svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ภูมิภาค

“ป.ป.ช.” ลงตรวจ “ตลาดปากเมงพลาซ่า” ผลาญงบกว่า 24 ล้าน สร้างทิ้งร้าง

28 กรกฎาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

“ป.ป.ช. ประจำจังหวดตรัง" ลงตรวจ “ตลาดปากเมงพลาซ่า ใช้งบสร้างกว่า 24 ล้าน แต่สภาพถูกทิ้งร้างทรุดโทรมไร้การเหลียวแลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

วันนี้ (28 ก.ค.65) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดตรัง นำโดย นายราม วสุธนภิญโญ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดตรัง ร่วมกับชมรมตรังต้านโกง เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม นายสมนึก เปลี่ยนเภทย์ นายก อบต. ไม้ฝาด อ.สิเกา ลงพื้นที่ตรวจสอบตลาดปากเมงพลาซ่า บริเวณชายหาดปากเมง เขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม หลังจากประชาชนได้ร้องเรียนตรวจสอบถึงความไม่คุ้มค่าและการละเลงงบประมาณจำนวนกว่า 24 ล้านกว่าบาท แต่ไม่สามารถดำเนินการบริหารจัดการให้ลุล่วงได้ประสบความล้มเหลว จึงถูกปล่อยให้ทิ้งร้างชำรุดทรุดโทรมไร้การเหลียวแลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

“ป.ป.ช.” ลงตรวจ “ตลาดปากเมงพลาซ่า”  ผลาญงบกว่า 24 ล้าน สร้างทิ้งร้าง

 

จากกรณีที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ทำการก่อสร้างตลาดปากเมงพลาซ่า บริเวณชายหาดปากเมง เขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ตามโครงการ ‘ตลาดประชารัฐ พลาซ่า หาดปากเมง’ ถูกออกแบบและรับผิดชอบโดย อบต.ไม้ฝาด อ.สิเกา จ.ตรัง ขอสนับสนุนงบประมาณจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 2 ส่วน คือ โครงการก่อสร้างตัวอาคารพลาซ่า 6,833,000 บาท และส่วนอื่นๆ ภายในโครงการอีก 17,806,000 บาท ตรวจสอบพบว่าเฉพาะ "ป้ายโครงการ" ใช้งบประมาณไปกว่า 750,000 บาทหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ “ตลาดประชารัฐ พลาซ่า หาดปากเมง” ถูกส่งมอบให้กับอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เป็นผู้บริหารจัดการในฐานะเจ้าของพื้นที่ที่ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม สร้างเสร็จเมื่อเมษายน 2560 ใช้งบราว 6.9 ล้านบาท รายละเอียดงานประกอบไปด้วยการก่อสร้างอาคารป้อมยาม ห้องน้ำสาธารณะ ป้ายโครงการ กำแพงกันดินและงานระบบไฟฟ้า แต่หลังจากมีการเปิดใช้อย่างเป็นทางการไปแล้วระยะหนึ่ง ปรากฏว่ามีการเปิดขายของในอาคารเพียงช่วงสั้น ๆ แต่ก็เลิกไป ตัวอาคารจึงถูกปล่อยทิ้งมาจนถึงปัจจุบัน กลายเป็นอนุสรณ์สถานกลางอุทยานฯ

ปัจจุบันตลาดปากเมงพลาซ่ามีสภาพทรุดโทรมเนื่องจากไม่มีการใช้งาน โดยภายในสร้างเป็นห้อง ๆ เป็นโซนที่สามารถเดินเชื่อมต่อกันได้ เมื่อสำรวจพบว่าโครงสร้างที่ทำด้วยเหล็ก ประตูเหล็กม้วนแต่ละห้องเมื่อถูกละอองความเค็มจากน้ำทะเลที่พัดขึ้นมาจับตัวกัดกร่อนทำให้ขึ้นสนิมเกราะกรัง พื้นกระเบื้องปูทางเดินหลุดร่อน ส่วนบริเวณด้านหน้าอาคารริมถนนมีเพิงร้านค้าที่แม่ค้าพ่อค้านำมาวางไว้จำหน่ายอาหารในช่วงวันหยุด หรือช่วงเทศกาลเพื่อบริการนักท่องเที่ยว

 

“ป.ป.ช.” ลงตรวจ “ตลาดปากเมงพลาซ่า”  ผลาญงบกว่า 24 ล้าน สร้างทิ้งร้าง

นายสมนึก เปลี่ยนเภทย์ นายก อบต. ไม้ฝาด ให้ข้อมูลว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ให้ทาง อบต. หรือเทศบาลทำโครงการเพื่อของบประมาณมาสร้างตลาดชุมชน เพื่อจัดระเบียบร้านค้าแผงลอยที่บุกรุกพื้นที่เขตอุทยานฯ เพื่อได้มาอยู่จุดเดียวกัน เมื่อทาง อบต.ได้งบประมาณก็มาขออนุญาตทางอุทยานฯ แต่ทางระเบียบของอุทยานฯไม่ว่ารัฐหรือเอกชนที่ขออนุญาตใช้พื้นที่ของอุทยานฯ เมื่อสร้างเสร็จแล้วต้องส่งมอบให้ทางอุทยานฯดูแล ซึ่งตนก็ทราบระเบียบดี แต่มองว่าเป็นผลดีได้จัดระเบียบหาดปากเมงด้วยเพราะหลายคนเรียกสลัมปากเมง และที่สำคัญไม่สามารถไล่คนเหล่านี้ออกนอกพื้นที่ได้เพราะเขาอยู่กันมานานแล้ว ซึ่งได้ทำการขออนุญาตกับ ดร.มาโนชย์ วงศ์สุรีรัตน์ หัวหน้าอุทยานฯในขณะนั้น และต่อมา นายณรงค์ คงเอียดย้ายมาเป็นหัวหน้าอุทยานฯโดยทำหนังสือเร่งมาทาง อบต.ให้ทำการส่งมอบ แต่ก่อนที่จะส่งมอบมีการเปิดตลาดแล้ว โดยใช้งบ อบต. มาจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัย แม่บ้านรักษาความสะอาด ซึ่งเงื่อนไขของทาง อบต.ไม่ยุ่งยาก สามารถให้เช่าในราคาถูกได้

เพราะนโยบายจัดระเบียบร้านค้าไม่เน้นเรื่องรายได้ แต่ต้องติดกับกฎหมายคือต้องส่งมอบให้อุทยานฯ และทางอุทยานฯได้เข้ามาบริหารจัดการเอง ซึ่งตนมีการหารือรอบนอกหลายครั้งเพื่อหาแนวทางให้ตลาดดังกล่าวกลับมาเป็นของ อบต. โดย อบต. ทำเรื่องมาขอใช้ แต่ในทางกฎหมายของอุทยานฯนั้นทำไม่ได้ ซึ่งทางอุทยานฯต้องของบฯส่วนกลางมาบริหารกว่าจะได้งบฯมา ค่าใช้จ่ายในส่วนต่าง ๆ ก็ไม่เพียงพอ ซึ่งปัจจุบันนี้ทาง อบต.ได้เข้ามาช่วยเก็บขยะ รักษาความสะอาดให้กับทางอุทยานฯแบบฟรี ๆ เพราะอาศัยพึ่งแต่อุทยานฯก็แย่แน่ ๆ เมื่ออุทยานฯเข้ามาบริหารจัดการทาง อบต.ก็ไม่สามารถเข้ามายุ่งเกี่ยวได้ ทางอุทยานฯเข้ามาบริหารจัดการระยะหนึ่ง แต่ด้วยผลกระทบทางเศรษฐกิจ สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 ก็เจ้งยกเลิกไป

 

“ป.ป.ช.” ลงตรวจ “ตลาดปากเมงพลาซ่า”  ผลาญงบกว่า 24 ล้าน สร้างทิ้งร้าง

นายราม วสุธนภิญโญ ผู้อำนวยการ ป.ป.ช. ประจำจังหวัดตรัง กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ได้พูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่าเจอปัญหาในกฎระเบียบของอุทยานฯเอง ซึ่งสถานที่ดังกล่าวใช้เงินอุดหนุนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นนำมาก่อสร้างเพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับเรื่องที่ไม่ต้องการให้ประชาชนบุกรุกและต้องการจัดความเป็นระเบียบเรียบร้อยตลาดสินค้าชุมชนจึงสนับสนุนส่วนนี้มา แต่เนื่องจากว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ของอุทยานฯ การที่จะใช้พื้นที่ต้องขออนุญาต ซึ่งจากการตรวจสอบได้มีการขออนุญาตเรียบร้อย แต่ตามกฎระเบียบต้องส่งมอบให้อุทยานฯ แต่ทางอุทยานฯไม่มีความพร้อมในการบริหารจัดการจึงทำให้เกิดปัญหาการใช้ประโยชน์ ซึ่งในทิศทางของ ป.ป.ช. เอง ในเรื่องการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต้องเชิญหน่วยงานทางอุทยานฯมาพูดคุยเรื่องส่วนของท้องถิ่นหาทางออกว่าพอจะมีแนวทางหรือไม่ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าว เพราะอาคารหลังนี้เป็นงบประมาณที่เกิดจากภาษีของประชาชนที่ก่อสร้างไปแล้ว จึงจำเป็นต้องใช้สถานที่ดังกล่าวให้เป็นประโยชน์สูงสุดในอนาคต ซึ่งต้องมีการพูดคุยและดูระเบียบว่าอุทยานฯมีแนวทางแก้ไขได้หรือไม่ ซึ่งดูจากสภาพท้องถิ่นเขามีความพร้อมรับที่จะเข้ามาบริหารจัดการแต่ติดที่ข้อกฎหมายเท่านั้นเอง ทั้งนี้ยอมรับว่าการก่อสร้างทิ้งร้างใช้ไม่คุ้มค่าในจังหวัดตรังมีค่อนข้างจำนวนมาก ปัญหาส่วนหนึ่งมาจากการบริหารจัดการ แผน และวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร การที่จะขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ เหล่านี้ให้คืบหน้ายังด้อยอยู่ เช่น การขาดการวางแผนในการใช้งบประมาณ ขาดการบริหารจัดการในอนาคตว่าก่อสร้างแล้วจะทำอะไรต่อไป เป็นข้อด้อยที่เป็นอยู่

 

“ป.ป.ช.” ลงตรวจ “ตลาดปากเมงพลาซ่า”  ผลาญงบกว่า 24 ล้าน สร้างทิ้งร้าง

 

นายชัยวุฒิ สวัสดิรักษ์ ประธานชมรมตรังต้านโกง กล่าวว่า จากโครงการที่มีนิยามว่า สร้างไว้ก่อนค่อยแก้ไขทีหลัง ทำให้อาคารร้างใช้ไม่คุ้มค่านั้น จากสภาพพื้นที่ที่มาดูในวันนี้ เป็นอาคารที่เรียกว่าสร้างให้ชาวบ้านมาค้าขายสินค้ากับนักท่องเที่ยว แต่ประเด็นปัญหามันเกิดขึ้นกับงบประมาณของรัฐโดยกรมการปกครองส่วนท้องถิ่นให้มาแล้ว ปรากฏว่ามีปัญหาระเบียบของกฎหมายระหว่างหน่วยงาน อบต.เป็นผู้ของบฯ มาสร้าง 20 กว่าล้าน พอสร้างเสร็จยกให้กับทางอุทยานฯเป็นผู้ดูแล ปรากฏว่าทางอุทยานฯไม่มีงบฯที่จะเข้ามาดูแล ในขณะเดียวกันก็ไม่มีความสามารถเพียงพอในการบริหารจัดการให้อาคารเหล่านี้ใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ประกอบกับมาเจอปัญหาสถานการณ์โควิดก็เลยทำให้อาคารแห่งนี้ทิ้งร้างมาตลอด 5 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้านี้ก็แย่มาก่อนแล้ว พออุทยานฯเข้ามาบริหารมาเจอสถานการณ์โควิดก็เลยจบ เงิน 20 กว่าล้านจากงบประมาณที่เป็นภาษีอากรของประชาชน วันนี้ก็สูญเปล่า ก็อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาบูรณาการร่วมกันแก้ไข ซึ่งวันนี้ทางชมรมตรังต้านโกงได้รับร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนให้มาช่วยดูแลในส่วนนี้ กระตุ้นเตือนภาครัฐให้เข้ามาปรับปรุงแก้ไข อาจจะต้องไปแก้ถึงกฎระเบียบกฎกติกา หรือจะแก้ในลักษณะบูรณาการอะไรก็แล้วแต่ให้มีการใช้ประโยชน์จากอาคารนี้ให้คุ้มค่ากับงบประมาณที่นำมาใช้ ทั้งนี้จากที่ได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯก็จะมีปัญหาที่ค่อนข้างมาก เพราะอุทยานฯมีหน้าที่ที่จะปกป้องปกปักรักษาสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ เมื่อในพื้นที่ดังกล่าวมีการพัฒนาเพื่อการท่องเที่ยวซึ่งมันย้อนแย้งกับทางกฎหมายที่ทางอุทยานฯดูแลควบคุมที่ค่อนข้างชัดเจน

 

“ป.ป.ช.” ลงตรวจ “ตลาดปากเมงพลาซ่า”  ผลาญงบกว่า 24 ล้าน สร้างทิ้งร้าง

 

ฉะนั้นจะพัฒนาให้การท่องเที่ยวไปได้ก็ค่อนข้างลำบาก พ่อค้าแม่ค้าจะมาขายของให้กับนักท่องเที่ยวก็ไม่ได้ อาคารที่สร้างขึ้นมาก็ไม่สามารถใช้ประโยชน์ก็เป็นการสูญเปล่า ซึ่งก็ต้องฝากไปยังผู้บริหารระดับสูงของประเทศต้องเข้ามาแก้ไขปัญหานี้ให้ได้ เพราะไม่ใช่เฉพาะพื้นที่แห่งนี้ที่สูญเสียงบฯ 20 กว่าล้าน เรายังมีหลาย ๆพื้นที่ ที่เป็นส่วนของอุทยานฯหรือส่วนของทรัพยากรธรรมชาติ พวกป่าไม้ที่เข้มงวด แต่ในขณะเดียวกันพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับรัฐ ซึ่งรัฐก็อยากจะได้รายได้จากการท่องเที่ยว แต่ในขณะเดียวกันหน่วยงานรักษาปกป้องทรัพยากรก็พยายามปกป้องอย่างเข้มงวด ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันไปกันไม่ได้ ยกเว้นว่าเราจะมาคุยกันเพื่อแก้ปัญหานี้เพื่อให้ทั้งสองด้านลงตัวที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ไปได้ ทางอุทยานฯก็สามารถที่จะปกป้องทรัพยากรได้ บางส่วนก็ต้องยอมสูญเสียเพื่อให้มีการพัฒนาเพื่อให้การท่องเที่ยวมีการพัฒนาเพื่อนำรายได้เข้าสู่ประเทศ

 

 

logoline