svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ห้องเสื้อกัมพูชาขอโทษ นำงานออกแบบลายไทย "ราหูอมจันทร์" ไปใช้ไม่ขออนุญาต

30 กรกฎาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สยบดราม่า ห้องเสื้อกัมพูชายอมขอโทษ หลังนำงานออกแบบลายไทย "ราหูอมจันทร์" ของนักออกแบบไทย ไปใช้ในการประกวดมิสยูนิเวิร์สของประเทศกัมพูชาโดยไม่ขออนุญาต

เป็นประเด็นดราม่ากันบ่อยครั้ง ระหว่างชาวเน็ตบ้านเรากับชาวเน็ตเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา โดยเฉพาะปมที่ต่างอ้างตัวเคลมเป็นเจ้าของสิ่งแทนทางวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่เมื่อไม่นานมานี้ ก็เพิ่งมีดราม่าเรื่อง “ดอกลำดวน” จากการที่เพื่อนบ้านของเราท้วงว่า ภาพยนตร์ “บุพเพสันนิวาส 2” ใช้ดอกไม้ประจำชาติของเขาโปรโมท ก่อนสุดท้ายจะพบว่าเป็นพืชประจำถิ่นของทั้งสองชาติ (อ่านข่าว)

 

ล่าสุด มีเรื่องดราม่าเกิดขึ้นอีกแล้ว จากกรณีเมื่อช่วงเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ในงานประกวดมิสยูนิเวิร์สของประเทศกัมพูชา ปรากฎว่ามีห้องเสื้อของกัมพูชาแห่งหนึ่งนำผลงาน “ราหูอมจันทร์” ที่ออกแบบโดย นายฐิติ เกตุธรรม ศิลปินคนไทย ไปใช้บนชุดของผู้เข้าประกวดรายหนึ่งโดยไม่ได้รับอนุญาต

 

ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นทางเจ้าของผลงานได้เรียกร้องให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการช่วยเหลือ ประสานส่งหลักฐานไปยังประเทศกัมพูชา พร้อมกับเรียกร้องให้ยุติการละเมิดลิขสิทธิ์ในทันที
 

 

ผลงาน “ราหูอมจันทร์” ที่ออกแบบโดยนายฐิติ เกตุธรรม ศิลปินคนไทย

และมีรายงานว่า ตอนนี้ทางฝั่งกัมพูชา ได้ตอบรับกลับมาแล้วผ่านทางกระทรวงพาณิชย์  โดยนายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ ระบุว่า กรณีดังกล่าว ทางเอกชนกัมพูชาได้ออกแถลงการณ์ขอโทษอย่างเป็นทางการ พร้อมยุติการละเมิดลิขสิทธิ์และระงับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับศิลปินไทยแล้ว และให้คำมั่นยุติทุกการกระทำที่เข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์ และสร้างความเสียหายให้แก่ศิลปินไทย

 

ด้านนายฐิติ เกตุธรรม ศิลปินเจ้าของผลงาน "ราหูอมจันทร์" กล่าวขอบคุณกรมทรัพย์สินทางปัญญา ที่ให้ความช่วยเหลือและดำเนินการเชิงรุก จนสามารถเรียกร้องสิทธิให้กับศิลปินไทย และยุติปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศกัมพูชาได้อย่างรวดเร็ว อันจะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยให้เติบโตอย่างเข้มแข็งได้อย่างแน่นอน
 

 

แถลงการณ์ขอโทษจากห้องเสื้อประเทศกัมพูชา

ขณะที่ นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมทรัพย์สินทางปัญญาได้สร้างความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา กับสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญ เพื่อให้ความช่วยเหลือและแก้ปัญหากรณีคนไทยถูกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในต่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งให้บริการด้านทรัพย์สินทางปัญญาอย่างครบวงจร

 

เพื่อให้นักธุรกิจภาคเอกชนเข้าถึงองค์ความรู้ในการใช้ประโยชน์ทรัพย์สินทางปัญญาในเชิงพาณิชย์ ผ่านศูนย์ให้คำปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IPAC) การจัดทำระบบโชว์รูมลิขสิทธิ์ออนไลน์ (Copyright Publish) ช่องทางสร้างรายได้จากงานลิขสิทธิ์ และบริการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านทรัพย์สินทางปัญญาออนไลน์ ทางเลือกในการยุติข้อขัดแย้งโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการศาล เป็นต้น โดยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน 1368

 

 

ผลงาน “ราหูอมจันทร์” ที่ออกแบบโดยนายฐิติ เกตุธรรม ศิลปินคนไทย

logoline