นผู้ป่วยที่อ้วนร้อยละ 25) 

 

ผู้ป่วยครึ่งหนึ่ง ได้รับ ฟาร์วิพิราเวียร์ ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มมีอาการโดยไม่มีผู้ที่เคยเป็นโควิด 19 และ/หรือได้รับวัคซีนมาก่อน ทุกคนมีอาการเล็กน้อยหรือปานกลาง ไม่มีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงในโครงการวิจัย


ผู้ป่วยได้รับการรักษาและติดตามอาการในโรงพยาบาล รวมถึงการวัดประสิทธิผลของยาฟาร์วิพิราเวียร์โดยด้วยระบบ NEWS (ประกอบไปด้วยอัตราการหายใจ ความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด การให้ออกซิเจน อุณหภูมิ ความดันซิสโตลิก อัตราการเต้นของหัวใจ ระดับความรู้สึกตัว) ซึ่งต้องประเมินโดยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น ไม่ใช้การประเมินตามความรู้สึกของผู้ป่วยเป็นเกณฑ์วัด


ผลที่ได้รับพบว่า ยาฟาร์วิพิราเวียร์ทำให้อาการรุนแรงของการประเมินด้วย NEWS ของผู้ป่วยโควิด 19 ดีขึ้นได้เร็วกว่ากลุ่มควบคุมอย่างชัดเจน (ครึ่งหนึ่งดีขึ้นใน 2 วันเมื่อได้รับยา เปรียบเทียบกับ 14 วันในกลุ่มควบคุม)

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์

ผลการศึกษาทั้งสองยังพบว่า ยาฟาร์วิพิราเวียร์ มิได้ช่วยลดปริมาณไวรัสลง หรือทำให้ไวรัสหายไปได้เร็วขึ้นแต่อย่างใด และไม่สามารถเห็นประสิทธิผลเมื่อประเมินอาการจากความรู้สึกผู้ป่วย เช่น อาการอ่อนเพลีย ไอ รวมถึงพบว่ายาฟาร์วิพิราเวียร์มีความปลอดภัยแม้จะพบระดับกรดยูริคในเลือดสูงขึ้นแบบไม่มีอาการก็ตาม

 

นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เราไม่สามารถเปรียบเทียบประสิทธิผลของยาฟาร์วิพิราเวียร์จากสองการศึกษานี้ได้ เนื่องจากรายละเอียดและวิธีการศึกษามีความแตกต่างกัน 


การศึกษาในทวีปอเมริกาแสดงให้เห็นว่าการเริ่มให้ยาช้าในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง มีอาการรุนแรง และมีน้ำหนักมากโดยไม่มีการปรับขนาดยา อาจมีผลทำให้การรักษาไม่ได้ผลหรือเป็นเพราะการประเมินผลซึ่งส่วนหนึ่งได้จากความรู้สึกอาการของผู้ป่วย อาจทำให้ผลการศึกษาไม่ตรงกัน

ฟาวิพิราเวียร์

อย่างไรก็ตามข้อมูลจากการศึกษาในประเทศไทยพบว่า ยาฟาร์วิพิราเวียร์ทำให้ผู้ป่วยโควิด ที่มีความเสี่ยงต่ำที่ไม่รุนแรงมีอาการดีขึ้นได้เร็วขึ้น แต่การศึกษาในประเทศไทยไม่มีข้อมูลประสิทธิผลของยาฟาร์วิพิราเวียร์ ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีปอดบวมหรือลดการเสียชีวิต

 

" กรมการแพทย์ ยินดีรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้ ความรู้เชิงประจักษ์ที่มีมากขึ้นจากการศึกษาจะช่วยในการปรับแนวทางการรักษาให้เหมาะสมเพื่อให้ผู้ป่วยโควิด มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป "  นพ.สมศักดิ์ ระบุในตอนท้าย

ฟาวิพิราเวียร์ ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. เมื่อสิงหาคม 2564