svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

อาเซียน สรุปผลการทำงานรอบ 1 ปี ก่อนชงAEM ก.ย.นี้ เร่งฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด

09 สิงหาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อาเซียน สรุปผลการทำงานรอบ 1 ปี ก่อนชง AEM ก.ย. นี้ พร้อมเดินหน้าแผนความร่วมมือคู่เจรจา เร่งฟื้นเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด

นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม) ให้เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (Senior Economic Officials Meeting: SEOM) ครั้งที่ 3/53 ระหว่างวันที่ 1 – 2 สิงหาคม ที่ผ่านมา ณ จังหวัดเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยเป็นการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสรอบสุดท้ายของปี เพื่อติดตามการดำเนินงานและเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาค ก่อนเสนอผลการทำงานในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา ต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนในเดือน ก.ย.นี้ พร้อมเตรียมการสำหรับการประชุมร่วมกับประเทศนอกภูมิภาค ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รัสเซีย และสหราชอาณาจักร รวม 11 การประชุม 

อาเซียน สรุปผลการทำงานรอบ 1 ปี ก่อนชงAEM ก.ย.นี้ เร่งฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด

นางสาวโชติมา กล่าวว่า ที่ประชุม SEOM ได้ติดตามการดำเนินงานตามแผนงานด้านเศรษฐกิจสำคัญประจำปีนี้ 19 ประเด็น ภายใต้ยุทธศาสตร์ 4 ด้าน ได้แก่ (1) การส่งเสริมความเชื่อมโยงทางดิจิทัล วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (2) การลดช่องว่างการพัฒนาเพื่อความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน (3) การส่งเสริมการบูรณาการ การมีส่วนร่วม ความยืดหยุ่น และความสามารถในการแข่งขันที่มากขึ้นของอาเซียน และ (4) การเป็นส่วนสำคัญของประชาคมโลกเพื่อการเติบโตและการพัฒนา โดยอาเซียนได้ผลักดันและมีความคืบหน้าในหลายประเด็น อาทิ การประกาศเริ่มการเจรจายกระดับความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน และการประกาศการเจรจากรอบความตกลงว่าด้วยการแข่งขันของอาเซียน ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญสู่การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในเชิงลึก และเกิดการขยายตัวทางการค้าระหว่างกันมากขึ้น 


     
นางสาวโชติมา เสริมว่า สำหรับการฟื้นฟูภูมิภาคจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ประชุมได้เร่งหาข้อสรุปการพิจารณาขยายบัญชีรายการสินค้าจำเป็น (essential goods) ที่ไม่ใช้ข้อจำกัดการส่งออกและการนำเข้า ให้เสร็จก่อนการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อมุ่งรักษาความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานระหว่างกันให้เข้มแข็ง นอกจากนี้ ได้หารือถึงการพัฒนาข้อริเริ่มโครงการพื้นฐานอาเซียน (ASEAN Project-Based Initiatives) ซึ่งเป็นแนวคิดการสร้างความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมของอาเซียน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและการเติบโตของโครงข่ายการผลิต ความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานภายในภูมิภาค และเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยข้อริเริ่มดังกล่าว จะช่วยยกระดับความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนในอาเซียน บรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 และคำนึงถึงความสอดคล้องและเชื่อมโยงกับแนวโน้มของอุตสาหกรรมในอนาคต อาทิ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IR) เศรษฐกิจหมุนเวียน และการพัฒนาอย่างยั่งยืน 

 

อาเซียน สรุปผลการทำงานรอบ 1 ปี ก่อนชงAEM ก.ย.นี้ เร่งฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด

นอกจากนี้ อาเซียนได้เตรียมเสนอเอกสารผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจของอาเซียนต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน อาทิ แผนปฏิบัติการกรอบเศรษฐกิจหมุนเวียน สำหรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งจะเป็นแนวทางการดำเนินการให้อาเซียนนำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้อย่างเป็นขั้นตอน เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และการจัดทำกรอบความตกลงว่าด้วยการแข่งขันของอาเซียน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เป็นธรรม ส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าในตลาดอาเซียนผ่านความร่วมมือและการประสานงานด้านการแข่งขันระหว่างกัน ส่งเสริมขีดความสามารถของอาเซียนในการรับมือกับการจำกัดการแข่งขันและความท้าทายในอนาคต และส่งเสริมให้เกิดการบูรณาการทางเศรษฐกิจของอาเซียนในเชิงลึกมากขึ้น

 

นางสาวโชติมา เพิ่มเติมว่า อาเซียนยังได้ให้ความสำคัญในการขยายความร่วมมือกับประเทศนอกภูมิภาค โดยการประชุมหารือระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาในแต่ละกรอบ นอกเหนือจากการหารือแนวทางการอำนวยความสะดวกทางการค้าและขยายการลงทุน ได้มีการจัดทำแผนความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน โดยเฉพาะการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งใช้แนวทางตามกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน นอกจากนี้ ได้หารือการขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของติมอร์-เลสเต ซึ่งเมื่อปลายเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ได้มีการจัดคณะเยือนติมอร์-เลสเต เพื่อรับทราบแผนการพัฒนาประเทศในภาคเศรษฐกิจสำคัญของติมอร์-เลสเต โดยจะมีการจัดทำเอกสารประเมินความพร้อมของติมอร์-เลสเต เพื่อเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนในเดือน ก.ย.นี้   

 

นอกจากนี้ อาเซียนจะเตรียมเสนอเอกสารผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจร่วมกับประเทศนอกภูมิภาค อาทิ เอกสารขอบเขตการทบทวนความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน-อินเดีย ซึ่งเป็นการยกระดับความตกลงที่มีอยู่ให้ทันสมัยและสอดคล้องกับรูปแบบการค้าในปัจจุบัน รวมถึงบรรจุประเด็นการค้าใหม่ๆ อาทิ การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน และการคุ้มครองผู้บริโภค ตลอดจนแผนงานความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาต่างๆ อาทิ ประเทศบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) สหรัฐอเมริกา จีน สหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร ซึ่งจะช่วยกระชับความสัมพันธ์และเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาค

logoline