svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เผย สถานะ “กยศ.” ล่าสุด มียอดหนี้จำนวนเงินเท่าไหร่ ลูกหนี้จำนวนกี่ราย

19 สิงหาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิดสถานะ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) มียอดหนี้คงเหลือจำนวนเท่าไหร่ รวมแล้วสูงถึงกี่แสนล้านบาท ปัจจุบันมีลูกหนี้กี่คน ล้างหนี้ได้หรือไม่ หลังโซเชียลแห่ล่ารายชื่อ เพื่อขอยื่นแก้ไขกฎหมายยกเลิกหนี้ พร้อมฟังเหตุผลความจำเป็นของกองทุน กับรายงานข่าวชุดนี้

“กองทุนขอยืนยันว่า กองทุนจะเป็นหลักประกันให้ทุกครอบครัวว่าน้องๆ ที่ขาดแคลนสามารถกู้เงินได้ทุกคนโดยไม่มีข้อจำกัด เพื่อให้โอกาสทุกคนอย่างเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษา”

เผย สถานะ “กยศ.” ล่าสุด มียอดหนี้จำนวนเงินเท่าไหร่ ลูกหนี้จำนวนกี่ราย หลังจากเกิดประเด็นที่มีข้อโต้แย้งในสื่อสังคมออนไลน์ #ล้างหนี้กยศ. และการล่ารายชื่อเพื่อยื่นแก้ไขกฎหมายยกเลิกหนี้ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ล่าสุด กยศ. ได้ออกมาชี้แจงรายละเอียดการดำเนินงานของกองทุน โดยมีข้อมูลสำคัญในด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับกองทุน ดังนี้

 

 

 

รูปแบบการดำเนินงานของกองทุน กยศ.

 

กองทุนเป็นหน่วยงานของรัฐ ดำเนินการในลักษณะทุนหมุนเวียนที่ไม่ได้มีการแสวงหาผลกำไร เพื่อให้โอกาสทางการศึกษากับนักเรียน นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์โดยการให้กู้ยืมเงินด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 1% ต่อปี และให้ระยะเวลาผ่อนชำระนานถึง 15 ปี 

 

 

 

เผย สถานะ “กยศ.” ล่าสุด มียอดหนี้จำนวนเงินเท่าไหร่ ลูกหนี้จำนวนกี่ราย

เช็กสถานะของกองทุน กยศ.

  • ปัจจุบัน มีผู้กู้ยืมได้รับโอกาสทางการศึกษาไปแล้ว 6,217,458 ราย คิดเป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 696,802 ล้านบาท 
  • กองทุนมีเงินหมุนเวียนจากการชำระคืนกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี 
  • ปัจจุบัน มีผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างชำระหนี้จำนวน 3,458,429 ราย คิดเป็นยอดหนี้คงเหลือจำนวน 337,857 ล้านบาท 

 

อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินงานจองกองทุน ซึ่งมีเงินหมุนเวียนจากการชำระคืนกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี ทำให้กองทุนมีเงินให้นักเรียน นักศึกษารุ่นน้องกู้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 เป็นต้นมา โดยในปีการศึกษา 2565 กองทุนได้เตรียมเงินกว่า 38,000 ล้านบาท เพื่อรองรับผู้กู้ยืมจำนวนกว่า 600,000 ราย 

แนวทางการแก้ปัญหาต้องทำอย่างไร

กองทุน กยศ. แจ้งว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎหมายให้มีความผ่อนปรนและช่วยเหลือลดภาระของผู้กู้ยืม โดยจะมีการปรับโครงสร้างหนี้ การแปลงหนี้ เพื่อขยายระยะเวลาในการผ่อนชำระและลดอัตราเบี้ยปรับให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น 

ขณะนี้ กองทุนได้ขยายระยะเวลามาตรการลดหย่อนหนี้ช่วยเหลือผู้กู้ยืมต่อเนื่องจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ดังนี้ 

  • ลดอัตราการคิดเบี้ยปรับเหลือ 0.5% ต่อปี สำหรับผู้กู้ยืมที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี 
  • ลดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเหลือ 0.01% ต่อปี สำหรับผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืนกองทุนและไม่เคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ 
  • ลดเงินต้น 5% สำหรับผู้กู้ยืมที่ไม่เคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้และต้องการปิดบัญชีในคราวเดียว 
  • ลดเบี้ยปรับ 100% สำหรับผู้กู้ยืมทุกกลุ่มที่ชำระหนี้ปิดบัญชี 
  • ลดเบี้ยปรับ 80% สำหรับผู้กู้ยืมที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีที่ชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้มีสถานะปกติ (ไม่ค้างชำระ)

 

นอกจากนี้ กองทุนได้มีมาตรการชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดี ชะลอการบังคับคดีไว้ เว้นแต่คดีที่จะใกล้ขาดอายุความ และงดการขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้กู้ยืม และ/หรือผู้ค้ำประกันอีกด้วย 

 

ทางด้าน นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ยอมรับว่า ที่ผ่านมากองทุน กยศ. เป็นหน่วยงานที่ให้โอกาสและช่วยเหลือผู้กู้ยืมมาโดยตลอด ซึ่งการยกเลิกหนี้ กยศ. ไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหาการเข้าถึงการศึกษา นอกจากจะส่งผลกระทบต่องบประมาณแผ่นดินแล้ว 

 

ยังส่งผลต่อบรรทัดฐานของสังคมด้านความซื่อสัตย์สุจริต ความรับผิดชอบและวินัยทางการเงินของคนรุ่นใหม่ ที่จะเป็นอนาคตของประเทศ โดยหากยกเลิกหนี้ดังกล่าว จะทำให้คนรุ่นใหม่ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา

 

“กองทุนขอยืนยันว่า กองทุนจะเป็นหลักประกันให้ทุกครอบครัวว่าน้องๆ ที่ขาดแคลนสามารถกู้เงินได้ทุกคนโดยไม่มีข้อจำกัด เพื่อให้โอกาสทุกคนอย่างเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษา”นายชัยณรงค์ กล่าวทิ้งท้าย

 

ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า นายกฯ ประยุทธ์  ห่วง "หนี้กยศ." สั่งเร่งหามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ลดภาระหนี้ ลดความเสี่ยงถูกดำเนินคดี และผลกระทบผู้ค้ำประกัน เร่งแก้กฎหมายให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากกระแสข่าวเกี่ยวกับการรวบรวมรายชื่อผ่านเว็บไซต์ “ศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการ” 10,000 รายชื่อ เพื่อยื่นแก้ไขกฎหมายกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยให้รัฐบาลเป็นลูกหนี้แทนผู้กู้ เพื่อให้ยกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) นั้น 

 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2565 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ชี้แจงว่า

“การยกหนี้ กยศ. ไม่ใช่การแก้ปัญหาหนี้ กยศ. แต่จะทำให้ผู้กู้ขาดวินัยทางการเงิน ซึ่งจะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต แต่รัฐบาลเข้าใจปัญหาของหนี้ กยศ. ตามกฎหมายปัจจุบัน จึงได้เสนอแก้ไขให้การชำระหนี้ กยศ. ยังคงเป็นไปตามหลักเป็นหนี้ต้องใช้หนี้แต่ผ่อนปรนการชำระหนี้ กยศ. ให้สอดคล้องกับรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวอยู่ในชั้นการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร”

 

โดยการชี้แจงดังกล่าวของ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาหนี้กยศ. 

ที่ผ่านมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยต่อประเด็นนี้ และได้สั่งการเร่งให้การช่วยเหลือลูกหนี้ กยศ. อย่างเต็มที่ครอบคลุมการลดภาระหนี้ ลดความเสี่ยงถูกดำเนินคดี แก้กฎหมายให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น ผ่านกลไกต่าง ๆ เช่น งานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ ที่กองทุน กยศ. ร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม จัดขึ้นทั่วประเทศเพื่อเป็นการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของผู้กู้ยืมเงินที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ 

 

รวมไปถึง การขยายระยะเวลามาตรการลดหย่อนหนี้ เพื่อจูงใจให้ผู้กู้ยืมมาชำระเงินคืน จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2565 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ภายใต้เงื่อนไขของมาตรการ และการที่คณะรัฐมนตรีเสนอร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 ให้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษามีอำนาจในการปลดภาระผู้ค้ำประกัน เมื่อผู้กู้ยืมได้ผ่อนชำระเงินต้นมาแล้วร้อยละ 25 ของเงินต้นที่ค้างชำระ รวมถึงเสนอการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยและดอกเบี้ยผิดนัดให้เหมาะสม โดยขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติฯ อยู่ในชั้นการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร 

เผย สถานะ “กยศ.” ล่าสุด มียอดหนี้จำนวนเงินเท่าไหร่ ลูกหนี้จำนวนกี่ราย “นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลมีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาหนี้ กยศ. มาโดยตลอด นอกจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ลดผลกระทบต่อผู้ค้ำประกัน และเสนอร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาฯ ที่มีเป้าหมายเพื่อปฏิรูปโครงสร้างสินเชื่อ ช่วยเหลือผู้กู้ที่เดือดร้อน สร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้กู้และผู้ค้ำประกัน ช่วยให้การชำระหนี้มีความเป็นธรรม และสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้มากยิ่งขึ้นแล้ว ประเด็นสำคัญที่นายกรัฐมนตรีห่วงกังวลคือ โอกาสในการเข้าถึงเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาและรองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อเสริมสร้างคุณภาพของทรัพยากรบุคคล เพิ่มโอกาสทางการแข่งขันของไทยให้ดียิ่งขึ้นต่อไป” นายอนุชา กล่าว 

เผย สถานะ “กยศ.” ล่าสุด มียอดหนี้จำนวนเงินเท่าไหร่ ลูกหนี้จำนวนกี่ราย

 

 

logoline