svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"เรืองไกร" ร้องศาล รธน. สอบ "มีชัย" แจงปม "8ปีนายก" เบิกความเท็จ หรือไม่

11 กันยายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"เรืองไกร" ส่งคำร้องศาลรัฐธรรมนูญ จี้เอาผิด "มีชัย ฤชุพันธุ์" อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เบิกความเท็จต่อศาลผิดตามประมวลกม.อาญา หรือไม่ หลังพบบันทึกรายงานการประชุมกรธ.ครั้งที่ 500-501/61 ขัดแย้งกัน

 

เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2565 "นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ" เปิดเผยว่า กรณีปรากฏข่าวความเห็นของประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (นายมีชัย ฤชุพันธุ์) ที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 3 แผ่น  โดยมีความเห็นว่า 


"โดยผลของมาตรา 264 ดังกล่าว คณะรัฐมนตรีรวมทั้งนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่เฉพาะในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จึงเป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ใช้บังคับ คือ วันที่ 6 เมษายน 2560"

 

  "เรืองไกร" ร้องศาล รธน. สอบ "มีชัย" แจงปม "8ปีนายก" เบิกความเท็จ หรือไม่

 

"นายเรืองไกร" กล่าวว่า "นายมีชัย" ยังได้ระบุความเห็นไว้ด้วยว่า "อนึ่ง สำหรับรายงานการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 500 วันศุกร์ที่ 7 กันยายน 2561 ในส่วนที่เกี่ยวกับคำกล่าวของข้าพเจ้านั้น ขอเรียนว่า เป็นการตรวจรายงานที่ไม่ครบถ้วน เป็นการสรุปตามความเข้าใจของผู้จด คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ยังมิได้ตรวจรับรองรายงานการประชุมนั้น เพราะเป็นการประชุมครั้งสุดท้าย และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ประกาศสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 12 กันยายน 2561 ความไม่ครบถ้วนดังกล่าวอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้..."

 

"นายเรืองไกร" กล่าวต่อว่า เมื่อไปตรวจสอบบันทึกประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 500 วันศุกร์ที่ 7 กันยายน 2561 พบว่า นายมีชัย เคยให้ความเห็นต่อกรณีดังกล่าวไว้ดังนี้


"ประธานกรรมการ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาบทเฉพาะกาลในมาตรา 264 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ และให้นำความในมาตรา 263 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยโดยอนุโลม"

 

การบัญญัติในลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า แม้จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับก็สามารถนับรวมระยะเวลาดังกล่าวรวมกับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ ซึ่งเมื่อนับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องมีระยะเวลาไม่เกินแปดปี"


"นายเรืองไกร" กล่าวตามมาว่า เมื่อไปตรวจสอบบันทึกประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 501 วันศุกร์ที่ 11 กันยายน 2561 พบว่า ระเบียบวาระที่ 2 มีการรับรองบันทึกการประชุมครั้งที่ 500 โดยไม่มีการแก้ไข ไปแล้วด้วย

 
สรุปว่า ความเห็นของนายมีชัย จำนวน 3 แผ่น ในฐานะประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จึงไม่สอดคล้องต้องกันบันทึกครั้งที่ 500 อย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ 

 

"นายมีชัย" เคยแสดงความเห็นในบันทึกการประชุมครั้งที่ 500 ว่า "...แม้จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับก็สามารถนับรวมระยะเวลาดังกล่าวรวมกับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ ซึ่งเมื่อนับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องมีระยะเวลาไม่เกินแปดปี"

 
แต่"นายมีชัย" กลับมาแสดงความเห็นในภายหลังต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า "โดยผลของมาตรา 264 ดังกล่าว คณะรัฐมนตรีรวมทั้งนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่เฉพาะในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จึงเป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ใช้บังคับ คือ วันที่ 6 เมษายน 2560"


"นายเรืองไกร" กล่าวสรุปว่า "นายมีชัย" ในฐานะประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ควรถือเป็นพยานบุคคลหรือพยานผู้เชี่ยวชาญตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 และคำเบิกความดังกล่าวควรเป็นข้อสำคัญในคดี ดังนั้น แต่คำเบิกความของนายมีชัย กลับไม่สอดคล้องต้องกันกับบันทึกการประชุมของ กรธ.  ครั้งที่ 500 และ 501 กรณีจึงมีเหตุอันควรขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบคำเบิกความดังกล่าว เข้าข่ายเป็นการเบิกความเท็จซึ่งเป็นข้อสำคัญในคดีตามความในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 หรือไม่ และคำเบิกความดังกล่าว ควรตกไป หรือไม่


โดยในวันนี้ ได้ส่งหนังสือไปถึงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตรวจสอบต่อไปแล้วทางไปรษณีย์ EMS

 

สำหรับประเด็นการ "เบิกความเท็จ" ตามที่นายเรืองไกร ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตรวจสอบการส่งความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ว่าเป็นการเบิกความเท็จ และอ้างอิงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 นั้น

 

จากการตรวจสอบเพิ่มเติมของ "เนชั่นทีวี" พบว่า ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 ไม่มีการบัญญัติเกี่ยวกับการเบิกความอันเป็นเท็จต่อศาลเอาไว้ 

 

แต่นายเรืองไกรอ้างอิงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคแรก ที่บัญญัติว่า ผู้ใดเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล ถ้าความเท็จนั้นเป็นข้อสําคัญในคดี ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําท้ังปรับ 

 

อย่างไรก็ดี จากการสอบถามผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ได้ข้อมูลว่า หากกฎหมายวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีบัญญัติเรื่องนี้ไว้ ก็น่าจะไม่เป็นความผิด ยกตัวอย่าง คดีแพ่ง ถ้าฟ้องเท็จ ไม่เป็นความผิด แต่คดีอาญา ฟ้องเท็จ เป็นความผิด เพราะมีกฎหมายบัญญัติเอาไว้  

 

ส่วนประมวลกฎหมายกฎหมายอาญา มาตรา 177 บัญญัติเอาไว้ว่าต้องเป็นการ "เบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล" และ "ความเท็จนั้นต้องเป็นข้อสำคัญในคดี" ด้วย ซึ่งความหมายของคำว่า “เบิกความ” คือการให้การต่อหน้าศาล ส่วน “คำให้การ” คือเขียนเป็นเอกสารแล้วยื่นต่อศาล 

 

กรณีของ"นายมีชัย" ไม่ได้เบิกความต่อศาล เป็นเพียงการส่ง “คำให้การ” เป็นเอกสาร จึงไม่เข้าข่ายเป็นความผิดตามประมวลกหมายอาญา มาตรา 177 เพราะกฎหมายไม่ได้บัญญัติเอาไว้ และการเอาผิดทางอาญา ต้องตีความกฎหมายอย่างเคร่งครัดเท่านั้น ที่สำคัญกระบวนวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นระบบไต่สวน ศาลสามารถแสวงหาข้อเท็จจริงได้เอง เพื่อนำไปชั่งน้ำหนักก่อนวินิจฉัยคดี 

 

มีรายงานว่า นายมีชัย เองก็เป็น "กูรูกฎหมาย" ระดับประเทศ จึงไม่น่าจะพลาดในเรื่องเล็กๆ แบบนี้

 

logoline