svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

กรมชลประทาน ปรับลดการปล่อยน้ำ"เขื่อนเจ้าพระยา" ลดผลกระทบท่วมท้ายเขื่อน

03 กันยายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรมชลประทาน ปรับลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เหลือ 1,650 - 1,750 ลบ.ม./วินาที ให้สอดคล้องกับสภาวะฝนที่ตกทางตอนบน ลดผลกระทบน้ำท่วมท้ายเขื่อน

3 กันยายน 2565 ลดการปล่อยน้ำ เขื่อนเข้าพระยา โดย กรมชลประทาน แจ้งสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา เมื่อเวลา 06.00 น. วันนี้ (3 ก.ย. 65) ปริมาณน้ำที่สถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,718 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 3.97 เมตร แนวโน้มทรงตัวลดลงเล็กน้อย มีการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ 1,769 ลบ.ม./วินาที 

 

เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความสมดุลสำหรับการบริหารจัดการน้ำ ในเขื่อนเจ้าพระยา ให้สอดคล้องกับสภาพน้ำฝน-น้ำท่า และการเพาะปลูกข้าวนาปีในพื้นที่ลุ่มต่ำที่อยู่ระหว่างการเก็บเกี่ยวผลผลิต รวมทั้งลดผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ จึงได้ปรับควบคุมระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมสำหรับรองรับน้ำเหนือในช่วงต่อจากนี้ไป พร้อมกับการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาปรับลดลงอยู่ระหว่าง 1,650 - 1,750 ลบ.ม./วินาที เริ่มตั้งแต่เวลา 09.00 น. ของวันนี้ (3 ก.ย. 65)
 

กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ให้สอดคล้องกับสภาวะฝนที่ตกในพื้นที่ตอนบนและตอนล่างให้มีความสัมพันธ์กัน พร้อมกับเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน จึงขอให้ประชาชนติดตามและเฝ้าระวังสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด จนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝนประมาณปลายเดือนตุลาคมนี้ 

 

ขณะที่ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) รายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 3 กันยายน 2565 ดังนี้

1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ

  • 1.1 ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 34/2565 ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ แจ้งเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขัง และอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมาก ในช่วงวันที่ 31 สิงหาคม – 10 กันยายน 2565 มีพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำระดับน้ำท่วมขังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.30 – 0.50 เมตร ได้แก่ ลุ่มน้ำชี ลำน้ำพรมและลำน้ำเชิญ บริเวณจังหวัดชัยภูมิ แม่น้ำชีและลำน้ำพอง บริเวณจังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ยโสธร และร้อยเอ็ด ลำน้ำยัง บริเวณจังหวัดกาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด ลุ่มน้ำมูล แม่น้ำมูล บริเวณจังหวัดนครราชสีมา ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ลำโดมใหญ่ บริเวณจังหวัดอุบลราชธานี และลำเซบก บริเวณจังหวัดอุบลราชธานี และเฝ้าระวังแหล่งน้ำและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำมากเกินเกณฑ์ควบคุม จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ อ่างฯ แม่งัดสมบูรณ์ชล แควน้อยบำรุงแดน น้ำพุง อุบลรัตน์ ขุนด่านปราการชล และนฤบดินทรจินดา รวมทั้งอ่างฯ ขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำ ทั่วประเทศ

 

  • 1.2 ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 35/2565 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ แจ้งเฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา จากการคาดการณ์จะมีฝนตกหนัก ในช่วงวันที่ 3 – 8 กันยายน 2565 บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ประเมินสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา จากฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำจังหวัดนครสวรรค์ (C.2) อยู่ในเกณฑ์ 2,000 - 2,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ 1,800 – 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 0.40 – 0.50 เมตร ในช่วงวันที่ 1 - 10 กันยายน 2565 บริเวณชุมชนพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ คลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร

 

  • 1.3 ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 36/2565 ลงวันที่ 2 กันยายน 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ แจ้งเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมขัง ในช่วงวันที่ 4 – 10 กันยายน 2565 มีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ บริเวณภาคเหนือ จังหวัดน่าน ตาก และอุทัยธานี ภาคตะวันออก จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคกลาง จังหวัดกาญจนบุรี ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี และนครปฐม ภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต

 

2. สถานการณ์น้ำท่วม

  • จากสถานการณ์ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบนเข้าสู่พายุโซนร้อน “หมาอ๊อน” (MA-ON) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก และปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลัก ลำน้ำสาขามีปริมาณมากในบริเวณ ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล รวมถึงการระบายน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา 1,500 – 1,800 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง น้ำล้นตลิ่ง

ปัจจุบันมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 16 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตาก อุดรธานี ขอนแก่น ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร อุบลราชธานี บุรีรัมย์ ระยอง สระบุรี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สุพรรณบุรี และภูเก็ต

กรมชลประทาน ปรับลดการปล่อยน้ำ"เขื่อนเจ้าพระยา" ลดผลกระทบท่วมท้ายเขื่อน

 

logoline